Work - Life Integration: การบูรณาการงานและชีวิตให้มีความสุข

การทำงานเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์ทุกคน เมื่อเราเติบโตพ้นวัยเด็ก เราจะเข้าสู่ “วัยทำงาน” ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ยาวนานที่สุด อาจจะมากกว่าครึ่งชีวิต ในการทำงานถ้าทำงานเพื่อเงิน โดยที่ไม่เห็นคุณค่าหรือไม่ได้ชอบงานที่ทำ ย่อมไม่มีความสุขในการทำงาน และถ้าเราไม่สามารถบูรณาการระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวได้อย่างกลมกลืน อย่างมีประสิทธิภาพ แม้มีเวลามากก็อาจไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตได้
“งาน” ในความหมายของผม หมายถึง การรับจิตสำนึก (Inner Calling) โดยให้น้ำหนักคำว่า (Vocation) เป็นเสียงเรียกในจิตใจให้อุทิศตัวมากที่สุด โดยรับมาอย่างตั้งใจจะประกาศให้ทราบทั่วกันว่า จะอยู่ในเรื่องนี้ ลงมือทำเหมือนเป็นสัญญา และพยายามอย่างถึงที่สุดจนกว่าจะเกิดผลลัพธ์ กล่าวได้ว่า


     สิ่งที่ขับเคลื่อนให้ทำงาน คือ จิตสำนึก (ไม่ใช่เงินทอง, ชื่อเสียง ฯลฯ)
     ความรู้สึกต่องาน คือ ความรักงาน (ไม่ใช่ เกลียดงาน ปฏิเสธงาน)
     การตัดสินใจเลือกงาน คือ การเลือกสิ่งที่มีคุณค่า (ไม่ใช่ สิ่งที่มีมูลค่า)
     เป้าหมายของการทำงาน คือ การ “สร้างชีวิต” (ไม่ใช่เพื่อ “สร้างเนื้อ สร้างตัว”)
     ผลลัพธ์ของการทำงาน คือ ความสุข ชีวิตที่มีคุณค่าและความหมาย (ไม่ใช่ ตรากตรำ จำใจ)


เราจึงไม่ควรเลือกงานที่ “เงิน” หรือปัจจัยภายนอกอื่น ๆ แต่ควรเลือกงานที่คุณค่า และ สะท้อนตัวตนของเรา ทั้งการได้แสดงออกซึ่งศักยภาพ ความรู้ความสามารถ งานที่มีคุณค่าที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น และสังคมส่วนรวม เป็นงานที่ดีงาม เพื่อให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ และสมศักดิ์ศรีของชีวิตที่ได้เกิดมาเพื่อทำงานนั้น

ปัญหาที่ผ่านมาโดยตลอด คือ การที่พยายามแยกส่วนระหว่าง การทำงาน กับ การใช้ชีวิตส่วนตัว โดยมองว่า งาน คือ งาน เราทำงานเพื่อแลกกับผลตอบแทน เพื่อให้ได้เงิน ได้สวัสดิการ นำมาเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว และเวลาส่วนที่เหลือจากงาน คือ เวลาส่วนตัว หรือ เวลากับครอบครัว ซึ่งเป็นเวลาที่เราใช้อย่างมีความสุขมากกว่า ในมุมมองของผม งาน กับ ชีวิต สามารถบูรณาการร่วมกันได้ โดยในหนังสือ ข้อคิดเพื่อการทำงาน ผมได้นิยามการทำงานของผมไว้ว่า “การบูรณาการ ระหว่าง สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เราพูด และสิ่งที่เราทำ ทั้งสี่สิ่งนี้ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงสัมผัสมิติความสำเร็จ ที่ได้ใช้ศักยภาพสูงสุดที่มีอยู่ในชีวิตออกมา” ผมจึงเสนอแนวทางการ บูรณาการชีวิตและการทำงาน ทำได้ดังต่อไปนี้
 

1.บูรณาการเป้าหมาย คือ การบูรณาการเป้าหมายชีวิตส่วนตัวให้สอดรับ สอดคล้องกับเป้าหมายในการทำงาน โดยเป้าหมายของชีวิตกับงานคือสิ่งเดียวกัน เป็นการเลือกทำสิ่งที่ผสานและเชื่อมโยงระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวมได้ เมื่อทำเรื่องส่วนตัว มีผลทำให้ส่วนรวมได้ประโยชน์ด้วย ดังโมเดล 4 Wins (ส่วนตัว ส่วนร่วม ส่วนเรา ส่วนรวมชนะ) ในยามปกติ และ โมเดล 3 Wins (ยอมสละส่วนตัว) ในยามวิกฤตของผม
 

2. บูรณาการความสัมพันธ์ คือ การบูรณาการระหว่างคนในชีวิตกับคนในที่ทำงาน คือ การร่วมชีวิต ร่วมงานกับคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เป็นการรวมพลัง เพื่อจะทำให้เป้าหมายที่มีบรรลุและสำเร็จได้เร็วขึ้น หากมีเพื่อนร่วมงาน เพื่อนสนิท คู่ชีวิตที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ย่อมทำให้เกิดการประสานพลังทางบวกทั้งเสริมสร้างและสนับสนุนกันในทุกมิติของชีวิต
 

3. บูรณาการเวลา คือ การไม่แยกเวลาทำงานกับเวลาส่วนตัวออกจากกัน แต่เป็นการผสานและผนึกเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เน้นความยืดหยุ่น โดยที่ในแต่ละช่วงเวลา ต้องฉวยโอกาสทำสิ่งต่าง ๆ ให้ได้มากกว่า 1 อย่าง กล่าวได้ว่าเวลางานจึงเป็นทั้งเวลาทำงาน เวลาส่วนตัว เวลาพักผ่อน เวลาแห่งความสุข หากบูรณาการเวลาได้ จะไม่มีการเกษียณอายุ

4. บูรณาการศักยภาพ คือ การบูรณาการศักยภาพ หมายถึง การเชื่อมโยงความสามารถกับตัวตนตามเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ที่มี โดยผสานสิ่งที่คิด สิ่งที่เป็น สิ่งที่พูด สิ่งที่ทำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จนเกิดการทำงานอย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงยินดีพัฒนาตัวเอง ขยายศักยภาพทุกมิติเพื่อการใช้ชีวิตในการทำงาน
 

5. บูรณาการทรัพย์สินเงินทอง คือ การนำเอาทรัพยากรที่มีในชีวิต มาใช้เพื่อการทำงาน ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ เก็บทรัพย์สินเงินทองไว้ใช้เพื่อหาชีวิตส่วนตัวเพียงอย่างเดียว ในที่นี้ รวมถึงการพยายามทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อหาทรัพย์สินเงินทองให้มากที่สุด แต่ใช้เพื่อตัวเองเท่าที่จำเป็นอย่างน้อยสุด ดังคาถาเศรษฐีที่ผมเคยให้ไว้: หาให้มากที่สุด ใช้เพื่อตัวเองน้อยที่สุด บริจาคมากที่สุด
 

ผมเป็นคนที่เอาชีวิตไว้ตรงกลาง แล้วเอางานมาล้อมชีวิต โดยเลือกงานที่ “คุณค่า” ในเนื้อแท้ของงาน เป็นงานที่มีประโยชน์และเห็นคุณค่าที่จะเกิดขึ้นแก่ส่วนรวม จึงทำให้ผมทำงานอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง ไม่เคยเห็นงานเป็นส่วนเกินของชีวิต

ในขณะเดียวกัน ผมก็เห็นคุณค่าของการใช้เวลากับครอบครัว การใช้เวลาเพื่อการพักผ่อน จึงทำไปด้วยพร้อม ๆ กันไม่เคยคิดแยกส่วนชีวิตงานกับชีวิตส่วนตัว แต่บูรณาการเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ไปด้วยกันอย่างกลมกลืน สำหรับผมวันหยุดก็คือวันทำงาน วันที่ใช้เวลากับครอบครัวก็คือวันทำงาน เพราะเมื่อผมมีความสุขกับการทำงาน และเห็นคุณค่าในงานที่ทำ จึงเต็มใจที่จะทำงานในทุกที่ ทุกเวลา หากเราเรียนรู้ที่จะบูรณาการงานกับชีวิตได้อย่างลงตัว เราย่อมใช้ชีวิตได้อย่างคุ้มค่าและมีความสุข ไม่ว่าวันหยุดหรือวันทำงาน
 

 

นิตยสาร Mix


ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com