วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
ลอว์เรนซ์ เบนส์ (Lawrence Baines) ศาสตราจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านการศึกษามหาวิทยาลัยโตเลโด (University of Toledo) มลรัฐโอไฮโอ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในโรงเรียนของสหรัฐอเมริกา ที่ไม่สามารถเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจดังนี้
เวลาเรียนมากใช่ว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจะสูงตาม ใน 1 วัน นักเรียนในสหรัฐฯ ต้องใช้เวลาเรียน 6 ชั่วโมงหรือมากกว่า และเรียน 5 วันต่อสัปดาห์ โดยช่วง 9-10 เดือน ที่เปิดการเรียนการสอน นักเรียนในสหรัฐฯ ใช้เวลาในโรงเรียนประมาณ 185 วัน หรือประมาณ 1,110 ชั่วโมงต่อปี ขณะที่นักเรียนในฟินแลนด์ใช้เวลาเรียนเพียง 600 ชั่วโมงต่อปี แต่เมื่อทดสอบความสามารถทางด้านวิชาการระดับนานาชาติ นักเรียนฟินแลนด์สามารถทำคะแนนอยู่ในอันดับต้น ๆ ขณะที่นักเรียนสหรัฐ ฯ ใช้เวลาเรียนในโรงเรียนมากกว่าฟินแลนด์ถึง 2 เท่า แต่คะแนนทดสอบทางวิชาการระดับนานาชาติกลับต่ำกว่าฟินแลนด์
อย่างไรก็ตาม ศ.เบนส์ กล่าวว่า ผลการศึกษาไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างเวลาที่ใช้ในการเรียนกับระดับความสามารถทางวิชาการ แต่พบว่าการใช้เวลาของครูและนักเรียนในโรงเรียนหมดไปกับสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา อาทิ ครูต้องจัดการเกี่ยวกับเอกสาร การฝึกอบรม และให้นักเรียนยุ่งอยู่กับกิจกรรมอื่น ๆ มากเกินไป
การบ้านมากใช่ว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจะสูงตาม สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ให้การบ้านนักเรียนมากที่สุดในโลก อาทิ นักเรียนมัธยมศึกษาในสหรัฐ ฯ ใช้เวลาทำการบ้านวิชาคณิตศาสตร์ถึง 140 นาทีต่อสัปดาห์ แต่ผลการทดสอบวิชาคณิตศาสตร์ระดับนานาชาติ กลับพบว่า นักเรียนสหรัฐ ฯ ทำคะแนนได้ไม่ดีมากนัก โดยในปี ค.ศ.2003 ผลการทดสอบทักษะทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนเกรด 8 ในโครงการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (Third International Mathematics and Science Study: TIMSS) นักเรียนสหรัฐฯ ทำคะแนนอยู่ที่ 502 คะแนน ขณะที่นักเรียนเกาหลีทำคะแนนได้ 584 คะแนน ซึ่งนักเรียนเกาหลีได้รับการบ้านวิชาคณิตศาสตร์ที่ใช้เวลาทำเพียง 20 นาทีต่อสัปดาห์
ศ.เบนส์ วิเคราะห์สาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นว่า เงื่อนไขการเพิ่มเงินเดือนให้ครูในสหรัฐฯ เชื่อมโยงกับผลการสอบของนักเรียน ซึ่งจะครอบคลุมเนื้อหาในหนังสือเรียนเท่านั้น ดังนั้น ครูจึงยึดติดกับการมอบหมายการบ้านจากหนังสือเรียน มากกว่าการหาแบบทดสอบที่กระตุ้นความสนใจและเหมาะกับผู้เรียน ผลที่ตามมาคือ นักเรียนเบื่อหน่ายในการเรียนรู้
การใช้เทคโนโลยีทันสมัยใช่ว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจะสูงตาม ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนหลายแห่งในสหรัฐฯ ใช้เงินไปนับพันล้านดอลลาร์ เพื่อจัดหาคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต โดยเข้าใจว่าเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้นักเรียนได้ ในปี ค.ศ.2003 โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment: PISA) โดยองค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้ศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคะแนนทักษะการอ่าน ทักษะการแก้ปัญหา และทักษะทางคณิตศาสตร์มากที่สุด พบว่า เทคโนโลยีไม่มีผลทำให้คะแนนในทักษะดังกล่าวสูงขึ้นแต่อย่างใด แต่การเข้าถึงหนังสือของนักเรียน มีความสัมพันธ์กับคะแนนของทั้ง 3 ทักษะมากที่สุด
ในขณะที่เมื่อมาพิจารณานโยบายเกี่ยวกับการยืมคืนหนังสือของโรงเรียนต่าง ๆ ในสหรัฐฯ พบว่า มีอุปสรรคที่ทำให้นักเรียนเข้าถึงหนังสือที่ต้องการได้ยาก เช่น โรงเรียนไม่อนุญาตให้นักเรียนยืมหนังสือกลับไปที่บ้าน นักเรียนสามารถยืมหนังสือได้ไม่เกิน 1 เล่น ในระยะเวลาอันสั้น เป็นต้น และแม้ว่าคนในชุมชนสามารถใช้บริการห้องสมุดประจำชุมชนและห้องสมุดโรงเรียนได้ แต่ยังมีปัญหาตรงที่ ในบางชุมชนมีงบประมาณน้อยจึงมีหนังสือไม่เพียงพอ อีกทั้ง ห้องสมุดของโรงเรียนปิดบริการพร้อมกับโรงเรียนเลิก ดังนั้น นักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง และคนในชุมชน จึงมีเวลาอ่านและยืมหนังสือน้อยมาก
ความสามารถทางวิชาการของเด็กไทย
การตั้งข้อสังเกตของ ศ.เบนส์ แล้วหวนกลับมาฉุกคิดถึงผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไทยในหลายระดับชั้นที่ยังคงไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินมาตรฐาน ผลประเมินคุณภาพภายนอกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานรอบ 2 โดยเป็นการประเมินปีงบประมาณ พ.ศ.2549-2550 พบว่า สถานศึกษาที่จัดการศึกษาปฐมวัย 13,359 แห่ง มีคุณภาพดีเพียงร้อยละ 54.73 โดยส่วนใหญ่เป็นสถานศึกษาเอกชนขนาดใหญ่ในเมือง ส่วนสถานศึกษาที่จัดการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน 15,097 แห่งมีคุณภาพดีไม่ถึงครึ่งเพียงร้อยละ 49.49 นอกจากนั้นจาก ผลการประเมินจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ โครงการ PISA ได้สำรวจความรู้และทักษะนักเรียนอายุ 15 ปี ในประเทศสมาชิกองค์กร OECD ทุก 3 ปี โดยประเมิน 3 ด้าน คือ การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งในปี พ.ศ.2549 คะแนนเฉลี่ยทั้ง 3 ด้านของนักเรียนไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD (500 คะแนน) อยู่อันดับที่ 41-42 จาก 57 ประเทศ ซึ่งเป็นภาวะวิกฤตคุณภาพการศึกษาไทยที่น่าเป็นห่วงยิ่ง จากรายงานผลการประเมินการจัดการศึกษาของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ช่วง พ.ศ.2548-2549 พบปัญหาหลายประการ
ด้านการเรียนการสอน ครูไทยยังกังวลกับการสอนตามหลักสูตรที่มีเนื้อหามาก การสอนจึงลักษณะของการสอนตามบทเรียนและมอบการบ้านตามที่มีในหนังสือเรียน ส่งผลให้นักเรียนขาดความกระตือรือร้นในการเรียน หลักสูตรขาดพัฒนาทักษะการคิด ซึ่งส่งผลต่อทักษะแก้ปัญหา อีกทั้งหลักสูตรไม่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนที่หลากหลายได้
ด้านครู การขาดแคลนครูอันเนื่องมาจากการเกษียณก่อนกำหนด เป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบต่อการเรียนการสอนอย่างมาก ระหว่างปี พ.ศ.2543-2549 มีครูเกษียณก่อนกำหนด 76,133 แต่ได้รับคืน 20,994 ดังนั้น จึงขาดครู 55,139 อัตรา โดยเกือบทุกสาขาวิชาประสบปัญหาขาดแคลนครู แต่สาขาวิชาหลัก ๆ คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ตามมาด้วย ปัญหาครูสอนไม่ครบชั้น สอนไม่ตรงวุฒิ ทำให้การเรียนการสอนไม่ได้คุณภาพ นอกจากนี้ ครูยังไม่มีเวลาในการพัฒนาการเรียนการสอน เนื่องจากต้องแบ่งเวลาให้กับความรับผิดชอบงานเอกสาร ประชุมและงานธุรการ
ด้านการจัดสรรงบประมาณ รัฐบาลจัดสรรงบฯเพื่อการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นเงินเดือนถึงร้อยละ 71.5 มีงบดำเนินการและงบลงทุนเพียงร้อยละ 6.4 และร้อยละ 22.1 ตามลำดับ ส่งผลให้งบฯ ไม่เพียงพอสำหรับพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียน พัฒนาครู คณาจารย์ ผู้บริหาร และจัดหาสื่อการสอนได้อย่างเพียงพอ
แนวทางสำคัญในการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไทยโดยตรงคือ หลักสูตรการศึกษาควรม่งเน้นพัฒนาทักษะการคิด ไม่ได้เน้นแต่การท่องจำ รวมถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหา โดยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสทำโครงการต่างๆ ตามศักยภาพและความสนใจของตนเองเป็นฐาน การมีครูเก่งและมีความสามารถสอนรัฐบาลต้องมีมาตรการจูงใจหาคนเก่งมาเป็นครู ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่พูดกันมานาน แต่ยังไม่มีแนวทางในการปฏิบัติ ส่วนหนึ่งเพราะวิชาชีพครูยังมีผลตอบแทนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ส่วนครูในระบบอาจพิจารณาเพิ่มเงินเดือน โดยพิจารณาบนความรู้ความสามารถในการสอนผู้เรียนให้มีคุณภาพ แต่รัฐต้องดูแลโรงเรียนขนาดเล็กมากเป็นพิเศษ โดยอย่างน้อยต้องให้โรงเรียนกลุ่มนี้ได้รับการพัฒนาทรัพยากรพื้นฐานในการจัดการศึกษาที่เพียงพอเพื่อจัดการศึกษามีคุณภาพ อีกทั้งให้ครูในสาขาวิชาที่ขาดแคลนได้รับเงินเดือนสูงสาขาวิชาอื่นตามกลไกตลาด การพัฒนานวัตกรรมสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพโดยนำสื่อจากต่างประเทศที่ดีที่สุดในโลกมาพัฒนาและประยุกต์สอนเด็กไทยทุกระดับชั้นให้ผู้เรียนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้สะดวกและรวดเร็ว รวมถึงเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าแข่งขันพัฒนาและผลิตสื่ออย่างเป็นธรรมและมีความหลากหลาย โดยระยะแรกรัฐอาจต้องสนับสนุนการพัฒนาสื่อการเรียนรู้และการศึกษาให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง
Catagories:
Tags:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2008-09-11
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน
Total views: อ่าน 1,499 ครั้ง
บูรณาการวิทยาการเพื่อการพัฒนานวัตกรรมในศตวรรษที่ 21
Total views: อ่าน 2,336 ครั้ง
คิดเป็นระบบ Systematic Thinking ช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไร
Total views: อ่าน 4,267 ครั้ง
ความสัมพันธ์ของการศึกษากับการเป็นมหาเศรษฐี
Total views: อ่าน 2,080 ครั้ง
STEMMAD-CINDERELLA สร้างบุคลากรด้านนวัตกรรมเพื่อการสร้างชาติ
Total views: อ่าน 4,486 ครั้ง