FTA กับความมั่นคงทางอาหาร

จากอีเมล์ครั้งที่ผ่านมา ผมได้แสดงความคิดเห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็น วิกฤตที่เกิดจากปัจจัยภายนอกคือราคาน้ำมันและภาวะความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก บวกกับปัจจัยภายในคือนโยบายของรัฐบาลเอง โดยนโยบายหนึ่งที่ผมมีความกังวลมาก คือการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ อย่างรีบเร่ง

ถึงแม้ว่าทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า หากประเทศต่าง ๆ ลดกำแพงภาษีระหว่างกันลงจะทำให้สวัสดิการในแต่ละประเทศดีขึ้น และระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากแต่ละประเทศผลิตสินค้าที่ตนเองเชี่ยวชาญ ซึ่งผมเห็นด้วยกับทฤษฎีนี้ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงซึ่งปัจจัยต่าง ๆ ไม่ได้เป็นไปตามข้อสมมติ (
assumption
) ตามทฤษฎี การเปิดเสรีทางการค้าอาจไม่ได้ผลตามทฤษฎี

นโยบายเปิดเสรีทางการค้าของรัฐบาล แม้ว่าในด้านหนึ่งจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ แต่ประเด็นที่รัฐบาลอาจละเลย คือผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อาทิ การขาดดุลการค้ากับบางประเทศมากขึ้น ความเสียหายของผู้ผลิตสินค้าบางประเภททันที และความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว

ผมคิดว่ารัฐบาลไม่ควรนำพาประเทศเดินไปบนความเสี่ยงต่อความยากลำบาก โดยมีชีวิตคนทั้งประเทศเป็นเดิมพัน ในทางกลับกันรัฐควรที่จะวางยุทธศาสตร์ของชาติอย่างระมัดระวังมากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเตรียมพร้อมให้ประเทศชาติสามารถพึ่งตนเองได้ในยามวิกฤติ ดังที่ผมได้เคยกล่าวถึงในเรื่อง ldquo;เศรษฐกิจกระแสกลางrdquo;
อันเป็นเศรษฐกิจเสรีที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองได้ในปัจจัยอยู่รอด เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศสามารถพึ่งตนเองได้ทั้งในยามปกติและยามวิกฤต

โดยในยามปกติประเทศยังคงดำเนินนโยบายเปิดเสรีตามกระแสโลก บนฐานภาคเศรษฐกิจที่เป็นจุดแกร่งของประเทศ โดยเตรียมความพร้อมและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาคการผลิตปัจจัยอยู่รอด เพื่อให้ผลิตได้พอเพียงตลอดเวลา ส่วนสินค้าอื่น ๆ ที่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบให้เปิดเสรี

แนวคิดเศรษฐกิจกระแสกลางเปรียบเหมือนการทำประกันชีวิตหรือประกันวินาศภัย ที่ไม่มีใครทราบว่าจะเกิดเมื่อใด หรือไม่ทราบว่าวิกฤติการณ์จะรุนแรงมากหรือน้อยเพียงใด

การเปิดเสรีโดยเน้นผลประโยชน์ของภาคอุตสาหกรรมและบริการที่ประเทศมีความสามารถในการแข่งขัน นับเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่การละเลยผลกระทบของภาคเกษตรกรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคที่ผลิตปัจจัยอยู่รอดของประเทศ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่แม้เป็นประเทศอุตสาหกรรม ล้วนให้ความสำคัญมากกับภาคเกษตร เพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหาร แต่ประเทศไทยซึ่งมีจุดแข็งทางเกษตรกรรม กลับละเลยการเตรียมความพร้อมของภาคการผลิตนี้ เพื่อรองรับการเปิดเสรีในอนาคต

admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2005-07-06