มุมมองรัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์ในการเลือก ส.ส.
ข้อถกเถียงในประเด็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบในเชิงหลักการ ได้แก่ การเลือกตั้ง ส.ส. ว่าควรมีระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ หรือ เขตเดียวเบอร์เดียว จึงสะท้อนความเท่าเทียมและการเป็นตัวแทนประชาชนทั้งประเทศได้มากกว่ากัน
บทความนี้ ยกเว้นไม่กล่าวถึง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ โดยจะพิจารณาในขอบเขตของการเลือกตั้ง ส.ส. ในเขตพื้นที่เท่านั้น
มุมมองรัฐศาสตร์ในการเลือกผู้แทนฯ
การตัดสินใจว่าจะใช้วิธีการเลือกตั้ง ส.ส. แบบใดนั้น อยู่ที่การตอบคำถามว่า
เราต้องการให้ประชาชนทุกคน มีสิทธิเท่าเทียมกัน โดยเลือก ส.ส. จำนวนเท่ากัน?
หรือ เราต้องการให้ ส.ส. เป็นตัวแทนของกลุ่มคนในพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ย่อมมีขนาดแตกต่างกัน จำนวนประชากรไม่เท่ากัน แต่เลือกผู้แทนได้เท่ากัน?
แนวคิดประชาธิปไตยแบบปัจเจก (individualist democracy) หากเรายึดแนวคิดนี้ที่ให้ความสำคัญกับประชาชน 1 คน เท่ากับ 1 เสียงเท่าเทียมกัน รูปแบบการเลือกตั้งที่เหมาะสมตามแนวคิดนี้ จึงควรเป็นแบบ เขตเดียวคนเดียว โดยกำหนดให้แต่ละเขตมีสัดส่วนจำนวนประชากรที่เท่ากัน และประชาชนมีสิทธิเลือกได้ 1 คนเท่ากันทั่วประเทศ
แนวคิดประชาธิปไตยแบบตัวแทนกลุ่ม (group democracy) ที่ให้ความสำคัญกับ ldquo;กลุ่มคนrdquo; โดยถือว่าแต่ละกลุ่มที่อาจมีจำนวนประชากรไม่เท่ากัน แต่จะต้องมีตัวแทนเท่ากัน รูปแบบการอาจกำหนดขอบเขตพื้นที่เป็นหลัก เช่น ขอบเขตจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดให้ประชาชนเลือกผู้แทนได้จำนวนเท่ากัน
ก่อนปี พ.ศ.2540 การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ มีความลักลั่น ระหว่างแนวคิดทั้งสองนี้ เพราะแม้ว่าจะยึดขอบเขตจังหวัดเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกัน ในแต่ละเขตของจังหวัดนั้น ได้กำหนดสัดส่วนผู้แทนต่อจำนวนประชากรด้วย ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน ด้วยเหตุนี้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2540 สภาร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ได้พยายามค้นหารูปแบบการเลือกตั้งในฝันที่คาดว่าจะมีส่วนช่วยพัฒนาการเมืองไทยให้ดีขึ้น จึงกำหนดให้เขตเลือกตั้งมีขนาดเล็กลง เพื่อให้ ldquo;คนดีrdquo; สามารถชนะเลือกตั้งได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตัดสินใจเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ดีที่สุดได้ง่ายกว่าระบบเขตใหญ่ ซึ่งมี ส.ส.หลายคน เท่ากับยึดโยงตามแนวคิดประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับปัจเจก
สำหรับทัศนะส่วนตัวผม ยังไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งแบบ เขตเดียวคนเดียว อย่างเต็มที่นัก แม้ว่าจะถูกต้องตามหลักรัฐศาสตร์ แต่ในโลกยุคปัจจุบันให้ความสำคัญกับความเป็นสหวิทยาการและการมองแบบองค์รวม เพื่อให้เกิดความครบถ้วนในมุมมองมากยิ่งขึ้นในการดำเนินการเรื่องหนึ่ง ๆ ผมจึงอยากจะเพิ่มมุมมองในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ทำให้ผมเกิดคำถามขึ้นมาว่า
ldquo;เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ แล้ว การเลือกตั้งแบบใด ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากผู้แทนที่เขาเลือกมากกว่ากัน?rdquo;
มุมมองเศรษฐศาสตร์ในการเลือกผู้แทน
พื้นฐานความคิดของหลักเศรษฐศาสตร์จะตระหนักว่า ทรัพยากรมีอยู่จำกัด จึงจำเป็นต้องหาวิธีการจัดสรรทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อให้สามารถสร้างอรรถประโยชน์สูงสุด เช่นเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเปรียบเสมือนทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงจำเป็นต้องหาวิธีเลือกตั้งที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้ประชาชนจะได้รับอรรถประโยชน์สูงสุดจาก ส.ส. เหล่านี้
ผมได้ทำการวิจัยเมื่อปี พ.ศ.2548 เรื่อง ldquo;ผลกระทบของระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ที่มีต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยrdquo;[1] ศึกษาผลกระทบต่อระดับการเป็นตัวแทนประชาชนของ ส.ส. พบว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งให้เป็นแบบ 1 เขตมี ส.ส. 1 คน ทำให้ระดับการเป็นตัวแทนประชาชนในระดับเขตลดลง เพราะประชาชนในเขตเดียวกัน แต่ไม่ได้เลือก ส.ส.คนดังกล่าว ย่อมไม่ได้รับความพึงพอใจสูงสุด
นอกจากนี้ พบว่า การเลือกตั้งในลักษณะนี้ ทำให้ระดับความเท่าเทียมกันของการได้รับบริการทางการเมืองลดลง เนื่องจากเขตเลือกตั้งแต่ละเขตมีจำนวน ส.ส. เพียงคนเดียว ทำให้ประชาชนมีทางเลือกของนโยบายน้อยลง เพราะผู้สมัครที่ตนเองเลือกกลับไม่ได้เป็นตัวแทนของตน ผู้แทนในแต่ละเขตจะสะท้อนประโยชน์เชิงนโยบายของคนกลุ่มเดียวในเขตที่เลือกตนเข้ามา
ในขณะที่เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ ในเขตที่ประชาชนสามารถเลือกผู้แทนได้ 2-3 คน ประชาชนในเขตนั้นย่อมได้รับความพึงพอใจมากกว่า เพราะสามารถได้ตัวแทนที่สะท้อนประโยชน์เชิงนโยบายของเขาได้มากกว่า เช่น ได้ ส.ส. ที่เป็นปากเสียงแทนกลุ่มของตน รวมถึงการเพิ่มประเด็นทางนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของคนแต่ละกลุ่มมากขึ้น
ทางออก....แบ่งเขตเรียงเบอร์แบบเท่าเทียม ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด
ความเหมาะสมของรูปแบบการเลือกตั้ง ส.ส. จึงควรเป็นการผสานแนวคิดรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ เสนอว่า ควรเลือกแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ โดยให้แต่ละเขตนั้นมีสัดส่วนจำนวนประชากรที่ใกล้เคียงกัน อาจเป็น 450,000 คนต่อเขตพื้นที่ และเลือกผู้แทนได้ในจำนวนเท่ากัน คือ 3 คน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับความพึงพอใจทางนโยบายผ่านตัวแทนของตนมากขึ้น เนื่องจากมีระดับความเป็นตัวแทนประชาชน และระดับความเท่าเทียมกันทางการเมืองที่ดีกว่า เพราะมั่นใจว่ามีตัวแทนของตนที่เป็นปากเสียงในสภาฯ และมี ส.ส. ที่ช่วยผลักดันให้เขตของตนได้ประโยชน์จากนโยบาย มากกว่าการมี ส.ส.แบบเขตเดียวคนเดียว
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การพิจารณาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ จะพิจารณาอย่างมีหลักการ และพิจารณาในแง่มุมต่าง ๆ อย่างครบถ้วนรอบคอบ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งในเรื่องของการใช้สิทธิเลือกผู้แทน และการได้รับอรรถประโยชน์สูงสุดจากผู้แทนที่ตนเลือกเข้ามา
[1] เอกสารวิชาการส่วนบุคคล หลักสูตร ldquo;การเมืองการปกครองในระบบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูงrdquo; รุ่นที่ 8
Catagories:
Tags:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2007-03-19
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 122 ครั้ง
คนไทยเรียนรู้อะไร จากบทเพลงสุดท้ายของพี่ศรี
Total views: อ่าน 61 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร
Total views: อ่าน 220 ครั้ง
บทบาทของไทยและอาเซียนต่อการรวมเกาหลีให้เป็นหนึ่งเดียว
Total views: อ่าน 1,981 ครั้ง
การสร้างคุณภาพชีวิตเมืองเพื่อการสร้างชาติ ด้วยโมเดลเมืองน่าอยู่ 12 มิติ: Dr.Dan Can Do’s Livable City Model
Total views: อ่าน 2,603 ครั้ง