'ยุทธศาสตร์หัวเข็มขัด' เพื่อไทยได้ประโยชน์สูงสุด ในการร่วมมือกับจีน
บนเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน ไทยมีความพร้อมขนาดไหน ในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนของจีน และหากไทยร่วมมือในโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) นี้จริง ไทยจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง?
เมื่อไม่นานมานี้ ผมพาคณะนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติ (นสช.) และสมาชิกสมาคมศิษย์เก่าสถาบันการสร้างชาติ ไปดูงานที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน เพื่อเรียนรู้บทเรียนด้านการสร้างชาติ เพื่อสร้างสัมพันธ์ดึงจีนมาช่วยสร้างชาติไทย ให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุด
การไปดูงานครั้งนี้ ผมได้พูดคุยกับตัวแทนภาครัฐจีนในหลายเรื่อง เช่น การปลูกกัญชง-กัญชา การพัฒนาระบบขนส่ง การลงทุนในยูนนาน และโครงการ One Belt One Road (OBOR) ซึ่งจีนเปลี่ยนชื่อเป็น Belt and Road Initiative (BRI) หรือโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นยุทธศาสตร์หลักของจีนในการขยายอิทธิพลบนเวทีโลก
ในช่วงเวลาที่ผมอยู่ที่จีน ผมได้พูดคุยกับตัวแทนฝ่ายจีนเรื่องโครงการ BRI โดยขอให้จีนร่วมมือกับไทย สนับสนุนให้ไทยเป็นหัวเข็มขัด (Buckle) ของโครงการ BRI (เปรียบเหมือนเข็มขัดที่จะใช้การได้ ต้องมีหัวเข็มขัดถ้าไม่มีหัวเข็มขัด เข็มขัดก็จะรูดได้ง่าย) หรือหมายถึง การสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการลงทุนของจีนด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ
- การสร้างเมืองใหม่ในไทย ที่มีมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของจีนเข้ามาตั้งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยชิงหวา มหาวิทยาลัยปักกิ่ง หรือมหาวิทยาลัยระดับ Top 20 ของจีน
- การสนับสนุนให้ไทยเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษลำดับที่ 7 ของจีน เพิ่มเติมจาก 6 แห่งที่มีอยู่แล้ว (เซินเจิ้น จูไห่ ซัวเถา เซียะเหมิน คาสือ และ ไห่หนาน) เป็นต้น
1.เหตุใดไทยจึงเหมาะสมที่จะหัวเข็มขัดของ BRI?
1) ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนโดยธรรมชาติ
กรุงเทพเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ ที่ใกล้ที่สุด
การเดินทางจากกรุงเทพไปจุดอื่นในอาเซียนเป็นเรื่องง่ายมากเช่น จากกรุงเทพไปเมียนมาร์ ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ไปเวียดนาม 1-2 ชั่วโมง ไปกัวลาลัมเปอร์1- 2 ชั่วโมง ไปสิงคโปร์ประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ไปฟิลิปปินส์ประมาณ 3 ชั่วโมง นอกจากนี้กรุงเทพยังอยู่ใกล้จีนเช่น จากกรุงเทพไปกวางโจวใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งหรือ กรุงเทพไปคุณหมิง ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เป็นต้น
กัมพูชา เมียนมาร์ ลาว ต่างก็ใช้ไทยเป็นศูนย์กลาง (hub) อยู่แล้ว
หากเราเดินทางไปเมียนมาร์ ลาว หรือกัมพูชา จะพบสินค้าไทยวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ผู้คนในประเทศเหล่านี้เต็มใจรับเงินบาทในการซื้อขาย และการเดินทางมาท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจในไทย แล้วเดินทางต่อไปยังประเทศเหล่านี้จึงง่ายและสะดวกมาก
ไทยสามารถเชื่อมต่อมหาสมุทร 2 ฝั่งได้รวดเร็ว ประหยัด ปลอดภัย
ประเทศไทยสามารถเชื่อมต่อมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกันได้ ทำให้ไม่ต้องแล่นเรือผ่านช่องแคบมะละกาของมาเลเซีย หรือผ่านสิงคโปร์ต้องใช้เวลานาน ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการเดินทางผ่านประเทศไทย (ในกรณีที่มีการตัดคลองเชื่อมมหาสมุทร) ซึ่งเป็นเส้นทางตรงที่ทำให้การเดินทางรวดเร็วขึ้น
2) ไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์
จากการจัดอันดับด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ (TheLogistics Performance Index:LPI) ของธนาคารโลก ปี 2018 ไทยถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 32 ของโลกจาก 160 ประเทศเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนไทยอยู่อันดับที่ 2โดยอันดับ 1 ของอาเซียน คือ สิงคโปร์ (อันดับที่ 7 ของโลก)
นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ และเป็นประโยชน์แก่นักลงทุนจีน ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทยและใช้ไทยเป็นฐานสำหรับการเชื่อมโยงไปประเทศอื่นในอาเซียน
3) ไทยมีความเป็นมิตรกับจีนมาก
คนไทยจำนวนมากมีเชื้อสายจีนคนไทยจึงมีความคุ้นเคยและรู้สึกเป็นมิตรกับคนจีนมากหากจีนจะไปร่วมมือกับประเทศอื่นอาจทำได้ยากกว่า เช่น การร่วมมือกับเมียนมาร์ จีนอาจต้องเผชิญกับคน 58 ชนเผ่าที่ต่อสู้กับรัฐบาลพม่า ทำให้การร่วมมือกับพม่าทำได้ยาก เป็นต้น
2.เหตุใดจีนและไทยควรร่วมมือผลักดันให้ไทยเป็นหัวเข็มขัดของ BRI?
ที่ผ่านมา “จีนอาศัยความเจริญจากเมืองอื่นมาช่วยพัฒนาประเทศ” เช่น เมืองเซินเจิ้นที่เจริญขึ้นโดยอาศัยฮ่องกง เมืองเซี่ยเหมินที่เจริญขึ้นโดยอาศัยไต้หวัน เมืองจูไห่ที่เจริญขึ้นโดยอาศัยมาเก๊า ในเวลานี้หากจีนต้องการทำให้มณฑลทางใต้ของจีนเจริญขึ้นกว่าเดิมควรอาศัยอาเซียนโดยเฉพาะไทย ทั้งนี้ผมเชื่อว่าไทยมีโอกาสเจริญเหมือนเซินเจิ้น ทั้งไทยและจีนจะเจริญไปพร้อมกัน ถือว่าได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย
1) ไทยได้ประโยชน์
ปัจจุบันไทยเผชิญปัญหาหลายประการ ในระยะสั้น เศรษฐกิจชะลอตัวเนื่องจากการส่งออกและการท่องเที่ยวหดตัว จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการบริโภคและการลงทุนของเอกชนที่ชะลอตัวเนื่องจากผลกระทบจากภัยแล้ง
ขณะที่ในระยะยาวไทยต้องเผชิญความท้าทายในการแข่งขันในเวทีโลก โดยเฉพาะการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพ และการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจพัฒนานวัตกรรมนั้นเป็นเรื่องยากและใช้เวลานาน
ด้วยเหตุนี้หากไทยไม่ได้รับการสนับสนุนจากจีน ในด้านการค้าการลงทุนคงยากที่พัฒนาขึ้นมาได้
2) จีนได้ประโยชน์
จีนได้ประโยชน์หลายประการจากการร่วมมือกับไทย ให้ไทยเป็นหัวเข็มของ BRI เช่น
- จีนสามารถเชื่อมต่อไปยังทุกที่ในอาเซียนได้สะดวกรวดเร็ว ทั้งเพื่อการท่องเที่ยว การลงทุน การขนส่งสินค้าและการแสวงหาแหล่งสร้างงานและแหล่งลงทุนในต่างประเทศ
- จีนจะมีไทยเป็นพันธมิตรในอาเซียนและเวทีโลก แม้ไทยไม่ได้เป็นมหาอำนาจ แต่ก็เป็นพันธมิตรที่ดีให้จีนในอาเซียนและเวทีโลกได้
ผมได้อธิบายแนวคิดนี้กับเจ้าหน้าที่ของจีนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคนเหล่านั้นเห็นด้วยกับผม และสัญญากับผมว่าจะแจ้งเรื่องนี้ให้หน่วยงานของรัฐและรัฐบาลในกรุงปักกิ่งทราบ ผมจึงหวังว่ารัฐบาลไทยจะเห็นด้วยและผลักดันแนวคิดนี้และนำไปคุยกับภาครัฐของจีนโดยเร็ว
เพราะหากไทยล่าช้าเราอาจเสียโอกาส เนื่องจากมีหลายประเทศพยายามจะร่วมมือกับจีนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเหตุให้ไทยหมดความน่าสนใจ และทำให้จีนไม่มีเหตุผลที่จะต้องร่วมมือกับไทยเต็มที่นัก ทำให้คนไทยไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควรจาก BRI
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
แหล่งที่มาของภาพ : https://image.bangkokbiznews.com/image/kt/media/image/news/2020/02/26/868106/750x422_868106_1582721390.jpg?x-image-process=style/LG-webp
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com