นโยบายการศึกษาในฟิลิปปินส์ กุญแจสู่ศักยภาพทางภาษาอังกฤษ

บ้านเมือง

กุญแจสำคัญที่ทำให้ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ มีศักยภาพทางภาษาอังกฤษ คือ นโยบายการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในปัจจุบันถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้เข้ามามีบทบาทในระบบการศึกษาของฟิลิปปินส์เหมือนอย่างในอดีต ทักษะความรู้ทางภาษาอังกฤษเปรียบเสมือนมรดกที่สหรัฐได้ทิ้งไว้ผ่านรูปแบบของระบบการศึกษาในฟิลิปปินส์ โดยบทความนี้จะอธิบายถึงนโยบายการศึกษาในประเทศฟิลิปปินส์ ตั้งแต่สมัยที่สหรัฐปกครองฟิลิปปินส์ จนปัจจุบันที่ฟิลิปปินส์สามารถบริหารระบบการศึกษาได้โดยปราศจากอิทธิพลของสหรัฐว่ามีความเหมือนและแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด ในประเทศฟิลิปปินส์ยุคที่ถูกปกครองโดยสหรัฐ

ความต้องการที่จะทำให้ชาวฟิลิปปินส์มีความเป็นอเมริกันมากขึ้น (Americanization) ผ่านนโยบายการศึกษาที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยคณาจารย์ชาวอเมริกัน คือยุทธวิธีที่สำคัญ ที่สหรัฐใช้เพื่อปกครองประเทศอาณานิคมอย่างเช่นฟิลิปปินส์ โดยตลอดระยะเวลาที่สหรัฐปกครองประเทศฟิลิปปินส์ ภาษาอังกฤษได้รับการสนับสนุนให้เป็นเสมือนภาษาที่สามารถสร้างอารยธรรมให้แก่ประชาชนในประเทศ ซึ่งสหรัฐมีจุดประสงค์เพื่อลดบทบาทการใช้ภาษาท้องถิ่นในประเทศผ่านระบบการศึกษาแบบอเมริกันที่เน้นการใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ระบบการศึกษาแบบอเมริกันยังส่งผลทำให้ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ ถูกลิดรอนโอกาสในการเรียนภาษาประจำชาติของตัวเอง เหตุเพราะการผูกขาดการใช้ภาษาอังกฤษในระบบการศึกษา

หลังยุคที่ถูกปกครองโดยสหรัฐจวบจนปัจจุบัน

ภายหลังจากที่ประเทศฟิลิปปินส์สามารถดำเนินนโยบายการศึกษาได้ด้วยตนเอง กระทรวงศึกษาธิการของประเทศได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการศึกษาแบบอเมริกัน ให้กลายเป็นนโยบายการศึกษาในรูปแบบ 2 ภาษา ที่ใช้ภาษาฟิลิปิโนซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ ควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ นโยบายการศึกษาในระบบ 2 ภาษา มีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนชาวฟิลิปปินส์สามารถพัฒนาทักษะทางภาษาฟิลิปปิโน ซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ และภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วยกัน

สรุป : จากอิทธิพลของสหรัฐฯ ระบบการศึกษาในประเทศฟิลิปปินส์จึงได้รับการปฏิรูปให้เป็นตามแบบอเมริกัน ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการเรียนการสอน แต่เมื่อฟิลิปปินส์ได้รับอิสรภาพจากสหรัฐแล้ว ระบบการศึกษาจึงแปรเปลี่ยนไปในรูปแบบ 2 ภาษา

เมื่อพิจารณาจากนโยบายการศึกษาของประเทศฟิลิปปินส์ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน และเมื่อมองย้อนกลับมาดูประเทศไทย ผมเชื่อว่าการพัฒนาศักยภาพทางภาษาอังกฤษของคนในชาติต้องเริ่มต้นที่ระบบการศึกษาก่อนเป็นอันดับแรก ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการควรพัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้เป็นไปในรูปแบบ 2 ภาษามากขึ้น จึงจะสามารถพัฒนาศักยภาพทางภาษาอังกฤษของประชาชนในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่ารัฐบาลควรเพิ่มงบประมาณในการปรับปรุงหลักสูตรให้ดียิ่งขึ้น โดยเน้นการเรียนรู้ภาษาอังกฤษอย่างเป็นระบบ ทั้งทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงระดับมหาวิทยาลัย อีกทั้งควรมีนโยบายทางการศึกษาที่สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบการศึกษาไทย อาทิ มาตรการในการจูงใจให้อาจารย์ชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของภาษาและมีคุณสมบัติเหมาะสมในการสอน ซึ่งอาจจะอยู่ในสถานะที่เกษียณอายุแล้ว หรือผู้ที่ลางานระยะยาว (Sabathical leave) มาพำนักในประเทศไทย เป็นต้น ดังนั้นหากประเทศไทยไม่เร่งรีบในการพัฒนาระบบการศึกษา และยกระดับภาษาอังกฤษของคนในชาติ เราจะล่าช้าและไม่มีศักยภาพเพียงพอในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.vcharkarn.com/uploads/204/205165.jpg