จะบริหารเศรษฐกิจปี 2549 อย่างไร?
เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
ดูเหมือนว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาเพื่อการปฏิรูปการเมือง จะไม่ได้มีบทบาทหลักเพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจขาลง อันเป็นผลจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งส่งผลทำให้ระดับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง
การบริหารเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบันมีข้อถกเถียงอยู่บางประเด็นว่า รัฐบาลใหม่ควรใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยควรใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว โดยการอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อหรือไม่ ส่วนผสมของนโยบายการเงินการคลังในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ควรเป็นเช่นไร
สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2549 มีแนวโน้มชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี เนื่องจากบรรดาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเกือบทุกตัวไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่ ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การบริโภคและการลงทุนของภาครัฐ และการค้าระหว่างประเทศ
การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนที่จะชะลอตัวลง เนื่องจากการขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ระดับราคาสินค้าโดยรวมเพิ่มขึ้น ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ภาคประชาชนชะลอการใช้จ่ายแต่ออมเงินมากขึ้น ขณะที่มีค่าใช้จ่ายสำหรับการชำระหนี้มากขึ้น
การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐไม่สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ได้มากนัก เนื่องจากปัญหาทางการเมืองทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ส่งผลทำให้การพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ.2550 ต้องล่าช้ากว่าปกติประมาณ 1 ไตรมาส และยังทำให้แผนการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต้องเลื่อนออกไปเป็นปีหน้า จากเดิมที่คาดว่าจะมีการลงทุนในโครงการดังกล่าวในช่วงครึ่งปีหลัง
ขณะที่ภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนตัวลง และเงินทุนจำนวนมากที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดทุนของไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้รายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวชะลอตัว แต่อาจจะทำให้การนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สินค้าไทยยังมีช่องทางส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าอื่น ๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ เพราะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ยังขยายตัวได้ดีและค่าเงินในประเทศเหล่านั้นแข็งค่าขึ้นในทิศทางเดียวกับค่าเงินบาท
การใช้นโยบายการเงินการคลังในภาวะที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านอุปทาน (Supply shock) นับว่ามีความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง เพราะการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะยิ่งทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอีกซึ่งเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ขณะที่การใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อจะทำให้เศรษฐกิจยิ่งชะลอตัวลงอีก
ในความเห็นของผม การใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวมากจนเกินไปเป็นนโยบายที่ไม่มีประสิทธิภาพและจะไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อในปัจจุบันอาจจะไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เพราะปัญหาเงินเฟ้อในปัจจุบันเกิดขึ้นจากแรงผลักด้านต้นทุน (cost push inflation) จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ นอกจากนี้ ประชาชนและผู้ประกอบการยังขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในอนาคต จึงไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวจนเกินไปเพื่อควบคุมการใช้จ่ายและการบริโภคของภาคเอกชน เพราะการใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชนจะชะลอตัวลงในระดับหนึ่งอยู่แล้ว
ขณะเดียวกันประเทศไทยไม่จำเป็นมากนักที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ทันกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ เพราะสถานการณ์ปัจจุบัน เงินลงทุนระยะสั้นกำลังไหลเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากจนอาจเป็นผลเสียต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวได้
ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องป้องกันการไหลออกของเงินทุนโดยการขึ้นดอกเบี้ยสูงจนเกินไป แต่น่าจะยอมให้เงินลงทุนระยะสั้นที่ไหลเข้ามาชะลอตัวลงบ้าง เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินและเพื่อกระตุ้นการส่งออก
ยิ่งไปกว่านั้น อัตราดอกเบี้ยที่ยิ่งสูงขึ้นจะเป็นอันตรายต่อประชาชนรากหญ้า เนื่องจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่ผ่านมาซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างง่ายดาย จนทำให้หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หากดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นอาจจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนลดลง และอาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียตามมาอีก
ส่วนนโยบายการคลังนั้น รัฐบาลใหม่ควรยอมรับว่าอาจมีความจำเป็นที่จะต้องยอมจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลได้บ้าง เพราะภาครัฐยังสามารถใช้เครื่องมือทางการคลังบางส่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงชั่วคราว เพื่อลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตในประเทศ
นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่ควรยกเลิกเง่อนไขที่ระบุว่า รัฐบาลจะใช้เงินงบประมาณลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์เองทั้งหมด และเงื่อนไขที่ให้ต่างชาติเข้ามาประมูลก่อสร้างแบบไม่มีทีโออาร์ (TOR) แต่ควรผลักดันบางโครงการที่ได้มีการศึกษาและออกแบบไว้แล้ว เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในเวลานี้
สำคัญที่สุด คือการประสานงานระหว่างผู้ที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อให้การกำหนดส่วนผสมของนโยบายการเงินการคลังอย่างสมดุล และมิควรออกมาให้ความเห็นโต้แย้งกันเชิงนโยบาย ซึ่งยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับการบริหาร
เศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาล