จดหมายเพื่อการทูตหรือเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง
เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
วาทะร้อนทางการเมืองเรื่อง ldquo;บุคคลที่มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญrdquo; ยังไม่ทันจะจบลง จดหมายเพื่อชี้แจงสถานการณ์ทางการเมืองที่รักษาการนายกรัฐมนตรีของไทยส่งถึงประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกากลายเป็นประเด็นที่ทำให้อุณหภูมิทางการเมืองร้อนระอุมากขึ้นอีก และทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง อาทิ ความเหมาะสมและความจำเป็นในการส่งจดหมายชี้แจงสถานการณ์การเมืองไปยังประธานาธิบดีสหรัฐฯ ความเหมาะสมของเนื้อหาของจดหมายที่ออกมาในเชิงปกป้องตนเอง และพยายามกล่าวโทษกลุ่มอื่น ๆ ว่าเป็นฝ่ายทำลายประชาธิปไตย มากกว่าจะเป็นการชี้แจงสถานการณ์ภาพรวมที่เกิดขึ้นตามข้อเท็จจริง
แม้โฆษกรัฐบาลได้ออกมาชี้แจงว่า การส่งจดหมายชี้แจงจากผู้นำประเทศถึงผู้นำประเทศเป็นเรื่องปกติทางการทูต แต่ในสถานการณ์ขณะนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะการเมืองอยู่ในช่วงวิกฤตและพร้อมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มีความพยายามให้เกิดการแบ่งฝ่าย เลือกข้าง และดึงมวลชนเป็นฐานเสียง โดยใช้ทุกกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดความได้เปรียบทางการเมือง ในสถานการณ์เช่นนี้ ทุกก้าวย่างของรักษาการนายกฯ จึงเป็นที่จับตามองของประชาชน
ผมตั้งข้อสังเกตว่า การส่งจดหมายชี้แจงสถานการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้ เป็นมากกว่าการชี้แจงสถานการณ์ทางการเมือง แต่เป็นการหาเสียงสนับสนุนจากต่างชาติ เพื่อปกป้องและยืนยันการกระทำของรักษาการนายกฯ ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเสียงสนับสนุนภายในประเทศเริ่มลดน้อยลง
ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้ผมเกิดคำถามว่า เหตุใดรักษาการนายกฯ จึงต้องดึงต่างประเทศเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองในประเทศ เป็นไปได้หรือไม่ที่รักษาการนายกฯ อาจกำลังต่อสู้ประลองกำลังกับอำนาจที่เหนือกว่าตน เมื่อประเมินกำลังแล้วยากที่ตนจะชนะได้ จึงต้องดึงอำนาจจากภายนอกประเทศเข้ามาเป็นพวก เพื่อเพิ่มอำนาจและสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง เพราะแม้แต่ประเทศมหาอำนาจที่เป็นแม่แบบทางประชาธิปไตยยังเห็นด้วยกับแนวทางการดำเนินการของรัฐบาลไทย
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่แสดงออกผ่านจดหมายที่ตอบกลับมามีลักษณะเป็นกลาง ไม่ได้แสดงความเห็นด้วยหรือสนับสนุนในสิ่งที่รัฐบาลรักษาการดำเนินการ แต่กลับเป็นการส่งสัญญาณว่า ทางการสหรัฐฯ ไม่เห็นว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องผิดปกติหรือทำลายประชาธิปไตย จดหมายฉบับดังกล่าวจึงไม่ทำให้เกิดความได้เปรียบทางการเมืองแต่อย่างใด
แต่กระนั้น การที่สหรัฐฯ จะให้การสนับสนุนหรือเห็นด้วยกับรัฐบาลไทยว่า ประชาธิปไตยไทยกำลังถูกบ่อนทำลายหรือไม่นั้น เหตุผลสำคัญไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ประชาธิปไตยของไทยว่าจะเป็นอย่างไร เท่ากับการที่สหรัฐฯ เห็นผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจจากการเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทย ดังกรณีที่สหรัฐฯ บุกอิรัก เหตุผลที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องการสร้างประชาธิปไตยในอิรัก แต่คือผลประโยชน์ในเรื่องน้ำมัน เป็นหลัก
ผมจึงมีความสงสัยว่า สหรัฐฯ อาจจะไม่พึงพอใจกับผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการแสดงท่าทีเห็นด้วยกับรัฐบาลไทยหรือไม่ หรืออาจจะเป็นเพราะไม่สามารถตกลงในการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ซึ่งไม่ปรากฏในจดหมายหรือไม่ อาทิ การให้สิทธิพิเศษในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือผลประโยชน์ในการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐ ฯลฯ
สถานการณ์ของรักษาการนายกฯ ในขณะนี้ อยู่ในภาวะที่พยายามหาทางออกทางการเมืองในทุกวิถีทาง แต่ทางออกของรักษาการนายกฯ จะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต่างจับตามอง แต่ที่แน่ ๆ ผมคิดว่าเป็นเรื่องยากที่รักษาการนายกฯ จะกลับมาบริหารประเทศได้อีกครั้ง