แทน ความหยิ่ง ด้วย ความถ่อมใจ อนาคตไกลกว่า


ความหยิ่งบั่นทอนเส้นทางความสำเร็จ แต่ความถ่อมใจช่วยรักษามันไว้...
คนหยิ่งนั้น มักจะคิดว่า ?ฉันรู้หมดแล้ว?  ?ฉันมั่นใจว่าคิดถูก? ?ฉันไม่เคยพลาดเลย? จึงไม่เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่รับฟังคำแนะนำตักเตือน ดึงดันยึดมั่นถือมั่นความคิดตน...ในที่สุดก็ล้มเหลว
มาร์คัม และ สมิธ (Marcum & Smith) ผู้เขียนหนังสือ Economics สำรวจพบว่า มากกว่า 1 ใน 3 ของธุรกิจที่ตัดสินใจผิดพลาด เกิดจากการขับเคลื่อนด้วยอีโก้ บริษัทที่เคยมีชื่อเสียง กลับล้มเหลวลงอย่างรวดเร็ว เพราะความหยิ่งยโสของผู้บริหาร ที่เชื่อมั่นตนเองเกินไป ไม่ฟังคำแนะนำ ลำพองในอำนาจและความสามารถของตน 

 
ไม่เพียงแต่บริษัทใหญ่ ๆ หรือบุคคลในระดับผู้นำเท่านั้น ไม่ว่าใครก็ตามที่ปล่อยให้ความหยิ่งยโสเข้ามาเกาะกิน เท่ากับนำพาตัวเองไปสู่ความล้มเหลวเช่นกัน
ตรงกันข้าม คนที่ถ่อมใจนั้น มักคิดเสมอว่า ตนเองไม่รู้อะไรทั้งหมด อาจคิดผิดได้ แม้เคยสำเร็จในอดีต ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสำเร็จในอนาคต จึงประมาทไม่ได้ แต่ต้องรอบคอบ และต้องเรียนรู้อีกมาก...ความคิดเช่นนี้ ช่วยลดโอกาสล้มเหลว และเพิ่มความสำเร็จได้มาก
 
บิลล์ เกตส์ เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้นำที่มีความถ่อมใจ เขาเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนสามารถเสนอความคิดเห็นต่าง ๆ ต่อผู้บริหารทุกระดับ และถึงตัวเขาได้โดยตรงผ่านทางอีเมล์ ไม่ว่าจะเป็นข่าวความคิดใหม่ ๆ ความคิดโต้แย้ง ไม่เห็นด้วยกับเขา และยิ่งเป็นข่าวร้าย เขายิ่งต้องการได้ยินเร็วที่สุด
 
ครั้งหนึ่ง มีพนักงานคนหนึ่งได้เสนอความคิดไปถึงเขา และเตือนว่า ถ้าเขายังใช้แนวคิดเดิม ๆ ในการขับเคลื่อนกิจการ บริษัทไมโครซอฟท์มีหวังล่มจมแน่...ถ้าเป็นผู้บริหารอีโก้สูงคงจะไม่พอใจ รู้สึกเหมือนโดนดูถูก แต่แทนที่จะโกรธพนักงานคนนั้น บิลล์ เกตส์ กลับศึกษาแนวคิดของเขาอย่างละเอียด เมื่อแน่ใจว่ามันน่าจะถูกต้อง เขาออกมายอมรับความจริงว่า ตนประเมินพัฒนาการและประโยชน์ของการใช้อินเทอร์เน็ตผิดพลาดไป จากนั้น จึงรีบระดมสมองและดำเนินการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีอย่างเร่งด่วน ส่งผลให้ไมโครซอฟท์ยังคงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์อยู่ได้จนทุกถึงวันนี้
บุคคลหนึ่งกล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า ?อีโก้ที่มากเกินไป จะทำลายพรสวรรค์ที่เรามี..?
 
ถ้าเราควบคุมอีโก้ของตัวเองได้ มันจะเพิ่มพลังช่วยผลักดันให้เราทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้สำเร็จได้ ขณะเดียวกัน ถ้าเราไม่สามารถควบคุมมันได้ มันจะเติบโตขึ้น และมากัดกินชีวิตของเรา 
ดังนั้น เราจึงควรเรียนรู้ควบคุมอีโก้ความหยิ่ง ด้วยความถ่อมใจ  
 
ความถ่อมใจ เป็นกุญแจดอกหนึ่งสำหรับความสำเร็จที่ยั่งยืนในชีวิต และเป็น 1 ใน 20 ลักษณะชีวิตสู่ความสำเร็จ ที่ผมได้นำเสนอไว้ในหนังสือยอดคน : กุญแจแห่งชัยชนะ  20 ดอก
ความถ่อมใจ คือ การยอมรับตนเองตามความเป็นจริง ไม่ยึดติดกับอีโก้ของตน ยอมรับในข้อจำกัด และพร้อมเปิดใจเรียนรู้ต่อสิ่งใหม่ ๆ ความคิดเห็นที่แตกต่าง คำวิพากษ์วิจารณ์ คำแนะนำในทางตรงกันข้าม และนำมาประเมินด้วยเหตุผลอย่างเป็นธรรม ยินดีเปลี่ยนแปลง หากสิ่งใหม่นั้นดีกว่า ถูกต้องกว่าสิ่งที่เดิมที่ยึดอยู่
 
คนที่ถ่อมใจจะส่งผลดีต่อตนเองหลายประการ อาทิ
ช่วยเพิ่มพูนสติปัญญา ลดความผิดพลาด ความเย่อหยิ่งปิดกั้นปัญญา และนำไปสู่การตัดสินใจผิดพลาด จากการเชื่อมั่นใจตนเองมากเกินไป อวดดี ลำพองในอำนาจและความรู้ความสามารถของตน ไม่ฟังคำแนะนำของคนอื่น  ไม่เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ตรงข้ามกับความถ่อมใจช่วยให้ได้ความรู้และมีสติปัญญามากขึ้น จากการรับฟังความเห็น เรียนรู้สิ่งที่ดีจากผู้อื่น และมีความรอบคอบในการดำเนินชีวิต ทำให้การตัดสินใจต่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น 
 
ช่วยเพิ่มมิตร พิชิตศัตรู ความหยิ่งทะนงทำให้ชอบดูหมิ่นคนอื่น ยึดเอาความคิดเห็นของตนเองเป็นใหญ่ ขาดความอดทนอดกลั้นและมักตอบโต้ด้วยอารมณ์โกรธ เมื่อถูกทำให้เสียหน้า เสียเกียรติ เสียศักดิ์ศรี จึงไม่สามารถเป็นเพื่อนกับใครและไม่มีใครอยากจริงใจด้วย แต่ความถ่อมใจเปรียบเสมือน ?ลายแทงขุมทรัพย์แห่งการเอาชนะใจคน? การให้เกียรติคน รับฟังคน มีใจขอบคุณคน ช่วยให้เรามีศัตรูที่น้อยลง และมีมิตรมากขึ้น และคนที่มีความถ่อมใจ ย่อมขอโทษ / ให้อภัยผู้อื่นได้ง่าย ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปด้วยดี เกิดการช่วยเหลือและร่วมมือกัน ทำให้งานต่าง ๆ สำเร็จได้อย่างดีและรวดเร็วขึ้น
 
ช่วยลดการเสียเวลาชีวิต สตีฟ โอเดส (Steve Oades) ได้วิเคราะห์ว่า ความถ่อมใจช่วยลดการเสียเวลาลงได้ เนื่องจาก ช่วยทำให้เรารับฟังและยอมรับทำสิ่งที่ผิดพลาดได้ และพร้อมเปลี่ยนแปลงได้ทันที ไม่ยึดมั่นเดินในเส้นทางเดิมที่ผิด เพราะกลัวเสียหน้า หรือต้องรักษาชื่อเสียง ความถ่อมใจที่จะขอคำปรึกษา คำแนะนำจากผู้อื่น จะช่วยทำให้เราทำงานได้สำเร็จเร็วขึ้น ช่วยให้เราตัดสินใจได้ถูกต้องกว่า ลดการเสียเวลาในการแก้ไขข้อผิดพลาดที่ตามมา และความถ่อมใจทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาในการพยายามพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้ผู้อื่นยอมรับหรือประทับใจ เพราะยอมรับตนเองในสภาพที่เป็น และใช้เวลาไปกับสิ่งที่จำเป็น และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง 
 
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวว่า "ยิ่งรู้มาก อีโก้ยิ่งน้อยลง ยิ่งรู้น้อย อีโก้กลับยิ่งมากขึ้น"  ถ้าเราฉลาดในการรู้จักตัวเอง รู้จักผู้อื่น รู้จักโลกนี้มากขึ้น เราจะรู้ว่า ยังมีสิ่งต่าง ๆ ที่เรายังไม่รู้อีกมาก และทำให้เรารู้ว่า ความหยิ่งนั้นปิดกั้นความรู้ แต่ความถ่อมใจช่วยให้เราเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้มากขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด 
 
งานวันนี้
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com