สมัชชาคนจนกับการเมืองภาคประชาชน
ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เพื่อน ๆ คงได้รับทราบเกี่ยวกับข่าวการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน ที่เข้ามาชุมนุมอยู่หน้ารัฐสภา ระหว่างวันที่ 15-17 มี.ค.48 ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมประกอบด้วย 7 เครือข่าย คือ 1.ปัญหาอันเนื่องมาจากการสร้างเขื่อน 2.กรณีพิพาทกับรัฐเรื่องที่ดินสาธารณะ 3.สลัม 4.ประมงเพื่อนบ้าน 5.ผู้ป่วยจากมลพิษในการทำงาน 6.กรณีป่าไม้ประกาศเขตอุทยาน 7.เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก โดยสมัชชาคนจนจะจัดตั้งคณะกรรมาธิการภาคประชาชน ตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาความยากจน และเรียกร้องให้รัฐบาลนำปัญหาของ 7 เครือข่าย ไปแถลงเป็นนโยบายของรัฐบาล
กล่าวได้ว่า การเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน คือการเมืองภาคประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองนอกเหนือไปจากการเลือกตั้ง อาทิ การเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาในระดับนโยบาย ความพยามที่จะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ตลอดจนการมีส่วนตัดสินใจในเรื่องที่ส่งผลกระทบกับตนทั้งในเรื่องของสิทธิชุมชน ปัญหาหนี้สิน ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ
นอกเหนือจากการเมืองในระบบรัฐสภาซึ่งมีความสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แล้ว ถือได้ว่า การเมืองภาคประชาชนก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตยไทย ที่จะทำให้ประชาชนนั้นมีความเข้มแข็ง ไม่ได้มุ่งที่จะพึ่งพิงการอุปถัมภ์จากภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่ประชาชนสามารถที่จะดูแล พัฒนา และจัดการปัญหาของตนเองได้ ดังนั้น หากสังคมไทยมีประชาชนที่มีจิตสำนึกทางการเมืองที่ขยายตัวมากขึ้นดังที่กล่าวมาเบื้องต้นแล้ว จะทำให้สังคมไทยมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมแก้ปัญหาของตนเอง ตลอดจนเป็นการถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น