เป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมไปด้วยกันได้หรือไม่
แหล่งที่มาของภาพ : http://us.123rf.com/400wm/400/400/mariusz_prusaczyk/mariusz_prusaczyk1303/mariusz_prusaczyk130300158/18282477-3d-goal-together-crossword-on-white-background.jpg
ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งความถดถอยทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นแรงกดดันที่ทำให้รัฐบาลของประเทศเหล่านี้จำเป็นจะต้องหันมาทบทวนเกี่ยวกับแนวคิดและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ
ปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงแรงกดดันดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายประเทศ ตัวอย่างเช่น การตัดลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ในระดับสูงมาก และมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การสิ้นสุดของมาตรการลดหย่อนภาษีและการเริ่มต้นของแผนการตัดลดรายจ่ายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ทั้งสองเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมกันในช่วงสิ้นปี 2012 ทำให้ความวิตกว่าจะเกิดภาวะหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) ซึ่งคาดว่าจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจถดถอย อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น และบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน
วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับสองขั้วมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก คือ สหรัฐฯและสหภาพยุโรป แสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลของรูปแบบการบริหารจัดการเศรษฐกิจของทั้งสองขั้วมหาอำนาจ ซึ่งมีรูปแบบที่ค่อนข้างแตกต่างกัน มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน แต่ก่อให้เกิดปัญหาคล้ายคลึงกัน
ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเป็นระบบทุนนิยมเสรี ซึ่งก่อให้เกิดประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขัน แต่ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มขึ้น ความไม่รับผิดชอบต่อสังคมและความฉ้อฉลที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจ ตลอดจนอิทธิพลของบรรษัทขนาดใหญ่ในการกำหนดนโยบายของภาครัฐที่เอื้อต่อภาคธุรกิจ
วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์อันเกิดจากการดำเนินธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูงของภาคธุรกิจการเงิน จนทำให้บรรษัทขนาดใหญ่ประสบกับภาวะล้มละลาย ส่งผลทำให้รัฐบาลต้องอัดฉีดเงินเข้าไปอุ้มบรรษัทเหล่านั้น และอัดฉีดงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จนทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณเป็นจำนวนมาก
ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจของยุโรป รัฐบาลมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากกว่าและมีความเป็นรัฐสวัสดิการมากกว่าระบบเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งมีข้อดีในแง่ของการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่อาจบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากอัตราภาษีที่สูงมากทำให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนการประกอบการสูง และทำให้คนรวยมีแรงจูงใจที่จะออกไปนอกประเทศ ในขณะที่ภาครัฐมีขีดจำกัดในการจัดสรรสวัสดิการแก่ประชาชน และมีแนวโน้มขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
การที่ภาครัฐมีรายจ่ายในการจัดสวัสดิการให้แก่ประชาชนค่อนข้างสูง แต่การจัดเก็บรายได้มีปัญหาอันเนื่องจากความถดถอยของขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ส่งผลทำให้เกิดภาวะขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่องและมีหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นจนกลายเป็นวิกฤตหนี้สาธารณะในที่สุด
หากพิจารณาแนวคิดของระบบเศรษฐกิจทั้งสองรูปแบบด้วยกรอบแบบอนุรักษ์นิยม ดูเหมือนว่า ระบบเศรษฐกิจทั้งสองแบบให้ความสำคัญกับเป้าหมายที่แตกต่างกัน ระบบทุนนิยมเน้นเป้าหมายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่ระบบรัฐสวัสดิการเน้นเป้าหมายทางสังคมเป็นหลัก และเป้าหมายทั้งสองดูเหมือนมีความขัดแย้งกัน การดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายหนึ่งจะจำกัดความสำเร็จของอีกเป้าหมายหนึ่ง หรือมีลักษณะ ?ได้อย่างเสียอย่าง?
ในความเป็นจริงแล้ว รัฐบาลของประเทศต่างๆ พยายามสร้างสมดุลของเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ก็มีลักษณะผสมผสาน บางประเทศมีความพยายามสร้างรูปแบบการบริหารจัดการแบบใหม่ๆ เพื่อให้เป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมไปด้วยกันได้
ประเทศในกลุ่มนอร์ดิก (สวีเดน เดนมาร์ค นอร์เวย์ และฟินด์แลนด์) ได้รับการยกย่องว่าจะกลายเป็นแบบอย่างของการปฏิรูปเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากประเทศเหล่านี้ถูกจัดอยู่อันดับต้นๆ ของการจัดอันดับทั้งด้านความสามารถในการแข่งขันและคุณภาพสังคม รวมทั้งยังสามารถหลีกหนีจากภาวะความเสี่ยงทางการคลังที่หลายประเทศในสหภาพยุโรปกำลังเผชิญได้อีกด้วย
ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกสามารถลดขนาดของภาครัฐ ลดสัดส่วนหนี้สาธารณะ และลดการขาดดุลงบประมาณลงได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ยังสามารถจัดสวัสดิการให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างประเทศสวีเดนที่มีสัดส่วนงบประมาณต่อจีดีพีลดลงจากร้อยละ 67 ในปี 1993 เหลือร้อยละ 49 ในปี 2010 ในช่วงเวลาเดียวกัน หนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลงจากร้อยละ 70 เหลือร้อยละ 37 และการขาดดุลงบประมาณลดลงจากติดลบร้อยละ 11 เหลือติดลบร้อยละ 0.3
แนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดสวัสดิการของประเทศในกลุ่มนี้เกิดจากการสนับสนุนบทบาทของภาคเอกชนและนำกลไกตลาดมาใช้ในการจัดบริการด้านสวัสดิการให้แก่ประชาชน เช่น ประเทศเดนมาร์คและนอร์เวย์อนุญาตให้บริษัทเอกชนเข้ามาบริหารโรงพยาบาลรัฐ ส่วนสวีเดนและเดนมาร์คให้มีการแข่งขันในการจัดบริการด้านการศึกษา โดยการแจกคูปองการศึกษาให้ประชาชนสามารถเลือกเรียนได้ทั้งโรงเรียนของรัฐและเอกชน
รัฐบาลของกลุ่มนอร์ดิกยังให้ความสำคัญกับความโปร่งใส โดยการพัฒนาตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของโรงเรียนและโรงพยาบาล และเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของทางการได้อย่างสะดวก ซึ่งส่งผลทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบรัฐบาลมากขึ้น และทำให้รัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลของประเทศในกลุ่มนี้ยังให้ความสำคัญกับผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนมากขึ้น โดยสังเกตได้จากการลดอัตราภาษีนิติบุคคล การยอมให้บริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศล้มละลายหรือถูกซื้อกิจการไปโดยที่รัฐบาลไม่เข้าไปอุ้ม (เช่น Saab และ Volvo) หรือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาฝีมือแรงงานที่ถูกปลดจากงาน และการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการพัฒนาธุรกิจที่มีนวัตกรรม
การปฏิรูประบบบำนาญผู้สูงอายุ โดยเปลี่ยนจากระบบที่กำหนดผลประโยชน์ที่ชัดเจน (defined-benefit system) เป็นการกำหนดเงินสมทบที่ชัดเจน (defined-contribution system) และการกำหนดผลประโยชน์ที่ยืดหยุ่นตามอายุขัยเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดภาระงบประมาณและสร้างเสถียรภาพทางการคลังของประเทศในกลุ่มนอร์ดิก
ประเทศสิงคโปร์เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถเป็นแบบอย่างของการบริหารเศรษฐกิจที่สามารถทำให้เป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมเกิดขึ้นพร้อมกันได้
สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจต่ำ เนื่องจากอัตราภาษีนิติบุคคลที่ต่ำและภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ รวมทั้งมีกฎระเบียบและกลไกต่างๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการจัดตั้งกิจการในประเทศ รัฐบาลสิงคโปร์ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรในประเทศ และการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีและธุรกิจบริการ
ในขณะเดียวกัน สิงคโปร์ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสิทธิภาพและความโปร่งใสของภาครัฐ สังเกตได้จากการจัดอันดับความโปร่งใสนานาชาติที่สิงคโปร์ติดอันดับต้นๆ ของโลกทุกปี
นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังจัดระบบสวัสดิการที่มีความยั่งยืน โดยเฉพาะการบังคับออมหรือการกำหนดสัดส่วนของรายได้ที่ประชาชนต้องออมในกองทุนที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งทำให้ประชาชนมีหลักประกันโดยไม่เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินมากเกินไป
ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกและสิงคโปร์เป็นต้นแบบที่ทำให้เห็นว่า การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถเดินไปพร้อมกันได้ โดยการดำเนินการที่ชาญฉลาด สร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส
จากต้นแบบดังกล่าวยังแสดงให้เห็นทิศทางของโลกว่ามีแนวโน้มที่รัฐบาลประเทศต่างๆ จะลดบทบาทตัวเองในระบบเศรษฐกิจลง แต่เปลี่ยนเป็นการสนับสนุนบทบาทของภาคเอกชนในระบบเศรษฐกิจ หรือแม้แต่บทบาทในการจัดบริการสาธารณะมากขึ้น บทบาทของรัฐบาลจะมุ่งเน้นไปสู่การสร้างความสามารถในการแข่งขันของแรงงานและภาคธุรกิจมากขึ้น
ซึ่งดูเหมือนแตกต่างจากทิศทางของรัฐบาลไทยที่พยายามเพิ่มบทบาทของรัฐในระบบเศรษฐกิจและการจัดบริการสาธารณะ และลดบทบาทของประชาชนในการดูแลตัวเองลง
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
Catagories:
Tags:
Post date:
Tuesday, 28 May, 2013 - 17:16
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 115 ครั้ง
สว. 2567 คนแบบคุณก็เป็นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน
Total views: อ่าน 152 ครั้ง
ที่ดิน ส.ป.ก. ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุน และนักการเมือง
Total views: อ่าน 148 ครั้ง
เปลี่ยนเงินหวย เป็น 'สลากออมทรัพย์'
Total views: อ่าน 3,426 ครั้ง
แนวทางการพัฒนา ทุนมนุษย์ สำหรับประเทศไทย
Total views: อ่าน 1,457 ครั้ง