สอนลูกให้มีค่านิยมทำดีที่สุดเสมอ

"จากนิทานเรื่องเต่ากับกระต่าย" เมื่อเต่ากับกระต่ายต้องมาวิ่งแข่งกัน หากมองด้วยสายตาธรรมชาติแล้ว กระต่ายย่อมชนะอย่างแน่นอน  แต่เพราะเต่าทำอย่างเต็มที่หรือทำอย่างดีที่สุด  จึงทำให้ในที่สุดเต่าเข้าเส้นชัยได้ก่อน  ในเหตุการณ์นี้ ถ้ามีใครไปสัมภาษณ์กระต่ายก่อนการแข่งขัน กระต่ายคงไม่รู้ว่าตัวเองจะแพ้  หรือถ้าได้ถามเต่าก่อนการแข่งขัน เต่าก็คงไม่รู้อีกเช่นกันว่าตัวเองจะชนะ

เราคงเคยได้เห็นการแข่งขันฟุตบอลหลายครั้งที่ฝ่ายเสียเปรียบถูกยิงประตูนำไปก่อน  และเหลือเวลาอีกไม่กี่นาทีจะหมดเวลาการแข่งขัน  แต่เพราะนักกีฬาเล่นอย่างเต็มที่จนนาทีสุดท้าย จึงสามารถพลิกเกมให้กลายมาเป็นฝ่ายชนะได้ นักศึกษาบางคนมีเวลาเหลือน้อยแล้วที่จะอ่านหนังสือให้จบก่อนสอบ  แต่หากคิดหาวิธีอ่านหนังสือให้ได้มากที่สุด ก็สามารถเข้าสอบทำคะแนนที่ดีได้เช่นกัน ในทางตรงกันข้าม บางคนเมื่อมีอาการเจ็บป่วยกลับไม่พยายามดูแลตัวเองอย่างดี แต่ปล่อยปละละเลยเพราะคิดว่าการดูแลตัวเอง ณ ขณะนั้นคงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น  แต่ในความเป็นจริง หากเราดูแลพยายามตัวเองอย่างดีตามที่แพทย์สั่งอย่างดีที่สุด ย่อมทำให้อาการเจ็บป่วยบรรเทาเบาบางลงได้อย่างแน่นอน

   พ่อแม่ควรสอนให้ลูกเป็นคนที่มีนิสัยทำดีที่สุดเสมอเพราะจะทำให้เขาเป็นคนไม่ล้มเลิก หรือท้อถอยต่ออุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้น   และจะทำให้เขามีความปรารถนาผลงานที่ดีเลิศเสมอ  ส่งผลให้เขาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต  และยังสามารถผลิตผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติได้ การทำดีที่สุดจะทำให้เราไม่ต้องมาเสียใจภายหลัง  เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต บางทีอาจมีบางอย่างที่ทำให้เกิดการพลิกสถานการณ์จากร้ายกลายเป็นดี  ตัวอย่างเช่น นักเรียนนักศึกษาเกิดตื่นสายในวันสอบ  จึงคิดจะไม่ไปสอบเพราะคิดว่าถึงอย่างไรก็คงไปไม่ทัน ซึ่งในความเป็นจริงในวันนั้นบังเอิญมีปัญหาทำให้ต้องเริ่มทำการสอบช้า  หากในวันนั้นนักศึกษาพยายามที่จะทำอย่างดีที่สุด  รีบแต่งตัวเดินทางไปสอบก็อาจจะยังทันสอบก็เป็นได้

ค่านิยมทำดีที่สุดเสมอ คืออะไร

     ค่านิยมทำดีที่สุดเสมอคือ การเห็นคุณค่าของการทำอย่างสุดความสามารถ ใช้ความสามารถ เวลา และทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่ทุกเวลา ไม่ปล่อยให้สูญเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ แม้ในยามที่ต้องเผชิญสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยหรือมีความจำกัด หรืออาจไม่ได้ผลสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ เป็นความพยายามที่จะทำให้ถึงที่สุดภายใต้สถานการณ์ที่จำกัด

การทำให้ดีที่สุดเสมอเป็นอย่างไร

     ทำดีที่สุดแม้อาจไม่ได้รับผลลัพธ์อย่างที่คาดหวัง บางครั้งแม้เราทำดีที่สุดแล้วแต่ผลงานก็ไม่ได้ออกมาดีอย่างที่ใจคิด แต่การทำดีที่สุดก็ย่อมให้ผลงานที่ดีกว่า หรือช่วยบรรเทาผลเสียให้เบาบางลง   ตัวอย่างเช่น นักศึกษาอาจเตรียมนำเสนองานหน้าชั้นเรียนยังไม่เสร็จ หรือไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่ตั้งใจไว้  แต่หากออกไปรายงานหน้าชั้นตามที่เตรียมมาอย่างเต็มที่ ย่อมได้คะแนนที่ดีกว่า แม้อาจได้น้อยกว่าที่คาดหวังก็ตาม ตรงกันข้ามกับเมื่อทำข้อมูลไม่เสร็จเลย จึงตัดสินใจขาดเรียน ไม่กล้าเผชิญความจริง เป็นต้น

     ทำดีที่สุด โดยไม่ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนหรือค่าจ้างที่ได้รับ  ทำดีที่สุดแม้ได้รับค่าจ้างหรือผลประโยชน์น้อยกว่าที่คาดหวัง ค่าจ้างหรือค่าตอบแทนที่ต่ำไม่ได้ทำให้ใช้ความทุ่มเทที่แตกต่างกัน  ในลักษณะค่าจ้างน้อยก็ลงแรงน้อย ค่าจ้างมากก็ลงแรงมาก  การคิดแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  เราควรทำดีที่สุดในทุกชิ้นงานโดยไม่ขี้นอยู่กับค่าตอบแทนที่ได้รับ  โดยใช้กำลังทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่ การทำเช่นนี้ย่อมส่งผลให้ผู้นั้นเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานในที่สุด 

     ทำดีที่สุด โดยไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะกำลังเสียเปรียบหรือกำลังได้เปรียบ ตัวอย่างเช่น ในการแข่งขันเทนนิสระดับโลกครั้งหนึ่ง  ที่ดูเหมือนฝ่ายผู้คะแนนน้อยกว่ากำลังจะต้องพ่ายแพ้  แต่ด้วยใจที่ไม่ยอมแพ้ ยังคงรักษาฟอร์มการเล่นอย่างดีที่สุด  ภายหลังจึงพลิกกลับมาเป็นผู้ชนะได้ในที่สุด ในขณะที่บางครั้งเป็นเวลาที่กำลังได้เปรียบ ก็ไม่ควรประมาท เพราะสุดท้ายอาจกลับมาเป็นฝ่ายแพ้ได้ ตัวอย่างเช่น การใช้เวลาในห้องสอบของนักศึกษา ควรใช้ให้ครบเวลาสอบ แม้จะทำข้อสอบได้หรือไม่ก็ตาม หากออกก่อนเวลาย่อมทำให้ขาดโอกาสที่จะทบทวนคำตอบหรือทำคะแนนให้ดีขึ้น เป็นต้น  

     ทำดีที่สุดแม้ต้องจ่ายราคา เราไม่ควรเป็นคนยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มต้น  เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดพลาดขึ้น ก็ควรมีสติที่จะแก้ไขเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา  รวมถึงกล้าเผชิญกับความผิดพลาด  แท้จริงการทำสิ่งใดก็ตาม ต่างก็ต้องจ่ายราคาไม่มากก็น้อย  ไม่ว่าจะเป็นเวลา แรงงาน ทรัพยากรต่างๆ เราจึงควรทำอย่างดีที่สุด  อย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีกว่าในที่สุด

พ่อแม่ควรสอนค่านิยมทำดีที่สุดเสมอแก่ลูกอย่างไร

     การสอนค่านิยมทำดีที่สุดเสมอแก่ลูกควรเริ่มจากพ่อแม่ที่เป็นแบบอย่างให้ลูกเห็นผ่านการดำเนินชีวิตประจำวัน เมื่อจะทำสิ่งใดก็ทำอย่างเต็มกำลัง สุดความสามารถในทุกสถานการณ์ ไม่ทำแค่พอผ่าน หรือแม้ในยามเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น ควรมีสติ หาหนทางที่ดีที่สุดที่จะแก้ไข  เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา ไม่ล้มกระดานหรือปล่อยเลยตามเลย ตัวอย่างเช่น เมื่อสอนการบ้านลูก ก็สอนอย่างดี ไม่ใส่ค่านิยมที่ว่า การบ้านไม่ต้องทำให้ดีก็ได้ หรือหากงานที่ทำนั้นยาก ก็ควรให้กำลังใจและช่วยกันคิดหาหนทางทำจนเสร็จ ไม่ล้มเลิกหรือยอมแพ้  นอกจากนั้นในการเตรียมตัวสอบ ควรสอนลูกให้อ่านหนังสืออย่างสุดความสามารถ อย่าคิดว่าเรียนให้ได้คะแนนพอผ่านก็พอ หรือประมาทไม่ทบทวนบทเรียนเพราะคิดว่าจำได้หมดแล้ว ไม่ต้องอ่านทบทวนก็ได้ เป็นต้น

     แท้จริงในชีวิตของเราไม่ว่าจะทำสิ่งใดย่อมต้องพบอุปสรรคที่อาจทำให้เราไปไม่ถึงจุดหมายหรือ ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวัง แต่หากเราฝึกนิสัยที่จะทำให้ดีที่สุดเสมอในทุกสถานการณ์  ย่อมทำให้เราได้รับผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และไม่ต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง ลักษณะของการทำดีที่สุดในทุกเวลาเป็นคุณลักษณะของคนที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต  เป็นบุคคลที่อิ่มเอมใจในผลงานของตนเสมอ  และได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้างานให้ทำงานสำคัญรวมถึงความไว้วางใจจากคนอื่น ผมเชื่อว่าหากเราสอนลูกให้เป็นคนที่ทำดีที่สุดเสมอ  เขาจะเป็นคนที่ดีเลิศที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและกลายเป็นประชากรที่มีคุณภาพดีในประเทศของเราอีกด้วย  
 

 

ที่มา: แม่และเด็ก
ปีที่ 38 ฉบับที่ 521 กรกฎาคม 2558 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com