พัฒนาความเป็นเมือง...พัฒนาประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ
สถานการณ์ของประเทศไทยที่ถูกประกบด้วยประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากกว่า เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น และประเทศกำลังพัฒนาที่จะก้าวขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก คือ จีน อินเดีย และเวียดนาม ทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่แข่งขันได้ลำบากขึ้น
การสร้างความเป็นเมือง (Urbanization) อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำพาประประเทศออกจากภาวะที่ถูกขนาบดังกล่าว เนื่องจากอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งของไทยในการพัฒนาประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ คือ อัตราการขยายตัวของความเป็นเมืองของไทยต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย
ความหมายและอาณาเขตของเมืองในทางกฎหมาย เป็นไปเพื่อการแบ่งพื้นที่เพื่อความสะดวกในการปกครอง กรณีประเทศไทยแบ่งเขตเมืองและชนบท โดยใช้อาณาเขตของเทศบาลเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน ซึ่งหลักเกณฑ์หนึ่งที่ใช้ในการจำแนกว่าพื้นที่หนึ่ง ๆ เป็นเมืองหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของประชากร
สำหรับความหมายในทางเศรษฐศาสตร์อาจพิจารณาได้จาก กระบวนการก่อให้เกิดการรวมตัวเป็นเมือง คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อระบบเศรษฐกิจชนบทหนึ่ง ๆ ซึ่งมีลักษณะการกระจายตัวของประชากรที่เบาบางและค่อนข้างสม่ำเสมอทั่วพื้นที่ มีการใช้แรงงานอย่างเข้มข้นและค่อนข้างเป็นอิสระจากกัน เปลี่ยนเป็นระบบเศรษฐกิจเมืองที่มีลักษณะพื้นฐานตรงกันข้ามกัน กล่าวคือ มีการตั้งถิ่นฐานที่หนาแน่น ชำนาญงานเฉพาะอย่างในการผลิตสินค้าและบริการ พึ่งพาอาศัยระหว่างกันในหมู่ครัวเรือน หน่วยธุรกิจ และรัฐบาล และมีระดับของเทคโนโลยี นวัตกรรม และการเป็นผู้ประกอบการอยู่สูง
เหตุของการรวมตัวเป็นเมืองเกิดจากปัจจัยสองประการ ประการแรก คือ เหตุผลทางด้านอุปทาน หรือการรวมตัวเป็นเมืองที่เกิดจากแรงผลักด้านการผลิต ซึ่งเกิดจากส่วนผสมของการประหยัดจากขนาด (economy of scale) ความได้เปรียบทางด้านต้นทุน และความชำนาญเฉพาะอย่างทางการผลิต
การอยู่รวมกันของผู้ผลิตอย่างหนาแน่นจะทำให้เกิดการประหยัดจากขนาด เนื่องจากการผลิตและการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่มากขึ้น จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง และการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในเมืองจะมีความคุ้มค่า ทำให้บริการสาธารณูปโภคในเมืองมีความเพียงพอและมีคุณภาพสูง
ส่วนความได้เปรียบทางด้านต้นทุนเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ การประหยัดจากขนาด การขนส่งมีต้นทุนต่ำลงเพราะมีระยะทางการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบที่สั้นลง ความสามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตมากขึ้นเพราะอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำมาอยู่รวมกัน รวมทั้งได้ประโยชน์จากการเข้ามาตั้งของธุรกิจการศึกษา ซึ่งผลิตกำลังแรงงานที่ได้รับการศึกษาดีและมีความชำนาญสูง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ผลิต
ขณะที่ความชำนาญเฉพาะอย่างเกิดขึ้นเมื่อผู้ผลิตมารวมตัวกันหนาแน่น จะทำให้เกิดการแข่งขันและแบ่งงานกันทำมากขึ้น ผู้ผลิตแต่ละรายจะไม่ผลิตสินค้าและบริการที่ตนทำได้ไม่มีประสิทธิภาพ ผู้ผลิตที่มีความชำนาญเฉพาะอย่างในการผลิต จะสามารถได้ประโยชน์มากขึ้นจากการใช้ทุน แรงงาน และความรู้เฉพาะอย่าง
ประการต่อมา คือ เหตุผลทางด้านอุปสงค์ หรือการรวมตัวเป็นเมืองที่เริ่มจากแรงผลักด้านการบริโภค เนื่องจากการขยายตัวของจำนวนประชากรและรายได้ของชุมชนหนึ่ง ๆ จะทำให้อุปสงค์ในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระตุ้นให้เกิดการผลิตและการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น ในที่สุด หากอุปสงค์ในท้องถิ่นมีจำนวนมากเพียงพอจะทำให้เกิดการผลิตในท้องถิ่นเพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าจากพื้นที่อื่น
แรงผลักด้านการผลิตและแรงผลักด้านการบริโภคจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพราะการรวมตัวของผู้ผลิตในพื้นที่หนึ่ง ๆ จะดึงดูดกำลังแรงงานให้เข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่หนึ่ง ๆ จะทำให้เกิดอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการ ซึ่งจะดึงดูดการลงทุนในพื้นที่นั้นมากขึ้น เมื่อสถานประกอบการมีความต้องการแรงงานมากขึ้น สถาบันการศึกษาจะถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อผลิตบุคลากรตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการ ซึ่งจะดึงดูดคนให้เข้ามาทำการศึกษาและจบออกมาประกอบอาชีพในพื้นที่นั้น ทำให้เมืองและเศรษฐกิจยิ่งขยายตัวมากขึ้น
อย่างไรก็ตามหากปล่อยให้การพัฒนาพื้นที่เป็นไปโดยธรรมชาติ จะก่อให้เกิดการพัฒนาแบบกระจุกตัว กล่าวคือ เมืองใหญ่จะยิ่งขยายตัวใหญ่ขึ้น ขณะที่ชนบทยังคงล้าหลังอยู่ต่อไป
ภาครัฐจึงควรส่งเสริมการกระจายอำนาจและความเจริญลงสู่ท้องถิ่นมากขึ้น เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนให้เกิดความเป็นเมืองและการผลิต การพัฒนาสถาบันการศึกษาในชนบทให้มีคุณภาพ การกระจายบุคลากรที่มีคุณภาพของภาครัฐไปทำงานในชนบทโดยไม่ถือว่าเป็นการลงโทษ เป็นต้น
ถึงแม้ว่าการส่งเสริมความเป็นเมืองต้องแลกกันระหว่างผลกระทบด้านบวกและด้านลบ แต่หากการบริหารจัดการเมืองมีประสิทธิภาพ เช่น มีการวางผังเมืองที่ดี มีมาตรการควบคุมมลพิษที่มีประสิทธิภาพ มีการจัดการอาชญากรรมที่เข้มงวด และมีการจัดการระบบจราจรที่ดี เป็นต้น ผลทางด้านบวกน่าจะมากกว่า และสามารถควบคุมผลทางด้านลบได้
Catagories:
เผยแพร่:
หนังสือพมพ์ไทยนิวส์
เมื่อ:
2007-06-26
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
สารพัดมรสุมรุมเร้า SMEs: ทางออกอยู่ที่ไหน
Total views: อ่าน 167 ครั้ง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 247 ครั้ง
สว. 2567 คนแบบคุณก็เป็นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน
Total views: อ่าน 217 ครั้ง
ที่ดิน ส.ป.ก. ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุน และนักการเมือง
Total views: อ่าน 203 ครั้ง
เปลี่ยนเงินหวย เป็น 'สลากออมทรัพย์'
Total views: อ่าน 3,456 ครั้ง