นโยบายการออมกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

แม้นโยบายของรัฐบาลใหม่ที่มุ่งเน้นไปในแนวทาง ldquo;เศรษฐกิจพอเพียงrdquo; ตามที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ประกาศไว้ แต่รัฐบาลยังมิได้มีการประกาศนโยบายที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงออกมาอย่างชัดเจนเพียงพอ ทำให้ความเข้าใจของประชาชนและนักลงทุนต่างประเทศเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงยังคงคลุมเครือ ซึ่งอาจสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อนโยบายของรัฐบาลได้

ช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐและเอกชนได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้บางส่วนแล้ว โดยในภาคเอกชนได้มีการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibilities: CSR)

ในส่วนขององค์กรภาครัฐได้ริเริ่มโครงการต่างๆ ที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดทำดัชนีชี้วัดความสุข ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (...) และศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.) เป็นแกนนำในการดำเนินการ โดยร่วมมือกับภาคประชาสังคมส่งเสริมให้ประชาชนทำบัญชีครัวเรือน หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รณรงค์ให้ลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนอีกทางหนึ่ง

สำหรับนโยบายของรัฐบาลชุดที่ผ่านมามีการริเริ่มจะจัดทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเช่นเดียวกัน อาทิ การจัดตั้งนิคมเศรษฐกิจพอเพียง การจัดตั้งศูนย์สาธิตเศรษฐกิจพอเพียงในทุกตำบล เป็นต้น อย่างไรก็ตามโครงการส่วนใหญ่เป็นเพียงความพยายามสร้างภาพว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมามีโครงการเศรษฐกิจพอเพียงแต่เป็นเพียงรูปแบบเท่านั้น ทั้งยังขาดสาระในเชิงปรัชญาที่สำคัญ

ปรัชญาในการกำหนดนโยบายส่วนใหญ่ของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาสวนทางกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างสิ้นเชิง เพราะเน้นการใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย ขาดเหตุผลที่ดีพอ และขาดมาตรการรองรับความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่น การประกาศสร้างเมกะโปรเจ็กต์โดยใช้งบประมาณมหาศาลแม้ว่าในบางเส้นทางดูเหมือนไม่คุ้มค่าการลงทุน การผลักดันการเจรจาเปิดเสรีทางการค้าอย่างรีบเร่งจนอาจขาดความรอบคอบ การเน้นการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจโดยขาดความระมัดระวัง นโยบายประชานิยมที่ทำให้ประชาชนเป็นหนี้มากขึ้น หรือการนำหวยใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดิน เป็นต้น

การให้ความสำคัญกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่ดี แต่จำเป็นต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมด้วย ผมจึงขอมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยมาตรการที่ผมเห็นว่ารัฐบาลนี้ควรผลักดันคือ การสร้างกลไกส่งเสริมการออม

รัฐบาลชุดใหม่ควรริเริ่มสร้างกลไกการออมภาคบังคับ และการส่งเสริมการออมแบบสมัครใจ เช่น การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ระบบการออมเพื่อวัยเกษียณโดยการใช้ระบบกระจายรายได้ข้ามวัย หรือระบบบัญชีส่วนบุคคล เป็นต้น

การสร้างกลไกและส่งเสริมการออมจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากโครงสร้างประชากรในอนาคตมีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น การออมไม่ว่าจะเป็นภาคบังคับหรือสมัครใจจะเป็นกลไกให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้ในอนาคต นอกจากนี้ระดับการออมในประเทศที่เพิ่มขึ้นยังช่วยให้มีเงินลงทุนในประเทศมากขึ้น ลดการพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างประเทศ และลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

ผมคิดว่ารัฐบาลชุดปัจจุบัน มีความเหมาะสมที่สุดที่จะดำเนินนโยบายนี้ เพราะเป็นนโยบายที่ส่งผลดีต่อประชาชนในระยะยาวแต่ประชาชนบางส่วนอาจไม่ชื่นชอบมากนัก ถึงกระนั้นหากชี้แจงให้เกิดความเข้าใจถึงเหตุผลเบื้องหลังน่าจะทำให้ประชาชนให้ความร่วมมือมากขึ้น

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-10-23