ฝึกลูกบังคับตนเอง ก่อนสายเกินไป

 
นิตยสารแม่และเด็ก
คอลัมน์ ครอบครัวสุขสันต์
 
ปัญหาเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน ส่วนใหญ่เกิดจากการดำเนินชีวิตโดยยึดตามกระแสสังคม อารมณ์ความรู้สึก ความปรารถนาต่อสิ่งเร้าที่มายั่วยวน จนขาดการยับยั้งชั่งใจ ส่งผลต่อการตอบสนองที่ผิดพลาดและเกิดผลเชิงลบทั้งต่อตนเองและสังคมในภาพรวมตามมาอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น การชิงสุกก่อนห่าม ตั้งครรภ์ในวัยเรียน เนื่องจากไม่สามารถทนต่อแรงดึงดูดทางเพศได้ ? นักศึกษาขายบริการทางเพศเพื่อนำเงินไปซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ เนื่องจากไม่สามารถบังคับใจตนเองให้ทนต่อความต้องการอยากได้อยากมีเหมือนคนอื่น ? นักเรียนต่างสถาบันยกพวกตีกัน เนื่องจากไม่สามารถควบคุมอารมณ์โกรธแค้นที่อีกฝ่ายมาพูดจาดูถูกฝ่ายตน  ฯลฯ
 
ปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนการขาดความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ การประเมินสิ่งผิดสิ่งถูก การเห็นแก่ความสุขระยะสั้น จนละเลยผลร้ายในระยะยาวที่ตามมา หรือเรียกว่า ขาดความสามารถในการบังคับตนเอง
 
การบังคับตนเอง (self-control) หมายถึง ความสามารถในการควบคุมความคิด จิตใจ อารมณ์ความรู้สีกของตนเอง ด้วยการใช้เหตุผล สติปัญญา ด้วยจิตใจที่มั่นคง วินิจฉัยประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผลดีผลเสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเลือกสิ่งที่ดีที่สุด เกิดผลเสียน้อยที่สุด โดยเอาชนะความต้องการของตนเอง ก้าวข้ามความเย้ายวนในขณะนั้นได้
 
การบังคับตนเองเป็นทักษะที่ต้องได้รับการฝึกฝนตั้งแต่ยังเป็นเด็ก โดยไม่ปล่อยให้เด็กทำตามใจตนเองอย่างไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ไม่รู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งการฝึกเด็กให้บังคับตนได้ ไม่เพียงเพื่อประโยชน์สุขและความสำเร็จของตัวเด็กและเยาวชนเองเท่านั้น แต่รวมไปถึงการสร้างสังคมที่ดีงามในอนาคต  ดังที่ เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) รัฐบุรุษอาวุโสผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวไว้ว่า ?การอบรมสั่งสอนเด็กในเรื่องการบังคับตนเอง เป็นการสร้างอุปนิสัยแห่งการควบคุมความปรารถนาของตนเองอันมักมีแนวโน้มไปในทางที่เลวร้าย  เพื่อให้ไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องด้วยเหตุและผล อันนำไปสู่การตัดวงจรแห่งปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงของสังคมในอนาคต?
 
การที่คนหนึ่งคนใดจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น ล้วนแล้วแต่มีปัจจัยต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ทั้งความสามารถในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ ฯลฯ รวมไปถึงลักษณะชีวิตพื้นฐานของแต่ละปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีทักษะการบังคับตนที่ดีกว่านั้น ย่อมเป็นผู้ที่มีแนวโน้มในการนำพาตนเองไปสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จหรือเป้าหมายชีวิตที่ตั้งใจไว้ได้อย่างชัดเจนไม่หลงทิศ ได้มากว่าผู้ที่ขาดทักษะในด้านนี้
 
ที่ผ่านมา มีการศึกษาวิจัยในเรื่องของการสร้างทักษะการบังคับตนไว้จำนวนมาก อาทิ การทดสอบมาร์ชแมลโลว์ (marshmallow test) ของวอลเตอร์ มิชเชล (Walter Mischell) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ผู้ทำการทดลองความสามารถในการบังคับตัวเอง ยับยั้งชั่งใจของเด็กวัย 4 ปี  ในการทานขนมมาร์ชแมลโลว์ที่วางไว้บนโต๊ะ และตนเองออกไปข้างนอก โดยให้เงื่อนไขว่า หากเด็ก ๆ สามารถอดทนรอจนกว่าผู้ควบคุมจะกลับมาที่ห้องอีกครั้ง จะได้ทานขนมเพิ่มเป็น 2 ชิ้น   เพื่อหาวิธีควบคุมตัวเองที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยใช้รางวัลเป็นแรงจูงใจหลอกล่อ (จากขนมที่ให้เพิ่มมากขึ้น) หรือการสังเกตการใช้ยุทธวิธีต่าง ๆ ของเด็กในกลุ่มทดลอง อาทิ เด็กที่รอคอยได้ดีจะเรียนรู้จักวิธีการเบี่ยงเบนความสนใจของตนเอง การพยายามปิดตาไว้ไม่มองขนม  หรือนอนหลับไปเลยเพื่อไม่ให้สนใจต่อขนมที่อยู่ตรงหน้า รวมไปถึงติดตามหาความเชื่อมโยงกับความสำเร็จของเด็กกลุ่มดังกล่าวในอนาคตระยะยาว เป็นต้น
 
ในการทดลองเด็ก ๆ จะสามารถควบคุมบังคับตนเองได้ดีขึ้น เมื่อมีการสร้างเงื่อนไข เช่น การใช้รางวัลเป็นตัวล่อ ซึ่งเด็ก ๆ ก็สามารถเบี่ยงเบนเป้าหมาย จากความต้องการเฉพาะหน้า ไปสู่การอดทนรอคอยเพื่อสิ่งที่ดีกว่าได้ ถ้าฝึกบ่อย ๆ จะทำให้เด็กรู้จักควบคุมตนเองได้ดีขึ้น
 
เป็นความจริงที่ว่า ?เอาชนะคนอื่นร้อยครั้ง ไม่สู้เอาชนะใจตนเองเพียงครั้งเดียว?
 
การฝึกทักษะการบังคับตนเองนั้น จำเป็นที่จะต้องเตรียมสร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่งตั้งแต่วัยเยาว์  เป็นกระบวนการที่พ่อแม่สามารถฝึกฝนลูกได้ โดยเริ่มจาก
 
การบังคับความคิดอย่างเป็นระบบ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดเชิงตรรกะ การคิดเชิงอนาคต และการคิดเชิงสร้างสรรค์  สามารถที่จะตั้งคำถามและหาคำตอบให้ตนเองได้ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกที่ทำในสิ่งต่าง ๆ  อาทิ   การใช้ชุดคำถาม ?ถ้า??.แล้ว??..?       เพื่อให้เห็นผลที่จะเกิดขึ้นตามมาทั้งในทางที่ดีที่สุด (best case)  และในแนวทางที่ร้ายที่สุด (worst case)  รวมไปถึงการฝึกคิดสร้างสรรค์เชิงบวกหาข้อดีของการตัดสินใจที่จะไม่เลือกทำตามใจตนเอง  ตัวอย่างเช่น   ถ้าฉันยอมมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเพื่อนชายในตอนนี้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น และหากไม่ยอมจะเกิดอะไรขึ้น  ผลดี ผลเสีย ฯลฯ
 
การคิดสร้างสรรค์หาวิธีการต่าง ๆ ในการหลบหลีกการทดลองหรือการยั่วยวนต่าง ๆ    คิดจินตนาการถึงภาพความสำเร็จที่ตนได้รับหากสามารถยืนหยัดไม่ทำตามใจตนเองในตอนนี้    ตัวอย่างเช่น   การอดใจไม่ทานขนมหวาน เพื่อให้น้ำหนักตัวลดลงและกลับมาใส่เสื้อผ้าที่สวยงามได้ ฯลฯ เมื่อบังคับความคิดได้ย่อมส่งผลให้สามารถบังคับตนเองในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
การเป้าหมายและหลักยึดในชีวิตที่ชัดเจน   บทบาทของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูกนั้นไม่เพียงการตอบสนองด้านร่างกาย (ปัจจัยสี่) การให้ความรัก การจัดการศึกษาที่ดีที่สุดให้เขา แต่สิ่งที่ลูกต้องการมากไปกว่านั้น คือ การนำทิศทาง สอนเขาว่าควรจะเดินไปในทางใด ไปสู่เป้าหมายชีวิตบั้นปลายอย่างไรที่ก่อให้เกิดคุณค่าและนำมาซึ่งความสุขอย่างแท้จริง  เพื่อให้เขาเห็นภาพได้ชัดที่สุดว่าเป้าหมายที่เขาจะไปถึงนั้นมีคุณค่ามากกว่าสิ่งยั่วยวนต่าง ๆ ที่เข้ามาให้ความสุขจอมปลอมเพียงชั่วครู่ชั่วยามอย่างไม่ยั่งยืน โดยบุคคลรอบข้าง รอบตัวเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คุณครู นั้นสามารถที่จะส่งเสริมแรงบันดาลใจเชิงบวกให้เด็ก ๆ ได้โดยเริ่มจาก   กระตุ้นการตั้ง ?เป้าหมาย? ชีวิตที่ทรงพลังมีแรงดึงดูดสูงสุด   (อยากไปให้ถึง) เริ่มจากการสอนให้ลูกเรียนรู้เรื่อง การให้คุณค่า สิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้อง  อาทิ เห็นคุณค่าความดีงามมากกว่าความร่ำรวย  ให้คุณค่าความงดงามภายในมากกว่าความสวยงามภายนอก  หรือวัตถุสิ่งของราคาแพงที่มาประดับตกแต่งภายนอก   ฯลฯ
 
สร้าง ?ลักษณะชีวิต?  ตัวเสริมพลังการบังคับตน จากหนังสือ ยอดคน กุญแจแห่งชัยชนะ 20 ดอก ที่ผมเขียนไว้ได้กล่าวถึงตัวอย่างลักษณะชีวิตที่เราควรฝึกฝนเป็นนิสัยอันจะนำมาซึ่งความสำเร็จและสามารถนำพาเราไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งใจไว้ได้  โดยลักษณะชีวิตสำคัญที่พ่อแม่ควรฝึกฝนลูกนั้น ตัวอย่างเช่น ลักษณะชีวิตแห่งความมุ่งมั่น ขยัน  ความอดทนพากเพียร   เอาจริงเอาจัง  ชนะความไร้วินัย  ความกล้าหาญ ฯลฯ โดยลักษณะชีวิตดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมพลังการบังคับตนและสร้างพลังความเชื่อมั่นในตนเองว่าเราสามารถอดทนยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจได้อย่างแน่นอน
 
การเดินทางสู่ความสำเร็จในชีวิตได้นั้น  เป้าหมายต้องชัด เส้นทางต้องแม่นยำ เพื่อมิให้หลงทิศ เมื่อไปผิดเส้นทางต้องเรียนรู้ที่จะกลับมาอย่างรวดเร็ว  ?ทักษะการบังคับตน? จึงเปรียบเสมือนแผนที่และเข็มทิศที่คอยย้ำเตือนเราเสมอให้ไปในทิศทางที่ถูกต้อง  โดยเริ่มจากการบังคับความคิดให้ถูกต้อง การแยกแยะเป้าหมายถูกผิดดีชั่วให้ออก รวมทั้งเสริมพลังด้วยการสร้างลักษณะชีวิตแห่งความอดทนพากเพียร มีวินัย กล้าหาญในการเลือกทำสิ่งที่ถูกต้อง   รู้จักจุดอ่อนในชีวิตที่เป็นอุปสรรคต่อการบังคับตนเองเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยง ปรับปรุงแก้ไข เพื่อเป้าหมายความสำเร็จที่รออยู่ข้างหน้า   ดังที่คำกล่าวของ  Paulo Coelho นักประพันธ์ชื่อดังชาวบราซิล ที่กล่าวไว้ว่า ?ถ้าท่านสามารถชนะตัวท่านเองได้ ท่านย่อมสามารถชนะโลกได้?
 
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

 

แหล่งที่มาของภาพ : http://2.bp.blogspot.com/-ykvSZTxh7kY/UV96HfANWEI/AAAAAAAAFlQ/O1RQ0xLLTKg/s1600/discipline.jpg