ผู้สูงอายุในประเทศไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต
โครงสร้างประชากรของประเทศไทยมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว และเป็นทิศทางเดียวกับโครงสร้างประชากรของโลก ซึ่งกำลังเข้าสู่ ldquo;สังคมผู้สูงอายุrdquo; ทั้งนี้จากการคาดประมาณประชากรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2546) พบว่า ประชากรสูงอายุจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 6.5 ล้านคนหรือร้อยละ 10.1 ของประชากรทั้งประเทศในปี พ.ศ.2547 เป็น 14.5 ล้านคนหรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศในปี พ.ศ.2568 [1]
การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชาชนผู้สูงอายุเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย เพราะจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอาจจะเป็นทั้งอุปสรรคและโอกาสต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจึงจำเป็นต้องเข้าใจว่า จะต้องเตรียมการอย่างไรเพื่อรองรับผลกระทบและสร้างผลประโยชน์จากโอกาสที่อาจจะเกิดขึ้น
ผู้สูงอายุกับอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจ
การพัฒนาระบบสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ก้าวหน้า ทำให้ประชากรมีอายุขัยที่ยาวขึ้น มีการคาดการว่า อัตราส่วนของประชากรวัยทำงานต่อประชากรวัยพึ่งพิงมีแนวโน้มลดลงจาก 1.93 คนต่อ 1 คนในปี พ.ศ.2543 เป็น 1.64 คนในปี พ.ศ. 2568
แนวโน้มโครงสร้างประชากรดังกล่าวจะสร้างปัญหาทางสังคมอย่างรุนแรงในอนาคต โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่รูปแบบครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น อาจทำให้มีจำนวนผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งมากขึ้น ตลอดจนการที่ประเทศมีแนวโน้มเป็นรัฐสวัสดิการมากขึ้น อาจทำให้รัฐบาลมีภาระทางการคลังที่ต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นในการดูแลและจัดสวัสดิการแก่ประชากรสูงอายุ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเสถียรภาพทางการคลัง หรืออาจทำให้ระบบประกันสังคมล้มละลายได้
ผู้สูงอายุกับโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ
ในอนาคต การสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องมีแรงงานจำนวนมากเสมอไป เพราะด้วยความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง ทำให้บุคคลมีผลิตภาพสูงขึ้น ธุรกิจในอนาคตอาจไม่จำเป็นต้องมีต้นทุนด้านอาคารสถานที่หรือแรงงาน แต่คนเพียงหนึ่งคนสามารถเป็นเจ้าของและดำเนินธุรกิจที่มีมูลค่าสูงได้ ในบริบททางเศรษฐกิจเช่นนี้ ผู้สูงอายุอาจจะไม่ใช่ภาระของสังคมและครอบครัวเสมอไป แต่อาจจะเป็นผู้เล่นที่มีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งในฐานะของผู้ผลิตและผู้บริโภค
หากพิจารณาผู้สูงอายุในฐานะผู้ผลิต เหตุปัจจัยข้างต้นทำให้ผู้สูงอายุสามารถยืดอายุการทำงานของตนให้ยาวขึ้นกว่าเดิม เพราะการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคต สามารถดำเนินการผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัย ประกอบกับการให้คุณค่ากับความรู้และนวัตกรรมมากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสสร้างรายได้จากการใช้พลังสมองทำงานได้มากขึ้น แม้กำลังกายจะถดถอยลงไป
นอกจากนี้ การที่ประชากรวัยทำงานมีสัดส่วนลดลงเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุอาจมิใช่ปัญหา เพราะเทคโนโลยีซึ่งทำให้แรงงานมีผลิตภาพสูงขึ้น จะส่งผลทำให้ประชากรวัยทำงานสามารถสร้างรายได้ได้มากขึ้น และทำให้มีศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุได้มากขึ้นด้วย
หากพิจารณาผู้สูงอายุในฐานะผู้บริโภค จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นแสดงถึงโอกาสในการพัฒนาธุรกิจสำหรับผู้สูงอายุ เพราะผู้สูงอายุในอนาคตส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่มีรายได้สูงหรือมีเงินออมจำนวนมากและฐานผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ ย่อมหมายถึง ความต้องการสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุจำนวนมาก
การกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการขยายประกันสังคมหรือระบบบังคับออมให้ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ และการเพิ่มเงินสมทบของผู้ประกันตนให้สูงขึ้น โดยให้ผู้ประกันตนที่มีฐานะดีจ่ายสมทบเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ประกันตนที่ยากจน เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีเงินประกันชราภาพเพียงพอสำหรับการดำรงชีพในช่วงสุดท้ายของชีวิต
นอกจากนี้ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตของแรงงาน โดยการฝึกอบรมแรงงานอย่างต่อเนื่อง และการวางแผนลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานและสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ เพื่อทำให้ประชากรวัยทำงานสามารถรับภาระการดูแลประชากรวัยสูงอายุได้มากขึ้น ตลอดจนให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อรองรับผู้สูงอายุในประเทศที่มีจำนวนมากขึ้น และสร้างรายได้เข้าประเทศจากการจำหน่ายสินค้าและให้บริการแก่ผู้สูงอายุในต่างประเทศ
[1] สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2546. การคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2543-2568.
Catagories:
Tags:
เผยแพร่:
สยามรัฐรายวัน
เมื่อ:
2007-12-18
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 90 ครั้ง
สว. 2567 คนแบบคุณก็เป็นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน
Total views: อ่าน 136 ครั้ง
ที่ดิน ส.ป.ก. ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุน และนักการเมือง
Total views: อ่าน 131 ครั้ง
เปลี่ยนเงินหวย เป็น 'สลากออมทรัพย์'
Total views: อ่าน 3,417 ครั้ง
แนวทางการพัฒนา ทุนมนุษย์ สำหรับประเทศไทย
Total views: อ่าน 1,424 ครั้ง