ทฤษฎีการออกแบบกลไก: นัยต่อเศรษฐกิจไทย
เมื่อไม่นานนี้ มีการประกาศรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2007 โดยรางวัลในปีนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนให้กับ Leonid Hurwicz แห่ง University of Minnesota, Eric S. Maskin แห่ง Institute for Advanced Study และ Roger B. Myerson แห่ง University of Chicago โดยมีคำประกาศเกียรติคุณว่า ldquo;สำหรับการวางรากฐานในทฤษฎีการออกแบบกลไก (mechanism design)
ทฤษฎีการออกแบบกลไกได้รับการริเริ่มโดย Hurwicz และได้รับการต่อยอดและประยุกต์โดย Maskin และ Myerson ทฤษฎีนี้ช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นให้แก่แนวคิดเศรษฐศาสตร์สำนักนีโอคลาสสิก (Neo-classic) ซึ่งเชื่อว่ากลไกตลาดสามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้ดีที่สุด
ทฤษฎีการออกแบบกลไกมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ ldquo;กลไกการจัดสรรrdquo; (allocation mechanisms) หรืออาจเรียกง่าย ๆ ว่า วิธีการซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยพยายามอธิบายว่ากลไกการจัดสรรแบบใดที่จะทำให้ทุกฝ่ายในระบบเศรษฐกิจนั้นได้รับประโยชน์สูงที่สุด ภายใต้ภาวะที่ผู้ซื้อและผู้ขายมีข้อมูลไม่เท่ากัน (asymmetric information)
เนื่องจากแนวคิดในทฤษฎีนี้ค่อนข้างเป็นนามธรรม จึงขอยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมและเข้าใจได้ง่ายที่สุดดังนี้ สมมติว่าคนหนึ่งมีรถมือสองอยู่หนึ่งคันและยินดีขายรถคันดังกล่าวหากได้ราคาอย่างต่ำ 100,000 บาท ขณะเดียวกันมีอีกคนหนึ่งที่กำลังหาซื้อรถมือสองและยินดีซื้อหากราคารถไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งทั้งสองราคานี้เรียกว่าราคาสงวน (reservation price)
หากพิจารณาด้วยสามัญสำนึก ทั้งสองคนนี้ควรตกลงซื้อขายกันได้ในราคาระหว่างหนึ่งแสนถึงสองแสนบาท และแต่ละคนจะรับผลประโยชน์ที่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาคเรียกว่า ldquo;ส่วนเกินทางเศรษฐกิจrdquo; (economic surplus) ไปเท่ากับส่วนต่างของราคาที่ตกลงซื้อขายกันเมื่อเทียบกับราคาสงวนของแต่ละคน
หากแต่ในโลกความเป็นจริง ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างฝ่ายต่างก็ไม่รู้ราคาสงวนของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เรียกภาวะเช่นนี้ว่า ldquo;อสมมาตรของข้อมูลrdquo; (asymmetric information) ดังนั้นแต่ละฝ่ายจึงมีแนวโน้มว่าจะเสนอราคาที่ไม่ตรงกับราคาสงวนของตน เช่น ผู้ขายอาจจะเสนอราคาขายสูงถึง 160,000 บาท ขณะที่ผู้ซื้อจะบอกราคาที่ตนจะซื้อต่ำกว่าที่ตั้งใจไว้จริง โดยเหลือเพียง 140,000 บาท ซึ่งหากไม่มีวิธีการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ดี เช่นไม่ยืดหยุ่นมากพอ อาจจะทำให้ไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้น
แม้การที่ไม่มีการซื้อขายเกิดดูไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ในทางเศรษฐศาสตร์แล้วถือว่าเป็นปัญหา เนื่องจากในการแลกเปลี่ยนจะทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้รับประโยชน์ การไม่มีการซื้อขายเลยย่อมทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส (opportunity cost) จากการไม่ได้รับประโยชน์ที่ควรจะได้รับไป
หันมาดูวิธีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันบ้าง ทฤษฎีการออกแบบกลไกได้กล่าวว่ากลไกการจัดสรรที่ดีที่สุดสำหรับการแลกเปลี่ยนในกรณีที่มีผู้ซื้อและผู้ขายฝ่ายละหนึ่งคน คือ การประมูลแบบ Double auction ซึ่งเป็นการประมูลที่ผู้ซื้อและผู้ขายเสนอราคาเข้ามาพร้อมกัน โดยวิธีนี้ดีกว่าวิธีที่ให้ผู้ซื้อหรือผู้ขายตั้งราคาแล้วเสนอให้อีกฝ่ายเป็นคนเลือกว่าจะยินดีซื้อหรือขายหรือไม่ เนื่องจากทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเสนอที่ใกล้เคียงกับราคาสงวนของตนมากกว่าวิธีอื่น และทำให้โอกาสที่การซื้อขายจะล้มเหลวลดลงด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ลักษณะการประมูลแบบ Double auction ยังมีลักษณะที่ตรงกับธรรมชาติของกลไกตลาดของแนวคิดแบบนีโอคลาสสิกมากกว่าวิธีการซื้อขายแลกเปลี่ยนแบบอื่น ดังนั้นทฤษฎีนี้จึงสามารถอนุมานเพื่อให้ได้ข้อสรุปทั่วไปได้ว่า ระบบตลาดแบบเสรียังคงเป็นเครื่องมือในการจัดการระบบเศรษฐกิจที่ดีที่สุด แม้ในภาวะอสมมาตรของข้อมูลก็ตาม
แนวคิดในทฤษฎีนี้อาจถือได้ว่า เป็นการทำลายป้อมปราการของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มที่เห็นด้วยกับการแทรกแซงของภาครัฐ ซึ่งได้พัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับการล้มเหลวของตลาด (market failure) โดยโต้แย้งว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซงเนื่องจากกลไกตลาดสามารถล้มเหลวได้ และกรณีอสมมาตรของข้อมูลข่าวสาร (asymmetric information) ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ตลาดล้มเหลว
แต่ทฤษฎีนี้สามารถประยุกต์ได้ว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเข้ามาแทรกแซงตลาด แม้จะมีภาวะอสมมาตรของข้อมูล เพียงแต่มีการออกแบบกลไกในการซื้อขายแลกเปลี่ยนให้เหมาะสม กลไกตลาดก็จะสามารถจัดการระบบเศรษฐกิจได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ
แน่นอนว่า การไม่แทรกแซงของรัฐหมายถึงการไม่เข้ามาเป็นผู้กำหนดนโยบายควบคุมเช่น การควบคุมราคา หรือเข้ามาแย่งเอกชนผลิตสินค้าและบริการเสียเอง แต่มิได้หมายรวมถึงการที่รัฐเข้ามาช่วยในการทำให้มีกลไกการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม ซึ่งจะกลับเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ
ทฤษฎีการออกแบบกลไกสามารถประยุกต์ใช้ได้ในบริบทของเศรษฐกิจไทยอย่างกว้างขวาง เพราะยังมีตลาดสินค้าและบริการหลายชนิดที่มีปัญหาอสมมาตรของข้อมูล ถึงกระนั้นผมจะขอกล่าวถึงการประยุกต์ใช้ในภาคการเงิน เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของไทยที่ระบบตลาดยังไม่ทำงานมากนัก
ทั้งนี้ระบบเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคธนาคารสูงมาก ในการเป็นแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจและภาคประชาชน ซึ่งผลเสียประการแรกคือการสร้างภาระต้นทุนให้แก่ภาคธุรกิจซึ่งต้องแบกรับดอกเบี้ยที่มีอัตราสูงกว่าการใช้ระบบตลาด อีกประการหนึ่งคือการใช้ดุลยพินิจในการตัดสินให้เงินกู้เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ซึ่งบ่อยครั้งที่ธุรกิจที่มีผลตอบแทนต่ำแต่กลับได้รับเงินกู้ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ให้แก่ธนาคารเอง
ผมจึงขอสนับสนุนให้ภาครัฐพัฒนาระบบตลาดในภาคการเงินของไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทำให้ธุรกิจสามารถระดมทุนได้โดยจัดกลไกให้พบปะกับเจ้าของเงินทุนโดยตรง เช่น การพัฒนาตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ซึ่งเป็นกลไกเช่นเดียวกับ การประมูลแบบ double auction ในทฤษฎีกรออกแบบกลไก เพื่อให้บริษัทที่แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่นักสามารถระดมทุนผ่านระบบตลาดได้ พร้อมทั้งยังส่งเสริมให้คนไทยเก็บทรัพย์สินในรูปของหุ้นมากขึ้น เพื่อให้เงินออมสามารถนำไปเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อฝ่ายที่กำกับดูแลตลาดทุนต้องเข้มแข็งและสามารถป้องกันการปั่นหุ้นได้มีประสิทธิภาพด้วย เพื่อจะทำให้กลไกตลาดสามารถทำงานได้เต็มที่ อันเป็นการคุ้มครองผู้ออมและธุรกิจรายเล็กให้ปลอดภัย
Catagories:
Tags:
เผยแพร่:
หนังสือพิมพ์สยามนิวส์
เมื่อ:
2008-06-19
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 90 ครั้ง
สว. 2567 คนแบบคุณก็เป็นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน
Total views: อ่าน 136 ครั้ง
ที่ดิน ส.ป.ก. ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุน และนักการเมือง
Total views: อ่าน 131 ครั้ง
เปลี่ยนเงินหวย เป็น 'สลากออมทรัพย์'
Total views: อ่าน 3,417 ครั้ง
แนวทางการพัฒนา ทุนมนุษย์ สำหรับประเทศไทย
Total views: อ่าน 1,427 ครั้ง