ประเทศไทยจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกหรือไม่ ?

จากการที่ผมได้เสนอความคิดเห็นของผมส่งไปทางอีเมล์ให้กับมิตรสหาย มีหลายท่านได้ให้ความสนใจ และแสดงความคิดเห็นและได้ถามคำถามกลับมา ผมจึงอยากถือโอกาสตอบคำถามที่มิตรสหายของผมท่านหนึ่งได้ถามมาว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศไทยจะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว?

ในความคิดของผม วิกฤติทางเศรษฐกิจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เราไม่ควรประมาท แต่จะเกิดขึ้นเมื่อใดไม่อาจบอกได้ชัดเจน รวมทั้งระดับของความรุนแรงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยสาเหตุของวิกฤต ซึ่งผมเห็นว่าภาวะปัจจุบันมีโอกาสที่จะเกิดวิกฤติได้มากขึ้น และมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่อาจก่อให้เกิดวิกฤติได้

ปัจจัยภายในที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การดำเนินนโยบายของรัฐบาล หากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งหวังแต่คะแนนเสียงทางการเมือง แต่ละเลยเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในประเทศ ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอาจเกิดขึ้นได้

นโยบายของรัฐบาลในปัจจุบันที่ผมเห็นว่าน่าเป็นห่วง คือ การดำเนินโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งใช้งบประมาณมหาศาล แต่รัฐบาลกลับดำเนินการด้วยความรีบเร่ง การรวบโครงการขนาดใหญ่เข้ามาไว้ในเวลา
5 ปีนั้น ประเทศต้องนำเข้าเครื่องจักร สินค้าทุนจำนวนมาก ซึ่งผลที่จะเกิดขึ้น อาจทำให้ประเทศต้องขาดดุลบัญชีเดินสะพัดรุนแรงและต่อเนื่องเป็นเวลานาน อย่างที่ผมได้อภิปรายในรัฐสภามาหลายเดือนแล้ว ซึ่งในประเด็นนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านได้แสดงความเป็นห่วงเหมือนกับผมเช่นกัน

ขณะนี้แม้ยังไม่เริ่มโครงการ ประเทศไทยได้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดแล้วเป็นเวลา 5 เดือน จากปัจจัยราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง และนโยบายการตรึงราคาและการอุดหนุนราคาน้ำมันของรัฐบาล มีส่วนทำให้ราคาน้ำมันในประเทศต่ำกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้มีการบริโภคและนำเข้าน้ำมันจำนวนมาก ประกอบกับการเปิดเขตการค้าเสรี ซึ่งมีส่วนทำให้ไทยขาดดุลการค้ามากขึ้น และทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดตามมา


ดังนั้นเมื่อเริ่มโครงการเมกะโปรเจ็กต์แล้ว การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะยิ่งมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น ซึ่งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนี้จะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน และท้ายที่สุดอาจนำมาซึ่งการชะลอตัวของการบริโภค การลงทุน การไหลออกของเงินทุน และอาจนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจได้

ปัจจัยภายนอก เช่น การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการที่สหรัฐขาดดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างมาก และเป็นการขาดดุลที่ต่อเนื่องยาวนาน ขณะที่อสังหาริมทรัพย์ภายในสหรัฐฯกำลังเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ ปัจจัยดังกล่าวนี้อาจเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจในสหรัฐได้ และการที่เศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงกันมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศจะส่งผลกระทบต่อไทยและอาจทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศได้เช่นกัน

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2005-07-03