Self-fulfilling prophecy กับ เศรษฐกิจและการเมืองไทย



* ที่มาของภาพ-http://agrodev.doae.go.th/server/img/Blue%20hills.jpg
คำพูดที่ว่า ldquo;ความเชื่อเขยื้อนภูเขาได้rdquo; คงจะหมายความว่า ผู้ที่มีความเชื่อมั่นในบางสิ่งอย่างเข้มแข็ง เขาจะสามารถทำสิ่งนั้นได้จริง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น หากสิ่งนั้นถูกเชื่อโดยฝูงชนแล้ว ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริงจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้มีผู้ตั้งชื่อไว้ว่า ldquo;Self-fulfilling prophecyrdquo;
Self-fulfilling prophecy คือ การที่คำพยากรณ์เกิดขึ้นจริงเพราะอิทธิพลของตัวคำพยากรณ์เอง แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ฝังตัวอยู่ในความคิดของมนุษยชาติมานานแล้ว ดังจะเห็นได้จากวรรณคดีของหลายชนชาติที่มีแนวคิดนี้ฝังตัวอยู่ สำหรับวรรณคดีไทยนั้น คือ เรื่อง ทรพา-ทรพี ซึ่งทรพาเป็นควายที่ถูกทำนายว่าจะโดนฆ่าตายโดยลูกของตน จึงทำให้ทรพาฆ่าลูกของตนที่เกิดมาทุกตัว ถึงกระนั้นมีลูกควายตัวหนึ่งที่ชื่อทรพีซึ่งรอดชีวิต จึงเกิดความแค้นพ่อของตน และได้ขวิดทรพาตายในเวลาต่อมา
แนวคิด Self-fulfilling prophecy ยังเป็นจริงในวิชาเศรษฐศาสตร์ โดยมีแบบจำลองเศรษฐศาสตร์มหภาคที่ได้รับความนิยมอยู่ชิ้นหนึ่ง มีชื่อว่า Diamond model ซึ่งอธิบายการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการสะสมทุน นั่นหมายความว่าการลงทุนที่เกิดขึ้นนั้นเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในแบบจำลองนี้ยังได้กำหนดพฤติกรรมในการออมและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ ทำให้รู้ดุลยภาพของระบบเศรษฐกิจในแต่ละปี หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ แบบจำลองจะสามารถระบุถึง การลงทุนและผลิตภัณฑ์มวลรวมที่เกิดขึ้นในแต่ละปีได้
อย่างไรก็ตาม แบบจำลองนี้ได้อธิบายว่า ดุลยภาพมิได้มีเพียงจุดเดียว แต่อาจมีหลายจุดเกิดขึ้นพร้อมกัน นั่นหมายความว่า ภายใต้บริบทแวดล้อมที่เหมือนกันทุกประการ เศรษฐกิจอาจมีมูลค่าการลงทุนได้หลายค่า ซึ่งทำให้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงหรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็นได้
เมื่อดุลยภาพมีความเป็นไปได้มากกว่าหนึ่ง แล้วสภาพที่แท้จริงทางเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร คำตอบขึ้นอยู่กับการคาดการณ์ของภาคเอกชนในระบบเศรษฐกิจนั้น ภายใต้บริบทแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ปกติธรรมดา หากภาคเอกชนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะดีและกล้าลงทุน จะทำให้เศรษฐกิจในปีนั้นดีขึ้นจริง ๆ แต่หากเอกชนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะไม่ดีและไม่กล้าลงทุน สุดท้ายเศรษฐกิจในปีนั้นก็จะชะลอตัวจริง ๆ
ตัวอย่างของปรากฏการณ์ Self-fulfilling prophecy ที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ ทฤษฎีจุดดับบนดวงอาทิตย์ (sunspot theory) ที่ระบุว่าการขึ้นลงของเศรษฐกิจว่ามีความสัมพันธ์กับการสังเกตเห็นจุดดับบนดวงอาทิตย์ โดยอธิบายว่าจุดดับบนดวงอาทิตย์มีผลกระทบต่อสภาวะอากาศ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเปลี่ยนแปลงในที่สุด
ในช่วงระยะหนึ่งนั้น ทฤษฎีจุดดับบนดวงอาทิตย์มีผู้เชื่อถือจำนวนมาก จนทำให้ดัชนีตลาดหุ้นเกิดความผันผวนเพราะการสังเกตเห็นจุดดับดวงอาทิตย์ แม้ว่าความจริงแล้วระดับผลผลิตการเกษตรจะมิได้เปลี่ยนแปลงไปก็ตาม อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เกือบทั้งหมดเห็นตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศนั้นเกิดขึ้นเพราะมนุษย์เป็นผู้กระทำ มิได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ทฤษฎีจุดดับดวงอาทิตย์จึงดูไม่ได้มีความสมเหตุสมผลนักในปัจจุบัน
Self-fulfilling prophecy ทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมหภาค ไม่เพียงในประเทศไทยแต่ทั่วโลก จึงมักคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงไว้ก่อน นั่นเป็นเพราะว่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนนั่นเอง อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์นี้ต้องตั้งบนพื้นฐานความจริงด้วย เพราะหากประกาศตัวเลขที่ผิดความเป็นจริงไปมาก ภาคเอกชนจะไม่เชื่อถือและไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามที่ประกาศไว้
นอกจากด้านเศรษฐกิจแล้ว Self-fulfilling prophecy ยังอาจเป็นจริงในด้านการเมืองด้วย โดยเฉพาะการเมืองไทย ผมกำลังจะพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาวะทางการเมืองกับคำทำนายของนักพยากรณ์หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หมอดู
ประเทศไทยนั้นมีนักพยากรณ์อยู่มาก รวมทั้งมีคนที่เชื่อในโหราศาสตร์อยู่มากเช่นกัน เราจึงมักเห็นหมอดูที่มีชื่อเสียงออกมาพยากรณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ ในอนาคต รวมถึงเหตุการณ์ทางการเมืองด้วย หมอดูที่มีชื่อเสียงบางท่านเพียงแค่ให้สัมภาษณ์ก็จะขึ้นพาดหัวตัวไม้ในหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ และคำพยากรณ์เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นจริงอยู่บ่อยครั้งด้วย
หากเรานำเอาแนวคิดของ Self-fulfilling prophecy มาอธิบาย เป็นไปได้หรือไม่ว่า สาเหตุที่คำพยากรณ์เป็นจริงไม่ใช่อื่นใด นอกจากตัวคำพยากรณ์เอง
เป็นไปได้หรือไม่ว่า เมื่อมีคำพยากรณ์ว่าจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้น แม้บริบททางการเมืองในเวลานั้นจะไม่เอื้อให้เกิดการรัฐประหาร แต่เมื่อมีคำพยากรณ์ออกมา ประชาชนจำนวนมากก็เชื่อตามนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าความเชื่อของมวลชนส่งผลทำให้รัฐบาลเกิดความหวาดระแวง ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับผู้ที่มีศักยภาพที่จะรัฐประหารได้นั้นแย่ลง ในขณะเดียวกันยังทำให้ฝ่ายผู้ที่มีศักยภาพที่จะรัฐประหารได้เกิดความเชื่อมั่นว่าจะสามารถยึดอำนาจได้สำเร็จ จึงทำให้กล้าที่จะลุกขึ้นทำการรัฐประหาร
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่ค่อยเห็นด้วยนักกับการที่นักพยากรณ์จะออกมาทำนายเหตุการณ์ร้าย ๆ ของบ้านเมือง แม้ว่าอาจจะมีความหวังดีในการพยากรณ์เพื่อทำให้คนเกิดความระวังตัวหรือเตรียมพร้อมมากขึ้น แต่ผมคิดว่าผลดีดังกล่าวไม่สามารถเทียบได้กับผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น จากการทำให้คนหมู่มากเกิดความเชื่อ แล้วทำให้เหตุการณ์ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น กลับเกิดขึ้นมาจริง ๆ ตามความเชื่อของคนในสังคม
เมื่อเราเห็นแล้วความเชื่อเป็นตัวกำหนดอนาคต สิ่งที่เราควรประยุกต์แนวคิดดังกล่าวมาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา คือการคิดแง่บวก ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นหลักการของนักจิตวิทยาอยู่แล้ว เมื่อเราคิดแง่บวก มีทัศนคติแง่บวก เราจะทำสิ่งที่เป็นแง่บวกและได้รับผลแง่บวก และหากคนในประเทศพร้อมใจกันคิดแง่บวก ในที่สุดสภาพสังคมไทยจะเป็นสังคมแง่บวกอันเป็นสิ่งที่เราปรารถนาตลอดไป

* นำมาจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2551

แสดงความคิดเห็น

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-04-18