อารยวาที : ดีเบตเพื่อทุกฝ่ายชนะ

หลังจากที่พิจารณาแล้ว เราแต่ละคนจะเกิด ?จุดยืน? ต่อเรื่องนั้น ๆ ที่ชัดเจนขึ้น แต่อาจจะเป็นจุดยืนที่แตกต่างกันเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย หรือฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายค้าน

การตัดสินใจโดยใช้ ?อำนาจ? ที่มากกว่า อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด นอกจากอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งแล้ว ยังอาจทำให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างไม่รอบคอบ และทำให้ส่วนรวมต้องรับผลกระทบเชิงลบตามมา

ดังนั้น ในเรื่องที่มีผลกระทบต่อหลายฝ่าย และมีจุดยืนที่แตกต่างกัน จำเป็นต้องเปิดกว้างให้แต่ละฝ่ายนำเสนอเหตุผลเพื่อสนับสนุนจุดยืนของตน และนำเสนอเหตุผลโต้แย้งจุดยืนของอีกฝ่าย หรือเรียกว่า การดีเบต มุ่งหมายเพื่อให้ผู้ฟังเชื่อมั่นและเห็นด้วยในจุดยืนของตน และเห็นจุดอ่อนในจุดยืนของอีกฝ่ายหนึ่ง

การดีเบตโดยทั่วไปอาจมุ่งหมายที่จะเอาชนะมากจน นำเสนอแบบ จุดยืนของตน ?ดีทั้งหมด? ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง ?ไม่ดีทั้งหมด? และอาจมุ่งเอาชนะกลายเป็นการ ?โต้คารม? โดยไม่คำนึงว่า สิ่งนั้นดีจริงหรือไม่ เป็นความจริงหรือไม่ พยายามเอาชนะด้วยการเล่นลิ้น เล่นคำ เพื่อกระตุ้นจูงใจความรู้สึกของผู้ฟัง มากกว่าที่จะเน้นเหตุผลสนับสนุนประเด็นที่จะดีเบต ทำให้ไม่สามารถได้บทสรุปที่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ภาพรวมอย่างแท้จริง

ดังนั้น หากในสถานการณ์ที่ต้องมีการดีเบตกัน จำเป็นต้องดีเบตกันอย่างอารยะ หรือที่ผมเรียกว่า อารยวาที

อารยวาที หมายถึง การที่แต่ละฝ่ายนำเสนอเหตุผลเพื่อสนับสนุนจุดยืนของตน และนำเสนอเหตุผลโต้แย้งจุดยืนของอีกฝ่าย โดยมีหลักปรัชญาอารยะกำกับ ก่อนการตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง

อารยวาที เป็นขั้นตอนที่ 6 ของอารยสนทนา หลังจากที่เราเอามุมมองมาร่วมกันถกแถลงและพิจารณาแล้ว เราจะเริ่มมี ?จุดยืน? ที่ชัดเจนขึ้น แต่เป็นจุดยืนที่แตกต่างกัน เป็น 2ฝ่าย ฝ่ายเห็นด้วย และ ฝ่ายไม่เห็นด้วย จึงจำเป็นต้องมาดีเบตกันให้สุด ก่อนที่เราจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง  

การดีเบตที่อารยะ ไม่ได้มุ่งเอาชนะ แต่มุ่งเพื่อให้แต่ละฝ่ายเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ในประเด็นซึ่งมีผลกระทบทั้งมุมบวกและมุมลบ จะช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลที่ครบถ้วนชัดเจนเพียงพอที่จะตัดสินได้ว่า ถ้าเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเกิดผลดี ผลเสียอย่างไร จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเรื่องใด จะเลือกแบบไหน เพราะอะไร ทำแล้วดีอย่างไร ต้องมีข้อควรระวังอย่างไร ฯลฯ

โดยหลักการอารยวาที ที่ควรจะมี ได้แก่

สนับสนุนจุดยืนของตนอย่างอารยะ

ในการอารยวาที ฝ่ายที่เชื่อมั่นในจุดยืนของตน จะต้องเชื่อมั่นว่า เป็นสิ่งที่ดี ถูกต้องเหมาะสม ? ดีจริง งามจริง และเป็นสิ่งที่จริง และมีเหตุผลที่สนับสนุนจุดยืน โดยต้องพยายามยกข้อมูลหรือชี้แจงให้สังคมเห็นว่า เรื่องที่กำลังทำอยู่เป็นเรื่องดีมีประโยชน์ หรือถูกต้องแล้ว หรือเพื่อให้อีกฝ่ายได้กลับมาฉุกคิด และมีจุดยืนในทิศทางเดียวกัน เป็นการพูดความจริง ให้ข้อมูลจริง มีเหตุผลที่ชัดเจน สมเหตุสมผล เชื่อถือได้ ไม่ใช่การพูดจูงใจ หรือให้ข้อมูลในลักษณะของโฆษณาชวนเชื่อ มีความมั่นใจว่า เหตุผลของตนนั้นดีจริง งามจริง และเป็นจริง

โต้แย้งจุดยืนอีกฝ่ายอย่างอารยะ

ในกรณีที่เรื่องนั้นเรามีจุดยืนที่ตรงกันข้าม จะโต้แย้งจุดยืนของอีกฝ่ายอย่างอารยะ เพื่อแสดงจุดยืนของตนว่า ไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของอีกฝ่ายอย่างไร โดยชี้ให้เห็นจุดอ่อน ช่องโหว่ ปัญหา หรือผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นการนำเสนอเหตุผล ข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่มีน้ำหนักความน่าเชื่อถือ ไม่เน้นความร้อนแรงทางวาจาหรือคำพูด ไม่ปะทะคารมกันอย่างรุนแรง ไม่พูดท้าทายหรือกล่าวหานอกประเด็น จุดมุ่งหมายเพื่อให้อีกฝ่ายและสังคม เกิดการฉุกคิด ให้รอบคอบมากขึ้นก่อนการตัดสินใจ

เมื่อทุกฝ่ายรับฟังข้อมูลโต้แย้งที่อารยะแล้ว จะทำให้เห็นภาพทั้งหมดของเรื่อง ทั้งข้อดีและข้อด้อยของจุดยืนแต่ละฝ่าย เท่ากับว่าเรามีข้อมูลที่ครบถ้วนมากยิ่งขึ้นในการตัดสินใจเลือกเส้นทางที่เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมสูงสุด

รับฟังกันและกันอย่างอารยะ

อารยวาที เป็นการต่อสู้ด้วยเหตุผลอย่างคนมีปัญญา ไม่ใช่คนมีปัญหา ต้องถกกันให้สุดในจุดยืนที่แตกต่าง ใช้เหตุใช้ผลให้มากที่สุด แต่จะต้องลดวางทิฐิ ลดวางอัตตา นำเสนอด้วยความสุภาพ ไม่ก้าวร้าว รุนแรง เน้นไปที่หัวใจหลักในการนำเสนอข้อมูล โดยตระหนักว่าจะต้องนำไปสู่ทางเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน จึงจำเป็นต้องรับฟังกันและกันอย่างอารยะ เนื่องจากมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับข้อมูลที่ดี และมากเพียงพอในการตัดสินใจ  เพื่อนำไปสู่การสร้างอารยมติ ไม่ใช่ความแตกแยก ต้องไม่เป็นคนที่ยืนกระต่ายขาเดียว เมื่อเริ่มเห็นว่าตนเองเข้าใจผิด มีข้อมูลหรือความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง หรือถ้าเหตุผลของอีกฝ่าย ดีกว่า งามกว่า จริงกว่า เกิดประโยชน์มากกว่า ต้องยินดียอมเปลี่ยนความคิดของตน

นายพลแอนดรู แจ็คสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 7 ได้กล่าวประโยคหนึ่งไว้อย่างน่าฟังว่า
"จงใช้เวลาคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ แต่เมื่อเวลาปฏิบัติการมาถึง จงเลิกคิดและลงมือปฏิบัติอย่างเด็ดเดี่ยว"

ในเรื่องต่าง ๆ ก่อนการตัดสินใจ เราจำเป็นต้องคิดให้รอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญต่ออนาคตของทุกฝ่ายในภาพรวม จำเป็นต้องผ่านกระบวนการอารยสนทนาก่อน

แม้จะดูเหมือนช้า เสียเวลา ไม่ทันใจคนไทยยุคโลกาภิวัตน์ แต่ย่อมดีกว่าต้องมาเสียใจภายหลัง ในสิ่งที่ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขใหม่ได้

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Catagories: