บทเรียนการพัฒนาเศรษฐกิจฉบับเวเนซูเอลา

ความพยายามเดินหน้าปฏิรูประบบสังคมและเศรษฐกิจของประเทศเวเนซูเอลา ให้เป็นสังคมนิยมอย่างเต็มตัวใกล้ประสบความสำเร็จ โดยเมื่อ 31 มกราคมที่ผ่านมา สมาชิกสมัชชาแห่งชาติได้ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ รับรองกฎหมายมอบอำนาจให้ประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวซ สามารถออกกฎหมาย ซึ่งจะเปิดทางให้เขาสามารถเดินหน้าปฏิรูประบบสังคมนิยม โดยก่อนหน้าเขาได้ประกาศยึดกิจการโทรคมนาคม ไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติกลับมาเป็นของรัฐแล้ว

กฎหมายดังกล่าวเปิดทางให้ประธานาธิบดีชาเวซ มีอำนาจมากที่สุดนับตั้งแต่บริหารประเทศมา หลายฝ่ายมองว่า กฎหมายดังกล่าวถือเป็นการโน้มเอียงสู่ระบอบเผด็จการและให้อำนาจผู้นำโดยไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งการดำเนินระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมนั้น หมายถึง การปฏิเสธความเป็นทุนนิยม ซึ่งสวนกระแสเศรษฐกิจเสรี การตัดสินใจของเขาจะเป็นเครื่องพิสูจน์แนวทางของลัทธิสังคมนิยมว่า จะนำประเทศเวเนซูเอลาให้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ และให้ประเทศอื่น ๆ เอาเยี่ยงอย่างได้หรือไม่

ระบบเศรษฐกิจตามแนวทางสังคมนิยมมีลักษณะอย่างไร ?

แนวคิดสังคมนิยมเป็นไปในลักษณะที่ตรงข้ามกับระบบทุนนิยม เราอาจพูดได้ว่า ระบบสังคมนิยมเกิดขึ้นมาเพื่อต่อต้านระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เนื่องจากผู้ที่เชื่อในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมมองว่า เศรษฐกิจแบบทุนนิยมนั้น นายจ้างคือผู้ครอบครองปัจจัยการผลิต ได้แก่ ที่ดิน ทุน และการประกอบการ ส่วนแรงงานมีฐานะเป็นเพียงปัจจัยการผลิตอย่างหนึ่ง แรงงานจึงต้องพึ่งพานายจ้าง และด้วยจำนวนแรงงานที่มีอย่างมากมาย จึงมักถูกกดขี่อย่างไร้มนุษยธรรม นอกจากนั้น การประกอบธุรกิจของเอกชนที่มุ่งแต่กำไรสูงสุด อาจก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบแก่สังคม เช่น ปัญหาการว่างงาน อาชญากรรม หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมนั้น เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง โดยมีความเชื่อว่าหากรัฐบาลมีการวางแผนทางเศรษฐกิจไว้ล่วงหน้าเป็นอย่างดี โดย ไม่ปล่อยให้เอกชนดำเนินงานกันเอง จะทำให้การจัดสรรทรัพยากรมีความเท่าเทียมกัน และสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาสังคมได้ นอกจากนี้แล้ว ภาครัฐบาลยังเข้ามาควบคุมกิจการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคของประชาชน อาทิ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ระบบคมนาคมและการขนส่ง หรือแม้แต่ถนนหนทาง เนื่องจากเป็นกิจการที่ประชาชนมีความจำเป็นต้องใช้ การที่รัฐบาลเข้ามาดูแลสาธารณูปโภคดังกล่าวย่อมเกิดผลดีแก่สังคมส่วนรวม

ปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้ประเทศเวเนซูเอลาต้องการปฏิเสธระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แล้วหันมาปฏิรูปเศรษฐกิจของตนเอง เนื่องจากผู้นำเวเนซูเอลาที่ไม่ดีในอดีตได้เปิดให้ต่างชาติโดยเฉพาะอเมริกาเข้ามากอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมัน และกิจการสาธารณูปโภคล้วนตกเป็นของต่างชาติแทบทั้งสิ้น ความบาดเจ็บจากทุนนิยมที่ยาวนานดังกล่าวทำให้ประเทศเวเนซูเอลาหันตัวเองเข้าสู่สังคมนิยมอย่างเต็มตัว
ประเทศไทยจะปฏิเสธระบบทุนนิยมโดยไม่ต้องแข่งกับประเทศอื่นได้หรือไม่

ประเด็นเกี่ยวกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจเป็นข้อถกเถียงเชิงปรัชญา ซึ่งผมเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเล็กไม่สามารถหลีกหนีจากการแข่งขันได้ แม้เราจะไม่อยากแข่งขันก็ตาม และ การเปิดประเทศให้มีการแข่งขันกับต่างประเทศเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ และสร้างโอกาสให้คนไทยในการทำอาชีพ หรือดึงเงินทุน เทคโนโลยี และทรัพยากรจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้เศรษฐกิจกิจขยายตัว แต่ ผลเสียคือผู้ประกอบการในประเทศบางส่วนจะได้รับผลกระทบเนื่องจากแข่งขันไม่ได้

ในทางตรงกันข้าม หากเราเลือกที่จะปฏิเสธแนวทางทุนนิยมหรือปิดประเทศไม่ทำการค้ากับต่างประเทศ และไม่ให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนแข่งขันกับคนในประเทศ เศรษฐกิจของประเทศจะขาดประสิทธิภาพและล้าหลังเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่เปิดประเทศ ดังตัวอย่างของประเทศเมียนม่าร์และเกาหลีเหนือ ประชาชนจะยากลำบากในการดำรงชีพ และขาดแคลนเงินทุนและทรัพยากรในการผลิต เพราะทรัพยากรและเทคโนโลยีในประเทศไม่เพียงพอต่อการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ

อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจทั้งสองระบบย่อมมีข้อดี - ข้อเสียแตกต่างกัน ผมคิดว่า ประเทศไทยไม่พร้อมที่จะเปิดเสรีอย่างสุดกู่หรือเน้นความเท่าเทียมกันทุกเรื่อง เพราะอาจจะละเลยความสามารถของคนที่แตกต่างกัน ทางที่เหมาะสมควรนำข้อดีของทั้งสองระบบมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศให้เหมาะสม

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้เสนอแนวคิด ในหนังสือ ldquo; เศรษฐกิจกระแสกลาง rdquo; ของผมเมื่อปีพ.ศ. 2543 ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคเศรษฐกิจที่เป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อความอยู่รอดของคนในประเทศเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ อันจะทำให้คนไทยไม่ขาดแคลนสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อความอยู่รอด ส่วนสินค้าชนิดอื่นควรเปิดให้แข่งขันเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศ ขณะที่กลุ่มคนที่แข่งขันไม่ได้ เราควรจัดให้ระบบเศรษฐกิจที่ปกป้องจากการแข่งขัน คือการผลิตเพื่อการบริโภคเอง รวมทั้งจัดระบบสวัสดิการสังคมเพื่อช่วยเหลือในยามที่เผชิญวิกฤตการณ์ในชีวิต

การกำหนดทิศทาง การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไม่ควรเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามกระแสของสังคม หรือเป็นการเหวี่ยงไปหาระบบที่สุดโต่งอีกขั้วหนึ่งเมื่อผิดหวังหรือบาดเจ็บจากอีกระบบหนึ่ง แต่ ควรเกิดจากการถกเถียงของประชาชนทุกกลุ่มในสังคมด้วยเหตุผลจนเกิดฉันทานุมัติในสังคม โดยไม่ทิ้งข้อดีของระบบใดระบบหนึ่ง แต่ประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-02-20