ปัญหาซับไพร์ม...ผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
แม้ปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยประเภทต่ำกว่ามาตรฐาน (ซับไพร์ม) ได้เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่การประเมินผลกระทบของปัญหานี้ต่อเศรษฐกิจยังคงทำได้จำกัด ทั่วโลกยังจับตาดูผลที่เกิดขึ้นจากนโยบายของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปว่า จะเป็นอย่างไรต่อไปและจะจำกัดขอบเขตการลุกลามของปัญหานี้ได้หรือไม่ ด้วยเหตุนี้นักลงทุนและรัฐบาลทั่วโลกจึงยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของปัญหาซับไพร์มที่มีต่อเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนทั้งในสหรัฐฯและทั่วโลก
ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมองปัญหาที่เกิดขึ้นจากซับไพร์มในแง่บวกมากเกินไป หากพิจาณาจากความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องที่แสดงความเห็นว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นคงมีขอบเขตจำกัดและเกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากมีธนาคารของไทยเพียง 4 แห่งที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสินเชื่อซับไพร์มรองรับ และมีเงินลงทุนในวงจำกัดเท่านั้น หรือคิดเป็นจำนวนเพียงร้อยละ 0.1 ของเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นของทั้ง 4 ธนาคารดังกล่าว ความคิดดังกล่าวดูเหมือนว่าจะให้ความสนใจตลาดการเงินเป็นหลัก แต่ยังขาดการพิจารณาผลกระทบที่จะเชื่อมโยงต่อภาคธุรกิจจริง
ความเห็นส่วนตัวของผมคิดว่า แม้ปัญหาซับไพร์มอาจจะยังไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แต่ในปีหน้า ประเทศไทยอาจจะต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ไม่ว่าทางการของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปจะสามารถหยุดยั้งความตื่นตระหนกของนักลงทุนต่อปัญหานี้ได้หรือไม่ เนื่องจาก
ในกรณีที่ทางการสหรัฐฯและสหภาพยุโรปไม่สามารถหยุดยั้งภาวะตื่นตระหนกของนักลงทุนได้ เป็นที่แน่นอนว่าเศรษฐกิจโลกจะประสบกับภาวะถดถอยทั่วโลก เพราะนักลงทุนจะถอนเงินทุนออกจากตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ทำให้ปัญหาลุกลามและขยายตัวอย่างรวดเร็ว
แต่ในกรณีที่สามารถหยุดความตื่นตระหนกได้ ถึงกระนั้นปัญหาหนี้เสีย (NPL) ในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีอยู่ เพราะหากสินเชื่อซับไพร์มร้อยละ 25 เป็นหนี้เสีย จะมีมูลค่ามหาศาลคิดเป็น 3.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 2.36 ของรายได้ประชาชาติของสหรัฐทีเดียว ปัญหานี้จะทำให้การบริโภคและการลงทุนในสหรัฐฯชะลอตัวลง เนื่องจากปัจจัยที่เป็นผลกระทบกันเป็นลูกโซ่ดังต่อไปนี้
หนึ่ง เกิดภาวะสินเชื่อตึงตัว อันเกิดจากสถาบันการเงินระงับการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง และกองทุนต่าง ๆ ถอนตัวจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่เกี่ยวกับสินเชื่อซับไพร์ม
สอง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อซับไพร์มและสินเชื่อทั้งระบบสูงขึ้น
สาม ทำให้ลูกหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) เพิ่มขึ้น
สี่ ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคตกต่ำลง
ผลกระทบจะไม่เพียงเกิดในสหรัฐเท่านั้น แต่จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกด้วยโดยเฉพาะสหภาพ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในสหรัฐ เนื่องจากการขาดทุนหรือผลตอบแทนที่ลดลงจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่เกี่ยวกับสินเชื่อซับไพร์ม จะทำให้การบริโภคและการลงทุนในประเทศเหล่านี้ชะลอตัวลง ผลที่เกิดขึ้นจะทำให้การส่งออกของไทยไปยังประเทศเหล่านี้ชะลอตัวลงด้วย
เมื่อการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯและประเทศอื่น ๆ ที่กล่าวมา มีปัญหาการชะลอตัว จะทำให้การส่งออกในภาพรวมมีปัญหาด้วย เนื่องจากประเทศเหล่านี้คู่ค้าสำคัญของไทยทั้งสิ้น และที่ผ่านมาประเทศเหล่านี้ยังคงขยายตัวได้ดี จึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยสามารถขยายตัวได้ดีตามไปด้วย แม้ว่าไทยต้องเผชิญกับปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าก็ตาม
ในปีหน้าผลกระทบของปัญหาซับไพร์มจะทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงจากปีนี้ เพราะจะทำให้เครื่องยนต์การส่งออกจะไม่ขยายตัวแรงเหมือนกับปีนี้ ประกอบกับการลงทุนและการบริโภคในประเทศจะยังคงไม่ฟื้นตัวต่อไป เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนยังไม่ฟื้นคืนมามากนัก ด้วยเหตุที่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับรัฐบาลใหม่ในอนาคตว่าจะมีเสถียรภาพหรือไม่ ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติศาสตร์ถึงร้อยละ 30 ของรายได้ประชาชาติ ซึ่งจะทำให้ประชาชนชะลอการบริโภค เพื่อชำระคืนหนี้
นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอาจยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากนักลงทุนจากต่างประเทศยังมีความกังวลต่อท่าทีของรัฐบาลไทยต่อต่างชาติในประเด็นต่าง ๆ อาทิ พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการต่างด้าว ปัญหาเรื่องสิทธิบัตรยา ฯลฯ และยังไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลกระทบของปัญหาซับไพร์มจึงอาจจะตัดสินใจถือเงินสดหรือทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องสูงไว้มากกว่าการลงทุนโดยตรง
รัฐบาลปัจจุบันและธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาทำหน้าที่ในอนาคต ควรเตรียมมาตรการรองรับปัญหานี้ โดยเน้นการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะการใช้จ่ายของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเร่งลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และเตรียมเครื่องมือรับความผันผวนของค่าเงิน ตลอดจนเร่งแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ มากขึ้น
* นำมาจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพุธที่ 5 กันยายน 2550
Catagories:
Tags:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2007-09-05
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 115 ครั้ง
สว. 2567 คนแบบคุณก็เป็นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน
Total views: อ่าน 152 ครั้ง
ที่ดิน ส.ป.ก. ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุน และนักการเมือง
Total views: อ่าน 148 ครั้ง
เปลี่ยนเงินหวย เป็น 'สลากออมทรัพย์'
Total views: อ่าน 3,426 ครั้ง
แนวทางการพัฒนา ทุนมนุษย์ สำหรับประเทศไทย
Total views: อ่าน 1,460 ครั้ง