สิทธิการเลือกตั้งของชาวไทย

ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มาตรา 3 บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และในมาตรา 68 บัญญัติว่า บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง บุคคลซึ่งไม่ไปเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งได้ย่อมเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ การแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งและการอำนวยความสะดวกในการไปเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

คำกล่าวที่ว่า อย่านอนหลับทับสิทธิ์ รักประชาธิปไตย ต้องไปเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่ตอกย้ำน้ำหนักของความสำคัญในการออกไปเลือกตั้งของประชาชน ประกอบกับการรับรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการไปเลือกตั้งนั้นเป็นทั้งสิทธิ และหน้าที่ที่ประชาชนชาวไทยต้องกระทำ


แนวโน้มคณะผู้ทำการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังคงยืนยันเช่นเดิม ให้ประชาชนมี หน้าที่ ไปใช้ สิทธิ เลือกตั้ง ก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 การไปเลือกตั้งถือเป็นสิทธิของประชาชน ประชาชนจะไปเลือกตั้งหรือไม่ก็ได้ แต่ปรากฏว่า ที่ผ่านมาคนไทยไปใช้สิทธิกันน้อย โดยในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2539 มีผู้ใช้สิทธิร้อยละ 62 ซึ่งยังเป็นจำนวนที่น้อย รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จึงแก้ปัญหานี้ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อป้องกันมิให้ระบอบการปกครองอ่อนแอ เพราะประชาชนขาดการมีส่วนร่วมทางการเมือง ด้วยการบัญญัติให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่หนึ่งของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ถ้าไม่ทำตามก็จะเสียสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนจะเลือกใครหรือไม่เลือกใครเป็นผู้แทนยังคงเป็นเสรีภาพ พร้อมประกาศคำขวัญเชิญชวนประชาชนที่กล่าวว่า เลือกตั้งเป็นหน้าที่ เลือกคนดีเข้าสภา หน้าที่จึงเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นการบังคับหรือขีดกั้นให้อยู่แต่ภายในขอบเขตที่กำหนด จนไม่มีอิสรภาพในการตัดสินใจด้วยตนเองว่าควรไปลงคะแนนเลือกตั้งหรือไม่

การเลือกตั้งจึงกลายเป็นหน้าที่หนึ่งของพลเมือง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาด้วยใจเป็นธรรม พบว่ามีความขัดแย้งอยู่ระหว่างสิทธิกับหน้าที่ในเรื่องนี้..

ในทางทฤษฎี หลักการอำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนนั้น หมายถึง ปวงชนใช้อำนาจเองได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการเสนอกฎหมาย การเลือกผู้แทนเข้าไปทำงานแทน การเสนอถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นการยอมรับอำนาจสูงสุดของประชาชน

การไปเลือกตั้งจึงต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็น
สิทธิ หรือ หน้าที่ ของประชาชน เพราะมีความแตกต่างกันอย่างมากในทางปฏิบัติ ถ้าต้องการระบุว่าเป็นหน้าที่ ควรระบุไปว่า ประชาชนมีหน้าที่ไปเลือกตั้งไม่ควรระบุว่า ประชาชนมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะเมื่อเป็นหน้าที่ย่อมไม่มีสิทธิ ในทางกลับกัน เมื่อมีสิทธิย่อมไม่ควรเป็นหน้าที่ แต่ควรมีเสรีภาพที่จะใช้สิทธินั้นหรือไม่ก็ได้

หากยึดตามหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน การออกเสียงเลือกตั้งควรเป็น
สิทธิ ไม่ใช่ หน้าที่ เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ซึ่งประชาชนจะใช้สิทธินี้หรือไม่ก็ได้ ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ได้ และรัฐไม่สามารถตัดสิทธิเลือกตั้งของประชาชนที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิได้

ไม่เพียงเท่านี้ หากพิจารณาถึงน้ำหนักความสำคัญของการบังคับให้ประชาชนไปเลือกตั้งแล้ว พบว่า มีความสำคัญน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับ หน้าที่ในการเคารพกฎหมาย หน้าที่ในการเสียภาษี ซึ่งประชาชนทุกคนต้องปฏิบัติตามเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง หากประชาชนไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ย่อมจะถูกลงโทษตามกฎหมาย มิฉะนั้นประเทศชาติจะเสียหายอย่างรุนแรง

หากใช้หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ย่อมหมายถึงสิทธิในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองก็ต้องเป็นการตัดสินใจอย่างมีเสรีภาพของประชาชนด้วย มิใช่หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเสมือนเป็นกฎระเบียบตายตัวที่หากไม่ได้ทำต้องได้รับการลงโทษ

นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติ แม้ว่าจะกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ แต่ถึงกระนั้น ในปี 2548 จำนวนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 72 จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่มากเท่าใดนักโดยคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ไปออกเสียงเลือกตั้ง ยังคงเป็นกลุ่มคนยากจน ไม่ได้รับการศึกษา และมิได้รับรู้ในเหตุการณ์บ้านเมือง หากบังคับผู้ที่ไม่สนใจ หรือไม่มีความสามารถที่จะออกเสียงโดยมีเหตุผลให้เขาจำต้องออกเสียง ย่อมจะยิ่งทำให้เกิดการเลือกผู้แทนที่ผิดพลาดมากขึ้น
ความขัดแย้งในเชิงเนื้อหาระหว่าง สิทธิ และ หน้าที่ ยังคงมีอยู่ และหากต้องการให้เกิดความชัดเจนอย่างมีหลักการเพื่อบัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้น จำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ เพื่อให้การใช้อำนาจอธิปไตยของชาติดำเนินไปในทิศทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
 
 
* นำมาจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 3 กรกฎาคม 2550
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-07-18