แนวโน้มโลก 2050 (ตอนที่ 6) : โลกแห่งสังคมเมือง (Urban World)
บทความครั้งที่ผ่านมา ผมได้นำเสนอแนวโน้มของโลกปี 2050 เรื่อง "Meta City" และได้พูดถึงผลกระทบอันเกิดจากความเป็นเมือง (Urbanization) ของโลกในอนาคตไปบ้าง ดังนั้นในบทความชิ้นนี้ผมจึงอยากอธิบายถึง แนวโน้มของโลกปี 2050 เรื่องความเป็นเมือง (Urbanization) เพิ่มเติมจากบทความครั้งก่อน โดยจะอธิบายถึง บริบทของโลกปี 2050 ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านความเป็นเมือง (Urbanization) ไปในทิศทางใด และเราทุกคนควรวางแผนและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปอย่างไร
เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ "ความเป็นเมือง" มากขึ้น ผมจะขออธิบายความหมายของคำดังกล่าวเสียก่อน ซึ่งคำนี้ราชบัณฑิตยสถาน ปี พ.ศ. 2524 ที่ได้นิยามไว้ว่า "ความเป็นเมือง" (Urbanization) หมายถึง กระบวนการที่ชุมชนกลายเป็นเมือง หรือการเคลื่อนย้ายของผู้คนหรือการดำเนินกิจการงานเข้าสู่บริเวณเมืองหรือการขยายตัวของเมืองออกไปทางพื้นที่ การเพิ่มจำนวนประชากร หรือในการดำเนินกิจการงานต่างๆ ที่มากขึ้น
เมื่อพิจารณาข้อมูลจากเอกสาร World Urbanization Prospects ประจำปี 2014 ที่จัดทำขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ ได้ระบุไว้ว่า ปัจจุบันประชากรโลกอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากกว่าเขตชนบท โดยในปี 2007 คือปีแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชาชนคนเมืองมีจำนวนมากกว่าประชากรชนบท โดยตลอดระยะเวลากว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้เกิดการพัฒนาเข้าสู่ความเป็นเมืองอย่างรวดเร็วและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ทั้งนี้ในปี 2050 มีการคาดการณ์ไว้ว่า จำนวนประชากรที่อาศัยในเมืองจะมีมากขึ้นถึงร้อยละ 66 ของประชากรโลกทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบัน คือ ร้อยละ 54
ทั้งนี้ ระดับความเป็นเมืองของพื้นที่ต่างๆ ในโลกยังคงมีความแตกต่างกันอย่างมาก เพราะเมื่อพิจารณาสัดส่วนของความเป็นเมืองระหว่างยุโรป เอเชีย และแอฟริกา จะพบว่า ในปัจจุบัน ยุโรปมีประชากรทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองกว่าร้อยละ 73 ซึ่งแตกต่างจากเอเชียและแอฟริกาที่ประชาชนอาศัยอยู่ในเขตเมืองคิดเป็นร้อยละ 48 และร้อยละ 40 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงอัตราการพัฒนาเพื่อเข้าสู่ความเป็นเมืองจะพบว่าภูมิภาคเอเชียและแอฟริกามีแนวโน้มเติบโตในอัตราสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นในปี 2050 คือ ร้อยละ 64 และร้อยละ 56 ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างจากยุโรปที่มีอัตราความเป็นเมืองเพิ่มขึ้นเพียงประมาณร้อยละ 7 เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีระดับความเป็นเมืองที่สูงอยู่แล้ว
เมื่อพิจารณาในเชิงภาพรวมของโลกในปี 2050 ประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Country) จะมีระดับความเป็นเมืองเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 คือ จากร้อยละ 80 เป็นร้อยละ 86 ซึ่งต่างจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (Upper- Middle Income Country) เช่น จีน บราซิล อิหร่าน และเม็กซิโก เป็นต้น ที่จะมีอัตราความเป็นเมืองเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16 คือจากร้อยละ 63 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 79 ในปี 2050
ทั้งนี้ สำหรับประเทศที่มีรายได้น้อย (Low Income Country) และปานกลางระดับล่าง (Lower Middle Income Country) จะเป็นกลุ่มประเทศที่มีระดับการเติบโตด้านความเป็นเมืองที่สูงที่สุด ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันจากร้อยละ 30 และร้อยละ 39 เป็นร้อยละ 48 และ ร้อยละ 57 ตามลำดับ และในช่วงระหว่าง ปี 2014 จนถึงปี 2050 ประชากรในเขตชนบทจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นใน 1 ใน 3 ของประเทศทั่วโลก โดยประเทศที่มีแนวโน้มประชากรในชนบทเพิ่มสูงสุด คือ ประเทศไนจีเรีย (50 ล้านคน) และกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกจำนวนประชากรในเขตชนบทมีแนวโน้มลดลง โดยจีนจะเป็นประเทศที่จำนวนประชากรในชนบทลดลงสูงสุด (300 ล้านคน) และ อินเดีย (52 ล้านคน) ตามลำดับ
หากพิจารณาประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการคาดประมาณจำนวนประชากรภายในประเทศ พบว่า ในปี พ.ศ. 2556 มีประชากรอาศัยอยู่ในเขตเมืองร้อยละ 45.90 ซึ่งแตกต่างจาก ประชากรเขตเมืองปี พ.ศ. 2554 ที่มีอัตราส่วนเพียงร้อยละ 36.12 ของประชากรทั้งประเทศ
และในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบน (Upper- Middle Income Country) ที่มีแนวโน้มพัฒนาสู่ความเป็นเมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาเพื่อเข้าสู่สังคมเมืองที่มากยิ่งขึ้นส่งผลด้านดี เช่น การทำธุรกิจค้าขายเป็นไปสะดวกสบายมากขึ้น จากการที่คนอยู่กันอย่างหนาแน่น การขนส่งสินค้ามีต้นทุนต่ำ นอกจากนี้ยังมีผลทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างบุคคลมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาความเป็นเมืองมากขึ้นอาจทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของประชากรอันส่งผลทำให้ปัญหาต่างๆ ในสังคมเมืองทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นด้วย เช่น ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย ปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและรายได้ ปัญหาการบริการจากภาครัฐที่ไม่ทั่วถึง หรืออาจจะเป็นปัญหาจากการอพยพเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว เป็นต้น
จากผลกระทบทางด้านบวกและด้านลบดังกล่าว ประเทศควรมีการเตรียมพร้อม มีการกำหนดนโยบายในการใช้ประโยชน์จากความเป็นเมืองที่มากขึ้น และนโยบายในการรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากความเป็นเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นภายใน ต้องมีการคำนึงว่าจะจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างไร เพื่อให้ประชาชนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ มีความเหลื่อมล้ำในระดับที่ต่ำ มีระบบการศึกษา มีระบบคมนาคมขนส่งที่มีคุณภาพ มีระบบสาธารณสุขที่เพียงพอต่อความต้องการของคนในเมือง
การวางแผนพัฒนาประเทศระยะยาวอาจช่วยให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดจากความเป็นเมืองที่สูงขึ้นและลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://news.mthai.com/wp-content/uploads/2012/06/1africa-05-06.114739248...
Catagories:
Tags:
Post date:
Wednesday, 14 January, 2015 - 11:55
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
เมื่อธรรมาภิบาลสั่นคลอน: บทเรียนและทางออกสำหรับตลาดทุนไทย
Total views: อ่าน 33 ครั้ง
แชร์ไอเดีย นโยบายการจัดการยาบ้าออกจากสังคมไทย
Total views: อ่าน 61 ครั้ง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 247 ครั้ง
การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง
Total views: อ่าน 221 ครั้ง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 284 ครั้ง