แนวคิดการยกร่างกฎหมายแปรรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อทำให้ตลาดหลักทรัพย์เป็นของเอกชน ทำหน้าที่แสวงหารายได้ด้วยตนเอง เปลี่ยนจากตลาดที่ไม่ได้มุ่งหากำไรและถือครองโดยสมาชิก ไปสู่การแสวงหากำไร เมื่อนำแนวคิดดังกล่าวมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจพบว่ากิจการตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่สาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนภาครัฐจึงอาจไม่
จำเป็นต้องดำเนินการเอง การแปรรูปตลาดหลักทรัพย์จึงมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยเป็นการดำเนินการเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพ ความคล่องตัว ความเป็นอิสระจากการแทรกแซงทางการเมือง และความมีบรรษัทภิบาลในการดำเนินงาน รวมทั้งการระดมทุนเพื่อขยายกิจการ เพราะสามารถระดมทุนจากนักลงทุน ตลอดจนเพิ่มโอกาสในการเป็นหุ้นส่วนหรือพันธมิตรกับตลาดหลักทรัพย์อื่นเพื่อสร้างพลังทวีคูณ (synergy) และดึงดูดปริมาณการซื้อขายจากต่างประเทศ และดึงดูดบริษัทต่างประเทศให้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยมากขึ้น
อย่างไรก็ตามหากประเมินความเสี่ยงของการแปรรูปอย่างรอบด้านจะพบว่าเหตุผลข้างต้นอาจยังไม่เพียงพอต่อการดำเนินการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เนื่องด้วยความเสี่ยงดังต่อไปนี้
1. มีความเสี่ยงจากการผูกขาดโดยเอกชน
การแปรรูปตลาดหลักทรัพย์อาจไม่เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ของไทยเป็นกิจการที่ผูกขาดโดยธรรมชาติ เพราะต้องมีการลงทุนสูงในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ระบบและเทคโนโลยีตลอดจนการจัดหาและพัฒนาบุคลากร รวมถึงมีภารกิจในการสร้างความน่าเชื่อถือแก่บริษัทจดทะเบียนและนักลงทุน ดังนั้นเมื่อตลาดหลักทรัพย์แปรรูปไปแล้วจะมีโอกาสกลายเป็นบริษัทที่ผูกขาดโดยภาคเอกชน
ทั้งนี้หากพิจารณากรณีการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป อยู่ภายใต้บริบทที่มีการแข่งขันรุนแรงระหว่างตลาดหลักทรัพย์ของประเทศต่าง ๆ จนส่งผลกระทบต่อโครงสร้างรายได้ และขีดความสามารถการแข่งขันระยะยาว ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯและยุโรปถูกแรงกดดันหรือจูงใจให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพ เพื่อดึงดูดนักลงทุนและบริษัทจดทะเบียนจากต่างประเทศ ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ของไทยยังไม่อยู่ในเงื่อนไขการแข่งขันเช่นนั้น เนื่องจากตลาดทุนไทยยังไม่ต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันอย่างรุนแรงกับตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค
2. มีความเสี่ยงจากการที่ตลาดฯไม่ได้รับการพัฒนา
การแปรรูปของตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐฯและยุโรป เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการมีโครงสร้างตลาดทุนที่แข็งแกร่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตลาดของตนเอง รวมถึงมีความต้องการเงินทุนมาปรับปรุงกิจการให้ทันสมัย โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็นตลาดสำคัญของภูมิภาค ด้วยการสร้างตลาดให้มีขนาดใหญ่ ทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยยังเป็นตลาดที่มีขนาดเล็ก และยังขาดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ภาพรวมของตลาดยังอยู่ระหว่างการพัฒนาทั้งในส่วนของการขยายฐานนักลงทุน การเพิ่มความหลากหลายและคุณภาพของบริษัทที่เข้าจดทะเบียน รวมถึงการพัฒนาด้านนวัตกรรม การเร่งรีบนำตลาดหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียน อาจจะทำให้ไม่เกิดการพัฒนาตลาดทุนอย่างจริงจัง เนื่องจากการต้องมุ่งแสวงหากำไรเป็นหลัก ทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือละเลยการดำเนินงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และกิจกรรมเพื่อสังคม
ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีเงินกองทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท จึงไม่มีปัญหาขาดงบประมาณในการพัฒนาตลาดทุน ความจำเป็นในการแปรรูปเพื่อระดมทุนสำหรับการพัฒนาตลาดจึงอาจไม่มีเหตุผลเพียงพอ
ผมจึงเห็นว่าตลาดทุนไทยอาจยังไม่พร้อมที่จะแปรรูปในช่วงเวลานี้ โดยภาครัฐอาจพิจารณาให้มีการดำเนินการแปรรูปในกรอบระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกที่จะเข้าสู่ช่วงการรวมกัน เพื่อทำให้ขนาดของตลาดมีความได้เปรียบจากขนาด (economy of scale) รวมถึงควรมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมก่อนการแปรรูป หรือใช้วิธีการแปรรูปอย่างเป็นขั้นตอน โดยกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงจัดทำแผนปฎิบัติการแปรรูปที่มีความสัมพันธ์กับแผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนไทยด้วย
นอกจากนี้การแปรรูปภายใต้กระบวนการที่เหมาะสมโดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการศึกษาและการพิจารณาตัดสินใจ นับเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เนื่องจากการแปรรูปมีความเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ รวมถึงนักลงทุนจำนวนมาก และควรทำให้เกิดความชัดเจนว่า เมื่อแปรรูปแล้ว ใครจะเป็นเจ้าของและเป็นเจ้าของตลาดฯได้ในสัดส่วนเท่าใด ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดปัญหาถกเถียงว่า ใครควรได้รับหุ้นในสัดส่วนเท่าใด และป้องกันปัญหาการแทรกแซงตลาดโดยภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของตลาดหลักทรัพย์
ภาครัฐจึงควรเปิดเผยกระบวนการและจัดทำเกณฑ์ความพร้อมในการแปรรูป โดยชี้แจงให้สังคมรับทราบข้อดี-ข้อเสีย ตลอดจนผลประโยชน์ที่จะได้รับ รวมถึงมีมาตรการป้องกันไม่ให้กลุ่มผลประโยชน์เข้าครอบงำตลาดทุนรวมถึงการปรับปรุงกฎหมายและกลไกที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้พร้อมก่อนดำเนินการแปรรูปฯ