?พหุเอกานิยม? ค่านิยมต้องปลูกฝังในเด็กไทย
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com
การชุมนุมประท้วงทางการเมืองมาหลายปีนี้ตั้งแต่เสื้อเหลืองจนเกิดขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มีนาคม 2552 เมื่อกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต่อต้านการเผด็จการทางทหาร ต่อต้านรัฐบาลที่เชื่อว่ามีกลุ่มพันธมิตรฯ และทหารหนุนหลัง รวมทั้ง กลุ่มคนที่ชื่นชอบ พันตำรวจโททักษิณ อดีตนายกฯ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมตัวกันปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล และศาลากลางจังหวัด 42 จังหวัด
ผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลให้เด็กและเยาวชนจะซึมซับเอาความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ไว้ได้ ซึ่งสามารถรับได้ง่ายจากการนำเสนอข่าวผ่านโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีผู้ใหญ่บางคนได้นำเด็กและเยาวชนเข้าร่วมในเหตุการณ์ความขัดแย้ง โดยไม่ได้อธิบายให้กับเด็กและเยาวชนได้เข้าใจว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ควรตอบโต้อีกฝ่ายด้วยความรุนแรงไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด และไม่ควรฟังความข้างเดียว เพราะจะนำไปสู่ความมีอคติจนเกิดเป็นความเกลียดชังอีกฝ่าย ซึ่งอาจจะนำสู่การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงของเด็กและเยาวชนในอนาคต
ฉะนั้นแล้ว สถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิดและการกระทำของกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม เป็นสิ่งที่ควรมีการศึกษา เรียนรู้ และระแวดระวังในการประเมินผลกระทบต่อคนในสังคม วิเคราะห์และหาแนวทางในการสอนและปลูกฝังจากสถานการณ์เหล่านี้อย่างถูกต้องเหมาะสม อันเป็นการวางรากฐานความคิดและค่านิยมให้กับเด็กและเยาวชนไทยที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยและสังคมโลกที่มีต่อเนื่อง
ผมเขียนหนังสือ ldquo;สังคมพหุเอกานิยม (Unified Pluralistic Society): เอกภาพท่ามกลางความหลากหลายrdquo; เมื่อปี พ.ศ.2543 เพราะต้องการเห็นคนไทยมีความเป็นเอกภาพ และยอมรับความแตกต่างโดยไม่แตกแยก เป็นสังคมที่ยอมรับความหลากหลาย อันจะก่อเกิดการผสมเกสรทางปัญญา และเป็นฐานในการพัฒนาองค์ความรู้เชิงสร้างสรรค์จากความหลากหลาย
สังคมพหุเอกานิยมจะเกิดขึ้นได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการวางรากฐานที่ดีในสถานศึกษา โดยการสอดแทรกเนื้อหาที่สอนให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แม้มีความแตกต่าง อีกทั้ง ในระบบการศึกษาในโรงเรียน ต้องเน้นความเสมอภาค ไม่ลำเอียง เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนแสดงออกได้ตามความถนัดและความสนใจ การพัฒนาหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้นักเรียนเกิดทักษะการคิดอย่างมีเหตุผล และการแสดงออกถึงความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างเหมาะสม การปลูกฝังสิทธิและหน้าที่ของตนในระบอบประชาธิปไตย เคารพกฎหมายบ้านเมือง ปลูกฝังหน้าที่การเป็นพลเมืองโลก สันติภาพ ความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง อีกทั้งควรส่งเสริมกิจกรรมจิตสาธารณะในสถานศึกษา เช่น เป็นอาสาสมัครเพื่อทำประโยชน์แก่คนด้อยโอกาส ฯลฯ เพื่อปลูกจิตสำนึกการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เสียสละเพื่อผู้อื่น เห็นคุณค่าเพื่อนมนุษย์ และลดความรู้สึกแบ่งเขตแดนของความแตกต่าง