การเติบโตของเวียดนามส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร?


* ภาพจาก http://www.trekkerhut.com/Last%20trip/trip14/thumbnails/IMG_0057.jpg

ในบรรดาประเทศที่มีเศรษฐกิจร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ คงต้องมีเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงถึงกว่าร้อยละ 8 ทุกประเทศจึงหันมาจับตามองเวียดนาม รวมทั้งเป็นที่จับตาของประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างไทยด้วย

คนไทยหลายคนมองการเติบโตของเวียดนามอย่างวิตกว่า เวียดนามจะกลายเป็นคู่แข่งและจะแซงหน้าประเทศไทยในอนาคต บางคนอาจจะคิดไปถึงขั้นที่ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามแสดงถึงการถอยหลังลงคลองของไทย แต่คำถามที่น่าพิจารณาคือ ความวิตกดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ และความจริงแล้วการเติบโตของเวียดนามส่งผลกระทบต่อการเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในแง่ของการเติบโตอย่างไรบ้าง

บทความนี้พยายามหาคำตอบให้แก่คำถามดังกล่าว ผมจึงพยายามใช้ข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ ในการวิเคราะห์ เพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทั้งนี้ผมขอแบ่งผลกระทบของการเติบโตของเวียดนามที่มีต่อการเติบโตของไทยออกเป็นสองนัย คือ ผลโดยตรงและผลโดยอ้อม

ผลกระทบโดยตรงของการเติบโตของเวียดนามต่อไทยเป็นผลจากการเป็นคู่ค้าระหว่างกัน การเติบโตของประเทศหนึ่งมีผลต่ออีกประเทศหนึ่งโดยผ่านช่องทางของการค้าระหว่างประเทศ โดยปกติหากประเทศหนึ่งมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงจะทำให้ประชาชนในประเทศนั้นมีระดับรายได้มากขึ้น ซึ่งตามมาด้วยการนำเข้าสินค้าและบริการเพื่อบริโภคมากขึ้น และในอีกแง่หนึ่งการที่เศรษฐกิจขยายตัวเกิดจากการขยายกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบหรือเครื่องจักรเพื่อเป็นสินค้าทุนในการผลิต

ด้วยเหตุผลนี้ เมื่อประเทศหนึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงน่าจะทำให้ประเทศอื่นที่เป็นประเทศคู่ค้าส่งออกได้มากขึ้น จึงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้นตามไปด้วยในทางทฤษฎี

ในบทความนี้ ผมจึงวัดผลกระทบโดยตรงของการเติบโตของเวียดนามต่อไทยจากดุลการค้าระหว่างไทยกับเวียดนาม ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หากดุลการค้าระหว่างไทยกับเวียดนามเป็นบวกหมายความว่า การค้าระหว่างระหว่างเวียดนามกับไทยมีผลด้านบวกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย และจะมีความหมายตรงข้ามหากดุลการค้าเป็นลบ

จากตารางที่ 1 จะเห็นว่า ประเทศไทยได้ดุลการค้าจากเวียดนามมาโดยตลอด และยิ่งไปกว่านั้น ดุลการค้าที่เป็นบวกนั้นมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อเวียดนามมีการเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็ว จึงทำให้นำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้นด้วย
ตารางที่ 1 ดุลการค้าไทย-เวียดนาม
ปี
2544
2545
2546
2547
2548
2549
2550
(ม.ค.- ก.ค.)
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนาม (%)
6.9
7.0
7.2
7.7
8.4
8.2
n.a.
มูลค่าการส่งออกของไทยไป
เวียดนาม (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
801.28
947.99
1,262.09
1,877.05
2,363.70
3,079.06
2,010.00
การขยายตัวของการส่งออก (%)
-0.69
4.03
16.81
25.32
25.69
7.32
20.32
มูลค่าการนำเข้าของไทยจาก
เวียดนาม (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
325.85
238.58
333.38
436.67
890.29
891.10
586.41
การขยายตัวของการนำเข้า (%)
-1.87
-26.78
39.73
30.98
103.88
0.09
12.70
ดุลการค้าไทย-เวียดนาม (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
20,890.57
30,319.39
38,457.62
57,708.10
58,822.82
85,766.40
49,626.10

ที่มา: ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

เมื่อพิจารณารายสินค้า สินค้าออกจากไทยไปเวียดนามที่สำคัญคือ น้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปูนซีเมนต์ เครื่องยนต์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสินค้าทุนและวัตถุดิบสำหรับภาคอุตสาหกรรมทั้งสิ้น

จึงอาจกล่าวได้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของเวียดนามทำให้เวียดนามต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบจากต่างประเทศอย่างมาก ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในคู่ค้าที่สำคัญของเวียดนาม จึงได้รับอานิสงค์ให้สามารถส่งออกไปเวียดนามได้มากขึ้นด้วย

นอกจากผลกระทบทางตรงแล้ว ยังมีผลกระทบทางอ้อม ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของเวียดนามที่ไม่ได้กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยโดยตรง แต่สามารถส่งกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้ ซึ่งในบทความนี้จะเน้นเฉพาะช่องทางการค้าระหว่างประเทศ หากการเติบโตของเวียดนามเกิดจากการที่สามารถส่งออกสินค้าได้มาก และหากไทยกับเวียดนามเป็นคู่แข่งทางการค้าระหว่างกัน การส่งออกของเวียดนามอาจจะทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าได้น้อยลง

แม้สินค้าบางชนิดของเวียดนามกำลังแย่งตลาดไปจากสินค้าส่งออกจากประเทศไทย โดยเฉพาะข้าว แต่หากพิจารณาข้อมูลในตารางที่ 2 จะเห็นว่าสินค้าออกที่สำคัญของไทยและเวียดนามนั้นไม่ซ้ำกัน แสดงว่าไทยและเวียดนามมีความเป็นคู่แข่งกันทางค้ากันน้อย ดังนั้นแม้การส่งออกของเวียดนามจะเติบโตเร็วเกินกว่าร้อยละ 20 ต่อปี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมา ldquo;เบียดrdquo; การเติบโตของการส่งออกของไทย
ตารางที่ 2 สินค้าส่งออกที่สำคัญ 5 อันดับแรกของไทยและเวียดนาม ปี 2549

อันดับ
1
2
3
4
5
เวียดนาม
น้ำมันดิบ
สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป
รองเท้า
ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำทะเล
ไม้และเฟอร์นิเจอร์
ไทย
เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ
แผงวงจรไฟฟ้า
ยางพารา
เม็ดพลาสติก

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย
ส่วนในประเด็นที่หลายคนกังวลว่า เวียดนามจะมาแข่งในอุตสาหกรรมสำคัญของไทยในอนาคต เช่นอิเล็กทรอนิกส์นั้น ผมกลับมองเป็นของธรรมชาติของวัฏจักรสินค้า (product cycle) กล่าวคือ ประเทศที่เพิ่งเริ่มพัฒนานั้นจะเริ่มต้นด้วยการส่งออกสินค้าเกษตร จากนั้นจึงพัฒนาไปสู่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น แล้วพัฒนาเป็นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ปัจจัยทุนเข้มข้น สุดท้ายเมื่อกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วจะส่งออกสินค้าระดับบนที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

ผมสังเกตว่าเวียดนามในขณะนี้ มีแบบแผนในการเติบโตเหมือนประเทศไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว กล่าวคือ เริ่มเน้นการส่งออกสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นอย่างเช่นสิ่งทอ ทำให้สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้มาก และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเกินกว่าร้อยละ 8 ต่อปี แม้แต่ลักษณะด้านลบอย่างอัตราเงินเฟ้อที่สูง และการขาดดุลการค้าที่สูงเกินกว่าร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อปี และผมยังเชื่อว่า ต่อไปเวียดนามจะสามารถพัฒนาจนสามารถส่งออกสินค้าที่ซับซ้อนมากขึ้นอย่างอิเล็กทรอนิกส์ได้

แต่จุดที่ผมอยากเน้นคือ ไม่ได้มีแต่เวียดนามเท่านั้นที่จะพัฒนาประเทศของตนตามวัฏจักรสินค้า แต่ประเทศไทยจะพัฒนาและต้องพัฒนาด้วย ในปัจจุบันอุตสาหกรรมที่เคยรุ่งเรืองในอดีตอย่างสิ่งทอจะต้องเสื่อมถอยลง และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปให้กับประเทศที่ไล่หลังเรามาอย่างเวียดนาม แล้วจะมีอุตสาหกรรมดาวรุ่งอย่างอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ หรืออุตสาหกรรมอื่นขึ้นมาแทนที่

ในอนาคตไทยต้องพัฒนาไปสู่การส่งออกสินค้าที่ซับซ้อน มีมูลค่าเพิ่ม และใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ทางออกจึงไม่ได้อยู่ที่การพยายามยึดอุตสาหกรรมเก่าไว้ตลอดกาลแต่ไทยต้องพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมอื่นที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะโดยธรรมชาตินั้น มีการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่ และตายไปของสิ่งเก่าเสมอ
* นำมาจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพุธที่3 ตุลาคม 2550

แสดงความคิดเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-10-03