1 ปี วางกลไกขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาไทย

ความคาดหวังของสังคมที่มีต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ในการเข้ามาแก้ไขปัญหาการศึกษาหลายประเด็น เช่น การเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวในแต่ละระดับให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายสำหรับจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ กองทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กยากจนและด้อยโอกาส ปัญหาขาดแคลนครู การปรับปรุงระบบบุคลากร การถ่ายโอนสถานศึกษาให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการแยกกระทรวงใหม่ ฯลฯ

สิ่งที่กล่าวมาล้วนเป็นเรื่องที่ท้าทายการทำงานของผู้ที่จะเข้ามาบริหารกระทรวงศึกษาธิการไม่น้อย เนื่องจากเป็นประเด็นที่สังคมอยากเห็นผลที่เป็นรูปธรรมมาตลอด 7 ปีของการปฏิรูปการศึกษา รวมถึงหากเทียบเคียงระหว่างความจำกัดด้านเวลาซึ่งรัฐบาลชุดนี้จะมีอายุเพียง 1 ปี กับปัญหาเร่งด่วนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ความจำกัดด้านเวลาเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้องเลือกที่จะวางแผน จัดระบบ กำหนดแนวทางที่จะเป็นยุทธศาสตร์อันเป็นหัวใจสำคัญต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาของไทย เสนอว่า งานหลักสำคัญที่จำเป็นต้องแก้ไขคือ ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น รวมถึงการวางระบบกลไกในการพัฒนาระบบการศึกษา เพื่อส่งต่องานแก่รัฐบาลชุดใหม่ให้สามารถพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวหน้าตามแนวทางปฏิรูปที่เคยได้กำหนดไว้ ดังนี้

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้น อันเนื่องมาจากความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลต่อผู้เรียนและกระทบต่อความเชื่อมั่นของระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาระบบแอดมิชชั่น การถ่ายโอนโรงเรียนแก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านการประเมินแล้ว ฯลฯ ควรประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจไม่ว่าจะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่หรือตัวผู้เรียนเอง เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อระบบข้อมูลและการบริหารจัดการ ตลอดจนต้องดำเนินงานเชิงรุกเพื่อป้องกันความสับสนในช่วงปรับเปลี่ยนที่ผ่านมา

การวางกลไกเพื่อปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ ควรเป็นแนวทางที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะเป็นกลไกที่ผลักดันให้งานด้านอื่น ๆ ได้รับการพัฒนา และรัฐบาลชุดต่อไปสามารถรับช่วงต่อเพื่อพัฒนาการศึกษาให้ก้าวไปข้างหน้าได้ อาทิ

ทบทวนนโยบายอุดหนุนการศึกษาเพื่อความเป็นธรรม โดยการให้น้ำหนักการอุดหนุนแตกต่างกันตามต้นทุนการจัดการศึกษาในแต่ละกลุ่มคนโดยคำนึงปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

สร้างกลไกการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ โดยนำเครื่องมือทางด้านเศรษฐศาสตร์ นโยบายสาธารณะ และมาตรการทางภาษี มาเป็นเครื่องมือในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ

สร้างกลไกการแข่งขันในระบบการศึกษา โดยอาศัยการแข่งขันบนพื้นฐานความร่วมมือกันของทุกฝ่าย เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา และขยายความร่วมมือสู่นานาชาติ รวมทั้งจัดอันดับสถาบันการศึกษาที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับเพื่อกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศการแข่งขันมากขึ้น

กำหนดจุดยืนและนโยบายทางการศึกษาที่ชัดเจนต่อการเปิดเสรีทางการศึกษา โดยปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายที่สนับสนุนการศึกษาไทย รวมถึงการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้สถาบันการศึกษา เพื่อรองรับการเปิดเสรีการศึกษาได้เท่าทัน

แก้ปัญหาการขาดแคลนครูและพัฒนาคุณภาพครู โดยการปฏิรูปกระบวนการผลิตและพัฒนาบุคลากรครูทั้งระบบ ตลอดจนมีระบบการประเมินผลงานครู เพื่อสร้างแรงจูงใจซึ่งตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ เพื่อดึงดูดให้คนที่มีความสามารถอยากเป็นครูมากขึ้น รักษาบุคากรครูให้อยู่ในระบบ และได้รับการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

กำหนดผู้รับผิดชอบและสร้างระบบตรวจสอบที่ชัดเจน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถตรวจสอบการดำเนินการ และยับยั้งการกระทำอันมิชอบของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐได้

เร่งออกกฎหมายที่เอื้อต่อการศึกษาตามอัธยาศัย โดยจูงใจให้ทุกภาคส่วนในสังคม ร่วมจัดการศึกษาตามความพร้อม โดยเฉพาะภาคเอกชน และรัฐควรสนับสนุนการจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มคนวัยทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

จัดการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม เริ่มจากการวิจัยปัญหาคนและสังคมไทยอย่างมีหลักวิชาการที่น่าเชื่อถือ เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับกำหนดเป้าหมายและรูปแบบของการจัดการศึกษาที่รองรับอนาคต

สิ่งสำคัญที่รัฐบาลเฉพาะกาลนี้ควรคำนึงถึงคือ การกำหนดนโยบายและกลไกในการขับเคลื่อนควรยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ และควรกำหนดแนวทางเพื่อส่งผ่านงานด้านการศึกษาแก่รัฐบาลชุดต่อไปได้ เพื่อไม่ให้เกิดการชะงักงันในการสานต่อยุทธศาสตร์หลักในการขับเคลื่อนการศึกษาให้ก้าวไปข้างหน้า

ที่ผ่านมาเราคงได้เรียนรู้จากความผิดพลาดจำนวนมากที่ส่งผลให้ระบบการศึกษาไทยหยุดชะงักงัน ดังนั้น การกำหนดแนวทางในอนาคตจึงไม่ควรเดินซ้ำกับรอยเดิมที่ผ่านมา แต่ควรเป็นการเรียนรู้จากความผิดพลาด และต่อยอดเพื่อมุ่งพัฒนาระบบการศึกษาอย่างก้าวกระโดดให้เท่าทันสภาพการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-10-12