สร้าง "นิสัยเศรษฐี" ให้ลูกรัก

ปรากฏการณ์ "เถ้าแก่น้อยร้อยล้าน" "รวยได้แต่เด็ก" ประสบความสำเร็จ (เป็นเศรษฐี) ตั้งแต่อายุยังน้อย ฯลฯ ที่กำลังเป็นกระแสมาแรงในสังคมไทย ในโลกเสรีทางการค้าและข้อมูลข่าวสารที่เปิดกว้างในปัจจุบันก่อให้เกิดช่องทางในการเป็นเศรษฐีใหม่ หรือ ผู้ที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ ได้อย่างไม่ยากเย็นนักเมื่อเทียบกับยุคสมัยก่อนหน้า เศรษฐีใหม่วัยหนุ่มสาว ต่างตบเท้าเรียงหน้ากระดานเข้าสู่แวดวงทางธุรกิจ จำนวนมาก มีการเผยแพร่ผลงานความสำเร็จดังกล่าวออกไปอย่างกว้างขวางในทุกทาง ทั้งงานเขียน สื่อทีวี และการกล่าวถึงในสังคมออนไลน์ ก่อเกิดกระแสแรงผลักดันจากต้นแบบหรือไอดอลผู้ประสบความสำเร็จนั้นส่งต่อไปสู่ หนุ่มสาววัยเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง ฯลฯ ต่างปรารถนาอยากประสบความสำเร็จเช่นเดียวกันแบบนี้บ้าง โดยนิยามแห่งความสำเร็จ หรือการเป็นเศรษฐี ที่คนส่วนมากเข้าใจหรือให้ความหมายไว้นั่นคือ  การประสบความสำเร็จในธุรกิจการงานจนมีฐานะร่ำรวย มีทรัพย์สินเงินทอง  สินทรัพย์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมากเพียงพอให้ตนเองมีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย อยากได้อะไรก็ได้  มีเสรีภาพทางการเงิน ไปตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม หากเราให้ความหมายของการเป็นเศรษฐีเพียงแค่ผู้ที่มีทรัพย์สินเงินทองจำนวนมากแล้ว อาจส่งผลต่อความเข้าใจถึงหนทางในการเป็นเศรษฐีที่บิดเบี้ยวไปได้  อาทิ   พ่อแม่อาจตั้งเป้าหมายในชีวิตลูกว่าทำงานอะไรก็ได้หากสามารถหาเงินได้มาก ๆ   "เด็กหนุ่มสาวเลียนแบบไอดอลคนดังลาออกจากโรงเรียนเพื่อไปทำธุรกิจโดยคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จแบบเขาบ้าง" การเลียนแบบความกล้าได้กล้าเสียในการเก็งกำไร การลงทุนทางธุรกิจที่ทุ่มสุดตัว  อย่างไม่ได้คิดประเมินความเสี่ยงของตนเอง   ฯลฯ  อันอาจส่งผลเสียมากมาย สูญเสียทรัพย์สิน สูญเสียเวลาไปอย่างน่าเสียดาย  

พ่อแม่จึงควรปลูกฝังให้ลูกเข้าใจว่าการเป็นเศรษฐีนั้น   มิใช่เพียงการครอบครองทรัพย์สินเงินทองไว้จำนวนมากมายเท่านั้น   คนที่ร่ำรวยมากในวันนี้จากเศรษฐีอาจเป็นยาจกได้เพียงชั่วข้ามคืน  การเป็นเศรษฐีที่แท้จริงและยั่งยืนนั้นเกิดขึ้นมากจากการสร้าง ?นิสัยเศรษฐี?  ให้เกิดขึ้นตั้งแต่ในวัยเยาว์ต่างหาก   ดังคำกล่าวของอริสโตเติล อภิมหาปรัชญาชาวกรีก ที่กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า  ?ความเป็นเลิศมิได้เกิดจากเพียงแค่การกระทำอย่างเดียว แต่เกิดจากจากพฤติกรรมทำสิ่งนั้นซ้ำ ๆ จนเป็นนิสัย?   หากเราปรารถนาเป็นเศรษฐีจึงจำเป็นต้องสร้างนิสัยเศรษฐีให้เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเยาว์เช่นกัน  
การสร้างนิสัยของเศรษฐี ประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ประการได้แก่   

1.สร้างลักษณะชีวิตสู่การเป็นเศรษฐี 
 หากประมวลภาพรวมของบุคคลผู้ประสบความสำเร็จ  หรือ มหาเศรษฐีทั่วโลก ต่างพบว่าล้วนแล้วแต่มีลักษณะชีวิตบางประการที่คล้ายคลึงกัน   ดังที่ผมได้เขียนไว้ในหนังสือ "ยอดคน  กุญแจแห่งชัยชนะ  20 ดอก" อันเป็นการรวบรวมรากฐานแห่งความสำเร็จมาจากลักษณะชีวิต ของบุคลที่จะประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ รวมถึงเหล่าบรรดาเศรษฐี ผู้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจมากมายต่างมีลักษณะชีวิตทั้ง 20 ประการ อันประกอบไปด้วย  การมีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกล ความซื่อสัตย์ ซื่อตรงและเที่ยงธรรม ยุติธรรม รักษาคำพูด  รักษาสัญญา มีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัย   รู้จักบังคับตนเอง อดทนพากเพียร มุ่งมั่น  ขยัน  เอาจริงเอาจัง รอบคอบ  กระทำดีเลิศทุกเวลา มีมนุษย์สัมพันธ์ไวต่อความรู้สึกผู้อื่น มีคำพูดและความคิดแง่บวก มีความกล้าหาญ เสียสละ และการมีลักษณะชีวิตแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตัวอย่าง เช่น การมีวิสัยทัศน์ทางด้านไอที ความกระตือรือร้นในการทำงานที่ชอบ และรักการเรียนรู้อยู่เสมอของของบิล เกตส์ ส่งผลให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกมาหลายปีติดต่อกัน ? วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีด้านการลงทุนชื่อดังได้กล่าวถึงกฎทองสิบประการสู่ความสำเร็จของตนเอง หนึ่งในนั้น คือ อย่าขี้เกียจ และจงทำงานหนัก โดยกล่าวว่า ส่วนใหญ่แล้วการทำงานหนักจะนำผลกำไรมาให้ ในขณะที่การพูดมากแต่ไม่ทำกลับจะนำมาซึ่งความยากจนแทนที่  เป็นต้น 

2.ฝึกทักษะการเงินสู่การเป็นเศรษฐี
ทักษะทางการเงิน เป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่จำเป็นต้องสอนลูกตั้งแต่วัยเยาว์  ในทุกช่วงวัยของการพัฒนาการ เพราะเป็นเรื่องที่อาจไม่มีสอนในโรงเรียน  เป็นทักษะชีวิตที่มีผลต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิตของคนคนนั้น   พ่อแม่ควรสอนลูกในเรื่องของการบริหารเงินในด้านต่าง ๆ ตามแต่ละช่วงวัยที่ลูกสามารถรับรู้และเข้าใจได้ โดยแบ่งเป็นหมวดหลัก ๆ เพื่อง่ายต่อความเข้าใจ  อาทิ  

  • "การหาเงิน"  มิใช่อยู่เฉย ๆ แล้วเงินจะออกมาทางตู้เอทีเอ็ม   เราหาเงินจากแหล่งใดได้บ้าง  เช่น รายได้จากการทำงานประจำของพ่อแม่ การลงทุน การกู้เงิน  ข้อดีและข้อเสีย ฯลฯ  หรือมีแนวทางในการหาเงินอื่น ๆ หรือไม่  อาทิ  การขายของมือสอง ของใช้แล้ว   การแยกขยะรีไซเคิลของในบ้านนำไปขายเป็นรายได้กลับคืนมา เป็นต้น
  • "การใช้เงิน"  เราควรใช้เงินอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ฉลาดที่สุด  หามาได้เท่าไร ใช้ไปเท่านั้นหรือไม่  การเลือกซื้อสินค้า อะไรฟุ่มเฟือย อะไรจำเป็น การบังคับใจตนเอง  เครื่องมือในการซื้อสินค้าต่าง ๆ อาทิ บัตรเครดิต วิธีการซื้อสินค้า วางแผนก่อนซื้อ หรือซื้อตามอารมณ์ การคิดวิเคราะห์เปรียบเทียบราคาสินค้า  กลลวงการซื้อของออนไลน์  บัตรเติมเงิน สมาร์ทโฟน เป็นต้น 
  • "การออมเงิน"  ความสำคัญในการออมเงิน   การแบ่งสัดส่วนการออมเงินจากรายได้ที่รับ เครื่องมือในการออมเงิน อาทิ  การหยอดกระปุก  การฝากเงินในบัญชีธนาคาร  เป็นต้น
  • "การลงทุน"   พ่อแม่สามารถสอนลูกในเรื่องของการลงทุนอย่างง่าย ๆ ได้ โดยหลักการสำคัญคือทำอย่างไรให้เงินที่มีอยู่งอกเงย  ตัวอย่างเช่น  การสอนในเรื่องดอกเบี้ยธนาคาร  ผลตอบแทนจากการซื้อสลากออมสิน  การทดลองลงทุนทำธุรกิจง่าย ๆ ด้วยตนเอง  การคิดต้นทุน กำไร  อาทิ  การทำขนมขาย  การขายของที่ถนนคนเดิน  การขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
  • "การประเมินความเสี่ยงทางการเงิน"   โดยอาศัยเครื่องมือในการคิดวิเคราะห์  คิดวิพากษ์ คิดเปรียบเทียบ การคิดเชิงอนาคต และคิดเชิงสร้างสรรค์  คิดเชิงประยุกต์ ฯลฯ  เพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดในการหาเงิน การใช้เงิน การออมเงิน และการลงทุนดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  โดยคิดอย่างรอบคอบถึงผลดีผลเสียที่เกิดขึ้น  อาทิ  ความเสี่ยงในการลงทุน หรือการหาเงินด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น  การกู้หนี้ยืมสิน   การเล่นหุ้น  การเล่นหวย เล่นการพนันอื่น ๆ ,  การคิดสร้างสรรค์ในการลงทุนทำธุรกิจ  การประยุกต์ใช้สินค้าทดแทนต่าง ๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในสินค้าที่ฟุ่มเฟือย  เป็นต้น 

3.ตั้งเป้าหมายอันทรงคุณค่าสู่การเป็น "เศรษฐี"  หากเป้าหมายแรงจูงใจของการเป็นเศรษฐีของเราเพียงเพื่ออยากจะเป็นคนที่ร่ำรวย มีเงินทองมากมาย อยากได้อะไรก็ได้ อยากซื้ออะไรก็ซื้อ  ได้อวดชาวบ้านให้อิจฉาเล่น มีกินมีใช้สบายไปตลอดชาติแล้วล่ะก็    นับว่าเป็นแรงจูงใจที่มีพลังต่ำมาก   การให้คุณค่าของการเป็นเศรษฐีเพียงเพื่อตอบสนองความอยากได้อยากมีของตนเองเท่านั้น  ไม่สามารถมีพลังเพียงพอให้เราสามารถไปถึงเป้าหมายของการเป็นเศรษฐีอย่างอิ่มเอมใจได้    คนจำนวนมากหาเงินได้มากมายจนถึงระดับเศรษฐีแต่กลับคิดว่าตนเองยังไม่รวยพอเพราะไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่มีมากกว่าตน   ต้องพยายามตะเกียกตะกายหาเงินให้มากขึ้น จนสุขภาพร่างกายทรุดโทรม ชีวิตครอบครัวพังทลาย  หลายคนมองคุณค่าตนเองอยู่ที่ความร่ำรวย เมื่อเกิดวิกฤติเงินทองที่หามาได้หร่อยหรอไป ย่อมอาจมองเห็นตนเองไร้ค่าจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป  หรืออาจคิดหาวิธีการที่ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทองในทางมิชอบด้วยความโลภ อาทิ  การฉ้อโกง ทุจริตคอร์รัปชั่น ค้ายาเสพติด  เจ้ามือการพนัน  ฯลฯ  อันนำมาซึ่งความอัปยศอดสูสู่ตัวเองและลูกหลานวงตระกูลที่ตามมาในที่สุด    


    อย่างไรก็ตามหากเป้าหมายของการอยากเป็นเศรษฐีนั้น พ่อแม่ได้สอนลูกให้ใส่คุณค่าสิ่งดีงามบางอย่างผนวกลงไปด้วย  ย่อมเป็นการเพิ่มพลังด้านบวกอย่างมหาศาลในการสร้างแรงจูงใจให้เกิดแรงมุมานะ พากเพียรพยายามเพื่อไปสู่เป้าหมายอันทรงคุณค่านั้นได้อย่างไม่ยากเย็นและมีสันติสุขในสิ่งที่ได้ทำลงไป   หรือในอีกแง่มุมหนึ่ง การเป็นเศรษฐีนั้น อาจไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่อาจเป็นผลพลอยได้ของเป้าหมายบางอย่างที่เราได้ให้คุณค่ามันไว้อย่างสูงก็เป็นได้   ตัวอย่างเช่น  ทั้งบิล เกตส์  และทอมัส แอลวา เอดิสัน ล้วนแล้วแต่ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อให้ได้เป็นเศรษฐีเพื่อร่ำรวย ในตอนแรก  แต่แรงจูงใจเริ่มต้นของเขาเพียงเพื่อปรารถนาอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้น ทั้งในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อมวลมนุษยชาติ  หรือการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ด้วยการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์ เป็นต้น  คนทั่วโลกจึงมิได้จดจำชื่อของเขาว่าเป็นเพียงมหาเศรษฐีเท่านั้น แต่ยังเป็นที่จดจำในฐานะของนักประดิษฐ์ นักคิดผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทำคุณประโยชน์นานาประการให้แก่ชนรุ่นหลังอย่างมากมายอีกด้วย
    
การตั้งเป้าหมายอยากเป็นเศรษฐี มิใช่เรื่องที่ผิดแต่ประการใด  หากเราสอนลูกไม่ให้เงินอยู่ในใจ แต่ให้เงินเป็นสิ่งที่อยู่ในมือเพื่อนำไปใช้ทำประโยชน์ในด้านต่าง ๆ   ให้เกิดสิ่งดีมากมายทั้งต่อตนเองและสังคมแล้ว ย่อมเป็นการดี ในการช่วยลูกให้มีแนวคิดในเรื่องการเป็นเศรษฐีอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างอุปนิสัยแห่งการเป็นเศรษฐีให้เกิดขึ้น ด้วยการสร้างลักษณะชีวิตอันนำไปสู่ความสำเร็จทั้งยี่สิบประการ รวมไปถึงการฝึกฝนทักษะด้านการเงินอย่างเข้าใจครบถ้วนตามพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย ทั้งในเรื่องของการหาเงิน ให้เงิน การออม การลงทุน การประเมินความเสี่ยง และสำคัญคือการสร้างแรงจูงใจด้วยการใส่คุณค่าอันดีงามทั้งต่อตนเองและผู้อื่นลงไป  เพื่อเป้าหมายสู่การเป็นเศรษฐีนั้นจะเต็มไปด้วยพลังอันยิ่งใหญ่ในการสร้างคุณประโยชน์สู่สังคมอย่างมากมายตามมาพร้อมด้วยความภาคภูมิใจและอิ่มเอมใจ  มากไปกว่าการเป็นเศรษฐีเพียงเพื่อสะสมความมั่งคั่งร่ำรวยไว้อวดกันแต่เพียงอย่างเดียว  

ที่มา: แม่และเด็ก
ปีที่ 38 ฉบับที่ 521 กรกฎาคม 2558 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ