อินเดีย...ยักษ์ตื่นแห่งเอเชีย
ข้อมูลใน Wealth Report ปี 2012 จัดทำโดย ไนท์ แฟรงค์ (Knight Frank) และ ซิตี้ ไพรเวท แบงค์ (Citi Private Bank) รายงานว่าเศรษฐกิจจีนจะแซงเศรษฐกิจสหรัฐและกลายเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2020 แต่อันดับจะถูกเปลี่ยนเป็นประเทศอินเดีย ที่จะกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2050 ประกอบกับเมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดียได้เปิดตัวนโยบายการค้าต่างประเทศ (Foreign Trade Policy - FTP) ฉบับปี ค.ศ. 2015 - 2020 อย่างเป็นทางการ หลังจากรัฐบาลใหม่ของอินเดียภายใต้การนำของนายนเรนทรา โมดี ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของไทยด้วย คำถามที่น่าสนใจตามมาคือ ทิศทางนโยบายในด้านต่างๆ ในอีก 5 ปีข้างหน้าของประเทศอินเดียนั้นเป็นอย่างไร และจะมีนัยทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยอย่างไร
ประเทศอินเดีย เป็น 1 ในกลุ่มประเทศ BRICKSJAM ที่ผมเคยเสนอไว้ในการประชุม The 3rd World Chinese Economic Forum: ?Linking East and West in a Globalised World? ว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้มีความสำคัญและเกี่ยวโยงกันในหลายองค์ประกอบ และมีศักยภาพที่จะกลายเป็นกลุ่มประเทศมหาอำนาจนอกขั้วตะวันตก (New Integrated Civilization) ทั้งนี้ ในอนาคตอีก 10 - 15 ปีข้างหน้า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างอำนาจระดับโลกจนสามารถกล่าวได้ว่า ศตวรรษหน้าจะเป็นศตวรรษนอกตะวันตก
จุดแข็งหรือจุดแกร่งของประเทศอินเดียมีหลายประการ เช่น เป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 6 โดยมีกำลังซื้อภายในประเทศสูง เนื่องจากการขยายตัวของชนชั้นกลางในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้เกิดกลุ่มคนภายในประเทศหลายร้อยล้านคนที่มีกำลังซื้อ อินเดียมีจำนวนแรงงานมากและค่าแรงไม่สูงนัก เป็นประเทศที่มีจุดเด่นเรื่องของการให้บริการในลักษณะ outsourcing ให้กับบริษัทในสหรัฐและกลุ่มประเทศยุโรปด้วยข้อได้เปรียบเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษ อินเดียเป็นผู้ส่งออกสำคัญของโลกในส่วนของสินค้าและบริการด้านซอฟต์แวร์และไอที โดยเฉพาะที่เมืองบังกาลอร์ แห่งรัฐกรณาฏกะ ซึ่งเป็นรัฐที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสูงที่สุดของประเทศ เป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก นอกจากนี้ประชากรในประเทศอินเดีย นับว่าเป็นประชากรที่มีการศึกษาดี และมีความพร้อมทางภาษาอังกฤษ อันเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยส่งเสริมการทำงานในภาคบริการของประเทศ สำหรับในอนาคต พบว่า เศรษฐกิจอินเดียยังขยายการเติบโตไปได้อีก โดยจากรายงานข้างต้น กล่าวว่า ในปี 2050 เศรษฐกิจอินเดียจะมีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงถึง 85.97 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในเทอมของ PPP จากขนาด GDP 3.92 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2010 หรือ เศรษฐกิจอินเดียจะมีการขยายตัวจากปี 2010 ไปยังปี 2050 คิดเป็นร้อยละ 2093
อินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่การทำเกษตรแบบโบราณ การเกษตรสมัยใหม่ การหัตถกรรม อุตสาหกรรมยุคใหม่ จนไปถึงธุรกิจบริการ (ซอฟต์แวร์และการธนาคาร) โดยธุรกิจบริการเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักให้กับประเทศอินเดีย โดยมีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตภายในประเทศ แต่มีแรงงานเพียง 1 ใน 3 อยู่ในภาคบริการ ส่วนอีกกว่าครึ่งอยู่ในภาคเกษตร จึงส่งผลให้นโยบายการค้าต่างประเทศสำหรับปี 2015 - 2020 เน้นการส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออก ลดการนำเข้า โดยรัฐบาลตั้งเป้าที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกของอินเดียจากประมาณ 4.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน 5 ปี และเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ รัฐบาลอินเดียจึงมีแผนและกลยุทธ์หลายประการ ทั้งการปรับกระบวนทัศน์ภายในประเทศให้เอื้อกับการค้าระหว่างประเทศ การทบทวนความตกลงเขตการค้าเสรี รวมถึงการพยายามสร้างแบรนด์อินเดียให้มีชื่อเสียงระดับโลก โดยตลาดที่นโยบายฉบับใหม่นี้ให้ความสำคัญ คือ ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV)
นอกจากนี้อินเดียยังมีกลยุทธ์ที่น่าสนใจอีกหนึ่งประการ คือ การมุ่งส่งเสริมการผลิตและส่งออกสินค้ามูลค่าสูง เช่น อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ โดยมีการเลือกเจาะกลุ่มตลาดต่างประเทศคือ ตลาดสหรัฐและอียู นับว่าเป็นการคิดนอกกรอบและดึงจุดแข็งของประเทศออกมาใช้ประโยชน์ได้อย่างดีเยี่ยม
มากกว่านั้น ยังมีการมุ่งเน้น 6 กรอบเป้าหมายสำหรับนโยบายการผลิตของประเทศเพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของประเทศ ได้แก่
- เพิ่มการเติบโตภาคการผลิต ร้อยละ 12-14 ในช่วงระยะกลาง และในปี 2022 จะต้องมีสัดส่วน GDP จากภาคการผลิตอย่างน้อยร้อยละ 25
- มีการสร้างงานเพื่อรองรับวัยกำลังแรงงานภายในประเทศที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานปีละประมาณ 12 ล้านคน โดยเพิ่มอัตราการสร้างงานในภาคการผลิตให้เกิดงานเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านงานภายในปี 2022
- เสริมสร้างทักษะที่เหมาะสมแก่ผู้อพยพจากชนบทเข้ามาอาศัยในเขตเมืองและคนยากจนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง เพื่อให้สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ อันส่งผลต่อภาพรวมความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้
- สร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศและความลึกทางเทคโนโลยีในการผลิต
- มีนโยบายสนับสนุนในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของการผลิตในประเทศอินเดียไปสู่ระดับโลก
- สร้างความมั่นใจในการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในเรื่องประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการฟื้นฟูความเสียหายและแก้ไขความเสื่อมโทรมทางระบบนิเวศ
จากนโยบายการค้าต่างประเทศและเป้าหมายสำหรับนโยบายการผลิตประเทศอินเดียที่เน้นการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนของประเทศเป็นหลัก สะท้อนให้เกิดภาพเครื่องจักรกำลังทำงาน กล่าวคือ ประเทศอินเดียกำลังเร่งพัฒนาศักยภาพ ผลิตฟันเฟือง สร้างเครื่องมือ และเพิ่มขีดความสามารถของประเทศให้ทัดเทียมนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ที่อินเดียถือว่าเป็นคู่แข่งทางการค้าอันดับหนึ่งและกำลังขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียเป็นวงกว้าง
สำหรับประเทศในอาเซียนอย่าง CLMV และประเทศไทย ต่างเป็นกลุ่มเป้าหมายทางการค้าของประเทศอินเดีย และอินเดียเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงและเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ จึงนับว่าเป็นโอกาสและความท้าทาย ทั้งกับประเทศไทยและประเทศ CLMV ซึ่งหากในอนาคตอินเดียใช้ประเทศ CLMV เป็นฐานการผลิตสินค้า และประเทศไทยสามารถสร้างบทบาทการเป็นดุมล้อให้กับอาเซียนได้ ประเทศไทยจะได้เปรียบเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน แรงงาน และ supply chain จากประเทศ CLMV ซึ่งขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน จากภายในและระหว่างประเทศ
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://image.bangkokbiznews.com/media/images/size1/2015/05/18/jiaabhfgij7gedifbfaae.jpg
Catagories:
Tags:
Post date:
Thursday, 21 May, 2015 - 14:11
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 127 ครั้ง
สว. 2567 คนแบบคุณก็เป็นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน
Total views: อ่าน 162 ครั้ง
ที่ดิน ส.ป.ก. ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุน และนักการเมือง
Total views: อ่าน 156 ครั้ง
เปลี่ยนเงินหวย เป็น 'สลากออมทรัพย์'
Total views: อ่าน 3,433 ครั้ง
แนวทางการพัฒนา ทุนมนุษย์ สำหรับประเทศไทย
Total views: อ่าน 1,482 ครั้ง