กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ พบว่าในปี 2047 จะเป็นครั้งแรกของโลกที่จำนวนประชากรอายุ 60 ปี มีมากกว่าประชากรเด็กบทความก่อนหน้านี้ ผมได้กล่าวถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของโลกในปี 2050 ไปแล้วว่าจะมีทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร ประเทศใดบ้างที่จะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจต่อไป และประเทศไทยควรปรับตัวอย่างไรให้สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลกในอนาคต
ทว่า ยังมีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางสังคม เนื่องจากว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ ผมขอนำเสนอแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 2050 ดังต่อไปนี้
ลักษณะโครงสร้างทางสังคมในอีก 40 ปีข้างหน้า จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมแห่งผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือกล่าวได้ว่า สังคมโลกในอนาคตจะเป็นสังคมที่ผู้สูงอายุครอบครองก็เป็นได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรของโลก ที่คนเกิดน้อยลงและอายุยืนมากขึ้น ทำให้ประชากรทั่วโลกจะมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้นอย่างน้อย 9 ปี และประชากรทั่วโลกที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะมีจำนวน 2 พันกว่าล้านคน คิดเป็นสัดส่วนได้ 1 ใน 5 หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งโลก ซึ่งพบได้ในเกือบทุกประเทศแถบยุโรป โดยเฉพาะประเทศอิตาลี เยอรมัน อังกฤษ และสแกนดิเนเวีย รวมไปถึงประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2010 และจากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ พบว่า ในปี 2047 จะเป็นครั้งแรกของโลกที่จำนวนประชากรอายุ 60 ปี จะมีมากกว่าจำนวนประชากรเด็ก นอกจากนี้ จากการคาดการณ์จำนวนประชากรผู้สูงอายุในปี 2050 ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่จะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากเป็นอันดับที่ 2 คือ รองจากประเทศสิงคโปร์ และประเทศลาว เป็นประเทศที่มีสัดส่วนของจำนวนประชากรผู้สูงอายุต่ำที่สุดในกลุ่ม