การสร้างผู้นำภาคธุรกิจรุ่นใหม่เพื่อขับเคลื่อนการสร้างชาติในอนาคต (1): มิติวัฒนธรรมการทำงานและการเรียนรู้

ผมมีโอกาสได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อและสำนักข่าวของมาเลเซียหลายครั้งนับตั้งแต่ต้นปี หนึ่งในนั้น คือ การให้สัมภาษณ์ทางวิทยุคลื่น BFM 89.9 The Business Station เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 เกี่ยวกับการสร้างผู้นำภาคธุรกิจรุ่นใหม่เพื่อขับเคลื่อนการสร้างชาติในอนาคต อันเป็นประเด็นที่ควรตระหนักและให้ความสำคัญสำหรับการทำงานในยุคนี้

เป็นที่ทราบกันดีว่า อนาคตของประเทศจะอยู่ในมือของเด็กและเยาวชน เช่นเดียวกับอนาคตของธุรกิจย่อมอยู่ในมือของผู้นำรุ่นใหม่ นั่นคือ คนรุ่นมิลเลนเนียล หรือที่รู้จักกันดีชื่อว่า คน Gen Y ที่กำลังจะเป็นกำลังหลักในการทำงานและการพัฒนาประเทศ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าในอีกไม่ถึง 10 ปี คนรุ่นมิลเลนเนียลจะเข้ามามีบทบาทในทุกตำแหน่งงาน และเข้าแทนที่คนทุกเจนเนอเรชั่น

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงอุทิศเวลาในการสร้างคนกลุ่มนี้ให้กลายเป็นผู้นำที่ดี เก่ง กล้า เพื่อจะพัฒนา เปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนประเทศ ผ่านหลักสูตรและโครงการในสถาบันการสร้างชาติ (Nation-Building Institute) ทั้งนี้ประเทศที่สามารถใช้ประโยชน์เชิงบวกจากคนรุ่นมิลเลนเนียลจะมีความได้เปรียบ เพราะจะได้ผู้นำรุ่นใหม่ที่ดี ผู้สืบทอดธุรกิจที่เก่ง และอาจจะกลายเป็นผู้นำยิ่งใหญ่ในอนาคต

สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องมีก่อนเริ่มต้นสร้างผู้นำรุ่นใหม่ คือ ความเข้าใจเชิงจิตวิทยาและพฤติกรรมของคนรุ่นนี้ หากเราเข้าใจลักษณะของคนยุคใหม่นี้ จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการสร้างและพัฒนาความเป็นผู้นำ เพราะเราจะสามารถดึงและใช้ศักยภาพของคนกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิสภาพ (Efficacy) อันนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีและยั่งยืนทั้งต่อตัวเอง องค์กร และประเทศชาติ

ผมได้คัดเลือกพฤติกรรมและลักษณะเชิงจิตวิทยาที่สำคัญ จากประสบการณ์ชีวิตที่ผมพบเจอ โดยเฉพาะในสถาบันการสร้างชาติ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ระหว่างวัยมากขึ้น และนำไปสู่การสร้างผู้นำรุ่นใหม่อย่างเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

วัฒนธรรมการทำงานเปิดกว้างมากขึ้น

จากการสังเกตพฤติกรรมของคนรุ่นต่างๆ ในสถาบันสร้างชาติ คนรุ่นใหม่มักเป็นคนที่เปิดกว้างทางความคิด และมีความกระตือรือร้นที่จะได้รับความคิดและมุมมองใหม่ ๆ ในการวางแผนและดำเนินการในโครงการต่างๆ คนรุ่นใหม่ยังชื่นชอบและสนุกที่ได้ทำงานเป็นทีม หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมของการทำงานร่วมกัน  ผมจึงออกแบบกิจกรรมในสถาบันการสร้างชาติ โดยนำความแตกต่างที่แต่ละคนมี ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความสามารถ ชุดทักษะ และภูมิหลังทางสังคมมาผสมผสานกัน แบ่งเป็นกลุ่ม และเน้นการทำงานเป็นทีม

ในองค์กรขนาดใหญ่ เช่น Google, Facebook, Oracle, Microsoft เป็นต้น วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมการทำงานกำลังถูกพัฒนาให้เปิดกว้างมากขึ้น กล่าวคือ คนรุ่นใหม่กำลังได้รับการผลักดันให้ทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่อยู่คนละแผนก คนละสายงานมากขึ้น โดยในโครงการหนึ่งๆ จะประกอบไปด้วยทีมงานจากหลายฝ่าย เช่น ฝ่ายขาย ฝ่ายออกแบบ ฝ่ายขนส่ง ฝ่ายการเงิน เป็นต้น การจัดการโครงการข้ามสายงานเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง เพราะการทำงานร่วมกันเป็นแรงผลักดันสำหรับการสร้างนวัตกรรม ซึ่งจำเป็นในโลกปัจจุบัน

ทั้งนี้เครื่องมือสำคัญที่นำไปสู่การทำงานข้ามสายได้อย่างประสบความสำเร็จ คือ การเปิดพื้นที่ในการทำงานของตัวเองที่มากพอ ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดรับการปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารที่เปิดกว้างมากขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดมากขึ้น และอย่างที่กล่าวแล้ว คนรุ่นใหม่เป็นวัยที่เปิดกว้างในการทำงาน ผู้นำหรือหัวหน้างานจึงควรปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของตนให้เปิดกว้างเช่นเดียวกัน

เรียนรู้เร็วเพราะมีเทคโนโลยี แต่อาจทำให้ขาดวิสัยทัศน์

คนรุ่นใหม่มีความสามารถในการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมการทำงานที่พึ่งพาเทคโนโลยีสูง ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อธุรกิจเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น ธุรกิจต้องมีการพัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

การทำลายล้างสิ่งเก่าๆ ออกไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) อาจก่อให้เกิดความยุ่งยาก และขัดขวางความสามารถทางความคิดของผู้นำรุ่นใหม่ กล่าวคือ อาจเป็นตัวขัดขวางความคิดเชิงอนาคต หรือความมีวิสัยทัศน์ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและรุนแรง จะทำให้ต้องคอยระแวดระวังการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นเสมอ เกิดเป็นความคิดแบบแยกส่วน ไม่ปะติดปะต่อ มีมุมมองระยะสั้น ไม่กว้างไกล มากกว่าจนอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการคิดระยะยาวมากพอ

เพื่อเอาชนะปัญหานี้ ผู้นำรุ่นใหม่ในอนาคตจำเป็นต้องมีความสามารถในการวางแผนที่สมจริงสำหรับระยะยาวเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กร ผมและทีมงานที่สถาบันการสร้างชาติได้วางกรอบการทำงานเพื่อช่วยผู้นำธุรกิจรุ่นใหม่พัฒนาวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ด้านธุรกิจเพื่อการสร้างชาติจากองค์ความรู้ทางธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

โดยกรอบการทำงานเหล่านี้จะให้ความสำคัญของการพัฒนาวิสัยทัศน์และการวางแผนในระยะยาว ผู้นำรุ่นใหม่จะได้รับการสอนและฝึกฝนให้ตระหนักและเข้าใจถึงอดีตที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นจริงในปัจจุบัน และความแน่ใจในสิ่งที่กำลังมุ่งไป ภายใต้มิติการมองไปยังอนาคตทั้งในระยะกลางและระยะไกล

นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ยังมีลักษณะเชิงบวกอื่นๆ ที่เอื้อต่อการพัฒนาวิสัยทัศน์ ได้แก่ การมองโลกในแง่ดี การเปิดเผยและกล้าแสดงออก เสรีนิยม ความร่าเริง รักสนุก การยินดีเปิดรับความคิดใหม่ๆ รวมถึงวิถีการใช้ชีวิตที่เน้นความสมดุลในชีวิตมากขึ้น

อนาคตของประเทศย่อมอยู่ในมือเยาวชนและคนรุ่นใหม่ เราจึงควรมีความเข้าใจพฤติกรรมและลักษณะเฉพาะของคนรุ่นนี้ เพื่อออกแบบระบบและสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการขยายศักยภาพของบุคคลเหล่านี้อย่างมากที่สุด โดยการสลายจุดอ่อน และสร้างจุดแข็งบนศักยภาพที่แต่ละคนมี

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com
http://www.kriengsak.com