พิพิธภัณฑ์ศิลปะฮาร์วาร์ดเชื่อมการเรียนรู้สู่เด็กนักเรียนท้องถิ่น
พิพิธภัณฑ์ฮาร์วาร์ดมีส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาสติปัญญาและการเรียนรู้ไม่เฉพาะแก่ประชาคมฮาร์วาร์ดเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มเด็กนักเรียนท้องถิ่นที่สามารถใช้พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวนี้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางด้านศิลปะและประวัติศาสตร์ ช่วยให้การศึกษาเรียนรู้ของเด็กนักเรียนเหล่านี้มีชีวิตชีวา น่าสนใจ ลึกซึ้ง และสมจริงมากยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่างกิจกรรมความร่วมมือ 3 ฝ่ายระหว่างโรงเรียนมัธยมเอกชนในเมืองเคมบริดจ์ที่ชื่อว่า โรงเรียนรินดจ์และลาตินเคมบริดจ์ (Cambridge Rindge and Latin School หรือ CRLS) พิพิธภัณฑ์ศิลปะฮาร์วาร์ด (Harvard Art Museums) และโปรแกรมนักศึกษาฝึกสอนระดับบัณฑิตศึกษา (Graduate student teacher) ของบัณฑิตวิทยาลัยของคณะศึกษาศาสตร์ฮาร์วาร์ด (Harvard Graduate School of Education) ที่เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนจากโรงเรียนรินดจ์และลาตินเคมบริดจ์ได้เข้ามาสัมผัสเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะและประวัติศาสตร์ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะฮาร์วาร์ดงกล่าวนี้1
จากข้อมูลตัวเลขของฮาร์วาร์ดพบว่า กิจกรรมความร่วมมือระหว่างโรงเรียนรินดจ์และลาตินเคมบริดจ์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะฮาร์วาร์ด และโปรแกรมนักศึกษาฝึกสอนระดับบัณฑิตศึกษา นำเด็กนักเรียนจากโรงเรียนรินดจ์และลาตินเคมบริดจ์จำนวนกว่า 120 คน เข้าสู่พิพิธภัณฑ์ฮาร์วาร์ดในแต่ละภาคการศึกษา2 อันเป็นอีกหนึ่งบริการทางวิชาการสำคัญที่ฮาร์วาร์ดจัดให้แก่สังคมชุมชนท้องถิ่นในเมืองเคมบริดจ์
กิจกรรมความร่วมมือระหว่างโรงเรียนรินดจ์และลาตินเคมบริดจ์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะฮาร์วาร์ด และโปรแกรมนักศึกษาฝึกสอนระดับบัณฑิตศึกษา ดังกล่าวเป็นประโยชน์สะท้อนคิดแก่มหาวิทยาลัยไทยในหลายประการ อาทิ
สร้างสรรค์กิจกรรมเชื่อมประสบการณ์การเรียนรู้สู่เด็กนักเรียนท้องถิ่น ตามวิสัยทัศน์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ต้องการให้ฮาร์วาร์ดมีส่วนสร้างสรรค์ประโยชน์และสนับสนุนการศึกษาเรียนรู้แก่ชุมชนท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่ ผ่านกิจกรรมความร่วมมือที่จัดขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มเติมประสบการณ์การเรียนรู้ทางด้านศิลปะและประวัติศาสตร์ให้แก่เด็กนักเรียนท้องถิ่น เป็นต้น
เป็นห้องปฏิบัติการทดลองออกแบบการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษาฝึกสอนของฮาร์วาร์ด โดยกิจกรรมความร่วมมือดังกล่าวนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาฝึกสอนของบัณฑิตวิทยาลัยของคณะศึกษาศาสตร์ฮาร์วาร์ด มีส่วนร่วมออกแบบการเรียนการสอนที่มีการบูรณาการเชื่อมโยงระหว่างศิลปะของพิพิธภัณฑ์ศิลปะฮาร์วาร์ดและหลักสูตรระดับชั้นเรียนของโรงเรียนรินดจ์และลาตินเคมบริดจ์ ร่วมกับครูผู้สอนของโรงเรียนรินดจ์และลาตินเคมบริดจ์3 ซึ่งการทำงานร่วมกันดังกล่าวนี้เป็นเสมือนห้องปฏิบัติการทดลองสำคัญที่จะมีส่วนเพิ่มเติมประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาฝึกสอนของบัณฑิตวิทยาลัยของคณะศึกษาศาสตร์ฮาร์วาร์ดอีกทางหนึ่ง
ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย
ในเรื่องดังกล่าวนี้ ผมเห็นว่า มหาวิทยาลัยควรออกแบบการศึกษาเรียนรู้ให้มีมิติความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสังคมชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีภารกิจมุ่งสนองตอบความต้องการของชุมชนท้องถิ่นโดยตรง โดยการใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นสนามทดลองฝึกประสบการณ์ให้แก่นักศึกษา เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้สัมผัสเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง อันจะช่วยให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งถ่องแท้มากยิ่งขึ้น
ในภาคปฏิบัติ ผมเสนอให้มหาวิทยาลัยควรออกแบบการจัดการศึกษาโดยบูรณาการชุมชนท้องถิ่นให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อการเรียนการสอนทุกระดับ เริ่มตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนกระทั่งระดับปริญญาเอก อาทิ การออกแบบกิจกรรมการฝึกงานให้นักศึกษาคิดริเริ่มนวัตกรรมโครงงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ให้นักศึกษาฝึกฝนลงมือทำจริงในภาคปฏิบัติ มีผลสำเร็จของโครงงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้เห็นเป็นรูปธรรม อันจะเป็นช่องทางให้ชุมชนท้องถิ่นได้รับประโยชน์จากโครงงานของนักศึกษา ขณะที่นักศึกษาได้รับการพัฒนาฝึกฝนให้มีความรู้ ทักษะ และลักษณะชีวิตที่พึงประสงค์4 ผ่านการทำกิจกรรมโครงงานดังกล่าว
ผมคิดว่า ด้วยแนวทางดังกล่าวนี้นอกจากจะทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยมีความตื่นเต้น น่าสนใจ กระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์ ริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่แล้ว ยังจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญของการเชื่อมโยงการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยให้มีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ในพื้นที่ ด้วยอีกทางหนึ่ง
1Jennifer Doody. The link between art and history. [Online]. accessed July 25, 2016, available from http://news.harvard.edu/gazette/story/2016/04/the-link-between-art-and-history/
2Ibid.
3Ibid.
4เกรียงศักดิ์เจริญวงศ์ศักดิ์. คลื่นลูกที่ 5 ปราชญสังคม: สังคมไทยที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ: ซัคเซสมีเดีย, 2542), หน้า 194.
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 63 ฉบับที่ 47 วันศุกร์ที่ 5 - พฤหัสบดี 11 สิงหาคม 2559
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com