อาหารที่ถูกทิ้ง (Food Waste) : ปัญหาท้าทายรัฐบาลฮ่องกง (ตอนที่ 1)

กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

การปรับตัวเพื่อรับมือกับปริมาณอาหารที่ถูกทิ้ง (Food Waste) ของรัฐบาลฮ่องกง ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญที่ประเทศทั่วโลกควรจับตามอง เพราะเมื่อดูจากปริมาณขยะที่ถูกทิ้งต่อวันในปีที่ผ่านมานั้น พบว่ากว่า 36 เปอร์เซ็นต์ของขยะทั้งหมดหรือ 9,278 ตัน คือปริมาณอาหารที่ถูกทิ้ง อันมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของขยะทั้งหมด ดังนั้นการตัดสินใจประกาศนโยบายของรัฐบาลเพื่อลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งลง 10 เปอร์เซ็นต์ใน 3 ปีข้างหน้า และ 40 เปอร์เซ็นต์ในปี 2022 นั้น ถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เหตุเพราะ ณ ปัจจุบัน ขยะในฮ่องกงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และ หากรัฐบาลฮ่องกงไม่มีนโยบายเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว มีแนวโน้มว่า ฮ่องกงอาจต้องเผชิญกับปัญหาขยะล้นเมืองในอนาคตเป็นแน่ ดังนั้น ในบทความนี้ผมจึงอยากนำเสนอ 2 แนวทางที่สำคัญของรัฐบาลฮ่องกงในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว

แนวทางที่ 1 : การผลักดันในระดับชุมชน

1. การลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้ง :

หากต้องการลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งควรเริ่มต้นจากประชาชนของประเทศเป็นอันดับแรก เหตุเพราะกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของอาหารที่ถูกทิ้งในฮ่องกง เกิดมาจากการทิ้งของภาคครัวเรือนเป็นหลัก ดังนั้น ประชาชนชาวฮ่องกงจึงจำเป็นต้องปรับวิถีชีวิตและทัศนคติใหม่เกี่ยวกับอาหาร ทำอย่างไรจะสามารถสั่งอาหารอย่างพอดี ไม่ซื้ออาหารมากเกินไป หรือเตรียมอาหารมากเกินไปจนเป็นเหตุให้ต้องทิ้งในที่สุด และเมื่อประชาชนทุกคนตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จะก่อให้เกิดค่านิยมใหม่ๆ ที่ดีในสังคม ทั้งนี้สิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้การรณรงค์ในระดับชุมชนนี้สำเร็จ คือโครงการรณรงค์การลดอาหารที่ถูกทิ้งในชุมชน อาทิ โครงการ วิช ฮ่องกง (Wish Hong Kong Campaign) อันเป็นโครงการที่ให้ความรู้กับประชาชนในทุกระดับเกี่ยวกับวิธีการลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งอย่างถูกวิธีในครัวเรือน เป็นต้น

2. การบริจาคอาหาร :

แทนที่จะทิ้งอาหารเพราะ ไม่สามารถบริโภคหมดได้ตามเวลา หรือซื้อมาเกินความจำเป็น การบริจาคอาหารคือสิ่งหนึ่งที่ชาวฮ่องกงเริ่มให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริจาคอาหารที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในกลุ่ม NGO อาทิ ฟีดดิ่ง ฮ่องกง (Feeding Hong Kong) ธนาคารอาหารในฮ่องกงที่เน้นการแจกจ่ายอาหารส่วนเกินกลับสู่ประชาชนที่หิวโหยผ่านความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งนี้จากการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอาหารของกลุ่ม ฟีดดิ่ง ฮ่องกง ได้ส่งผลต่อปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งภายในเมืองฮ่องกงให้มีอัตราลดลง ทั้งนี้นอกจากกลุ่ม ฟีดดิ่ง ฮ่องกง ที่เน้นการช่วยเหลือประชาชนที่หิวโหย และการแก้ไขปัญหาเรื่องอาหารที่ถูกทิ้งในฮ่องกง ยังคงมีกลุ่ม NGO และภาคประชาสังคมอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ โครงการช่วยเหลือทางอาหาร ฟูด แองเจิล (Food Angel Food Rescue& Assistance Program) ที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินนโยบายคล้ายคลึงกันเพื่อต้องการให้ประชาชนภายในเมืองตระหนักถึงปัญหาความยากจน ความไม่มั่นคงทางอาหารในฮ่องกง และปัญหาด้านอาหารที่ถูกทิ้ง เป็นต้น

แนวทางที่ 2 : การคัดแยกอาหารที่ถูกทิ้ง และการคิดเงินค่าขยะตามปริมาณ

1. การคัดแยกอาหารที่ถูกทิ้ง

การคัดแยกอาหารที่ถูกทิ้ง คือ วิธีที่จะช่วยให้การรีไซเคิลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะอาหารที่ถูกทิ้งที่ถูกเจือปนด้วยสารเคมีอื่นๆ จะไม่สามารถทำการรีไซเคิลได้ ดังนั้นทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นครัวเรือน โรงงาน ร้านอาหารหรือสถานที่ใดๆ ควรคัดแยกอาหารที่ถูกทิ้งเพื่อที่ว่า อาหารเหล่านั้นจะสามารถถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ ดังนั้นประชาชนควรมีจิตสำนึกในการคัดแยกอาหารที่ถูกทิ้งร่วมกันจึงจะสามารถลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งลงได้อย่างแท้จริง

2.การคิดเงินค่าขยะตามปริมาณ

เมื่อพิจารณาจากเมืองอื่นๆ ที่มีปัญหาด้านอาหารที่ถูกทิ้งเหมือนกัน อาทิ กรุงไทเป หรือกรุงโซล แสดงให้เห็นว่า การเก็บราคาขยะตามปริมาณเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเห็นคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงฮ่องกงเช่นกันที่การเก็บราคาขยะตามปริมาณมีส่วนสำคัญในการลดปริมาณอาหารที่ถูกทิ้ง ให้มีแนวโน้มลดลงจาก 10 เปอร์เซ็นต์ในปี 2017 เป็น 15 เปอร์เซ็นต์ในปี 2022 และที่สำคัญแนวคิดในการเก็บราคาขยะตามปริมาณยังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนฮ่องกงส่วนใหญ่ในปี 2012 อีกด้วย

บทเรียนสำหรับประเทศไทยและทั่วโลก : ณ ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าประชากรกว่าหลายร้อยล้านคนทั่วโลกต้องตกอยู่ในสภาวะขาดแคลนอาหาร อาหารที่ถูกผลิตได้บนโลกกว่า 1 ใน 3 กลับถูกทิ้งลงถังขยะอย่างไร้ความหมาย ทั้งนี้ปริมาณอาหารที่ถูกทิ้ง คือหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญอันส่งผลทำให้หลายๆ เมืองทั่วโลก ต้องเผชิญกับปัญหาขยะล้นเมือง อาทิ เมืองนิวเม็กซิโก เป็นต้น ดังนั้นหากประเทศต่างๆ สามารถนำแนวทางการแก้ปัญหาของฮ่องกงมาประยุกต์ใช้กับประเทศของตน แน่นอนว่าความมั่นคงทางอาหารในประเทศจะมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงปริมาณขยะที่จะมีแนวโน้มที่ลดลงตามไปด้วย ดังนั้นสำหรับประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้ คือการประยุกต์ใช้หลักการคัดแยกอาหารที่ถูกทิ้ง การคิดเงินค่าขยะตามปริมาณ และหลักการพัฒนาชุมชนให้มีหลักคิดเกี่ยวกับอาหารตามแบบอย่างของฮ่องกง เพราะถึงแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยอาจจะยังไม่เผชิญกับปัญหาอาหารที่ถูกทิ้งเทียบเท่าฮ่องกง แต่การพัฒนาประเทศเพื่อรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ถือเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างมีวิสัยทัศน์

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.wasteminz.org.nz/wp-content/uploads/food-waste1.jpg