กลยุทธ์ Maximin กับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย
เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เชิญ ศาสตราจารย์ Ariel Rubinstein มาบรรยายปฐากถาพิเศษในเรื่อง ldquo;John Nash, A Beautiful Mind, and Game Theoryrdquo; ซึ่งเนื้อหาเป็นบทวิพากษ์และข้อคิดเกี่ยวกับทฤษฎีเกม รวมทั้งเรื่องราวของ John Nash ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 1994 ที่มาของภาพยนตร์ระดับรางวัล Oscar เรื่อง ldquo;A Beautiful Mindrdquo;
ต้องขออธิบายก่อนว่า ทฤษฎีเกมเป็นทฤษฎีที่อธิบายพฤติกรรมการตอบโต้ (Interaction) ระหว่างบุคคล 2 บุคคล หรือมากกว่านั้น ว่าเขาจะมีการตัดสินใจอย่างไร ตัวอย่างคลาสสิกของทฤษฎีเกมคือ ldquo;ทางเลือกของนักโทษrdquo; (Prisonerrsquo;s Dilemma) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีนักโทษอยู่ 2 คนที่ทำความผิดร่วมกัน นักโทษแต่ละคนมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือสารภาพความผิดตามจริง กับปฏิเสธข้อกล่าวหา สุดท้ายทฤษฎีเกมพยากรณ์ว่านักโทษทั้งคู่จะเลือกที่จะสารภาพความผิด
ก่อนปาฐกถา ศาสตราจารย์ได้นำเกมที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีเกมลงในอินเทอร์เน็ต ให้ผู้สนใจเข้าไปทดลองเล่นก่อน และนำผลการตัดสินใจของผู้เล่นคนไทยไปนำเสนอในการบรรยายด้วย
จุดที่ผมสนใจคือ มีผู้ถามศาสตราจารย์ Rubinstein ว่าทฤษฎีเกมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ใดได้บ้าง ซึ่งท่านได้ตอบอย่างน่าฟังว่า ในขณะนี้นั้นทฤษฎียังไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้มากมายเท่าไร แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้เราไม่ควรศึกษาทฤษฎีเกมต่อไป การไม่เห็นประโยชน์ในปัจจุบันไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีประโยชน์ในอนาคต เช่นเดียวกับทฤษฎีทางฟิสิกส์ซึ่งในระยะแรก ๆ นั้นยังไม่เห็นประโยชน์อะไร แต่เราสามารถนำความรู้จากทฤษฎีฟิสิกส์เหล่านั้นมาประยุกต์และพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้อย่างมากมายในปัจจุบัน
สิ่งที่ศาสตราจารย์ Rubinstein พูดนั้น ได้ตอกย้ำความเชื่อของผมข้อหนึ่ง คือ ทุกอย่างเริ่มต้นจากความคิดที่เป็นปรัชญาชีวิตของเรา หากเราคิดถูกตั้งแต่ต้น สิ่งที่ทำตามมาจะถูกต้องด้วย แต่หากเรามีความคิดปรัชญาที่ผิด แม้วิธีการปฏิบัติดูเหมือนจะถูก แต่สุดท้ายสิ่งที่ตามมาไม่อาจถูกต้องได้
ในทฤษฎีเกมมีกลยุทธ์แบบหนึ่งที่น่าสนชื่อ กลยุทธ์ Maximin ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ผู้ตัดสินใจจะเลือกกลยุทธ์ที่มีโอกาสของผลตอบแทนที่มีค่าสูงที่สุดภายใต้ทางเลือกที่มีอยู่ซึ่งล้วนให้ผลตอบแทนที่ต่ำที่สุด หรือเราเรียกแนวคิดแบบ Maximin นี้ให้เห็นภาพได้ว่า ldquo;ปลอดภัยไว้ก่อนrdquo; (Safety first)
ตัวอย่างง่ายๆ เช่น สมมติเรามีเงินอยู่ 100 บาท และมีกลยุทธ์ 2 ทางคือฝากธนาคารได้ดอกเบี้ย 3 สลึงต่อปี กับเล่นหวยบนดินซึ่งอาจได้รางวัลสูงถึงหลายล้านบาท แต่มีโอกาสที่จะไม่ถูกรางวัลใดเลย หากเราตัดสินใจแบบ Maximin เราย่อมต้องเลือกนำเงินฝากธนาคาร เพราะแม้จะได้ดอกเบี้ยแค่ 3 สลึงแต่ยังดีกว่าหวยบนดิน ซึ่งมีโอกาสที่จะไม่ถูกรางวัลใดเลย และต้องเสียเงิน 100 บาทไปไม่ได้ผลตอบแทน
ศาสตราจารย์ อมาตยาเซน ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์เอเชียที่ได้รับรางวัลโนเบล และเป็นท่านแรกที่เสนอแนวคิดให้รัฐบาลมีปรัชญาแบบ Maximin ในการวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ พร้อมสนับสนุนนโยบายด้านสวัสดิการ (ในแบบที่ถูกต้องไม่ใช่แบบหว่านเงิน) แก่กลุ่มคนยากจนด้วย
หากรัฐบาลนำแนวคิดแบบ Maximin มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแล้ว รัฐบาลจะเลือกยุทธศาสตร์ที่ทำให้กลุ่มคนที่มีความเป็นอยู่แย่ที่สุด มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมากที่สุด แม้ว่ายุทธศาสตร์นั้นอาจจะไม่ทำให้รายได้รวมของคนทุกกลุ่มในประเทศ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า รายได้ประชาชาติ หรือ GDP ดีขึ้นมากที่สุดก็ตาม
เมื่อหันไปมองแนวคิดของปัจจุบัน แม้รัฐบาลจะประกาศให้ความสำคัญแก่ความยากจนมาก แต่พฤติกรรมส่วนใหญ่ยังแสดงว่ารัฐบาลยังมีแนวคิดที่ทำให้ GDP ซึ่งวัดรายได้ของทุกคนในประเทศรวมกัน เติบโตมากที่สุดเป็นหลัก มากกว่าที่จะสนใจให้กลุ่มคนที่มีความเป็นอยู่แย่หรือคนยากจนดีขึ้นมากที่สุด
หลักฐานที่สนับสนุนความคิดนี้ คือ ข้อสังเกตของ ศ.ดร.ปราณี ทินกร คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นับจำนวนครั้งที่นายกรัฐมนตรีพูดถึงเป้าหมายทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ พบว่าเป้าหมายด้านการเติบโต (ของ GDP) เป็นเป้าหมายที่ถูกพูดถึงมากที่สุด มากกว่าอันดับสองคือเป้าหมายด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจหลายเท่า ส่วนเป้าหมายด้านการกระจายรายได้ ซึ่งสะท้อนแนวคิดแบบ Maximin นั้นแทบไม่ได้ถูกพูดถึงเลย