มาตรการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจจริงหรือ?
มาตรการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลยังมีช่องว่าง จากกระบวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และหลักเกณฑ์ในการพิจารณาขึ้นค่าจ้างที่ยังไม่เหมาะสม ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าแรงไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และกระทบภาพรวมของเศรษฐกิจ
การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 2-8 บาทนั้น ผมเห็นว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่ดีเนื่องจากค่าจ้างของแรงงานควรเพียงพอกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงมีความจำเป็นในระดับหนึ่ง เพราะจะทำให้ประชาชนมีรายได้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น คือผู้ที่มีรายได้น้อย และคนยากจน แรงงานไร้ฝีมือ และข้าราชการระดับผู้น้อย อย่างไรก็ตาม ผมยังไม่เห็นด้วยใน 2 ประเด็นคือ กระบวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และหลักเกณฑ์ในการพิจารณาขึ้นค่าจ้างที่ยังไม่เหมาะสม
ประเด็นที่ 1 กระบวนการกำหนดค่าจ้างที่ยังไม่เหมาะสม กระบวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมา ขาดหลักเกณฑ์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะใช้การเจรจาต่อรองระหว่างภาครัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ทำให้ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรองของแต่ละฝ่าย ไม่ได้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง เป็นกระบวนการที่ขาดความละเอียด ในความเป็นจริงแต่ละจังหวัดยังมีสภาพเศรษฐกิจของเมืองและชนบทของจังหวัดนั้น ๆ ที่แตกต่างกัน ภาวะของแต่ละอุตสาหกรรมก็แตกต่างกัน การใช้นโยบายเหมารวมแบบเดียวกันทั้งหมดกับทุกอุตสาหกรรม และทุกพื้นที่ในแต่ละจังหวัดจึงอาจไม่เหมาะสม
ประเด็นที่ 2หลักเกณฑ์ในการพิจารณาขึ้นค่าจ้างไม่เหมาะสม การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ โดยพิจารณาเฉพาะประเด็นการทำให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเท่ากับอัตราเงินเฟ้อ เป็นการพิจารณาที่ง่ายเกินไป ในความเป็นจริง การขึ้นค่าจ้างส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ ต้องพิจารณาผลกระทบในภาพรวมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ ดุลบัญชีเดินสะพัด การขยายตัวทางเศรษฐกิจ
นอกเหนือจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือแรงงาน ผมเสนอว่า รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือคนยากจน และแรงงานนอกระบบที่มีรายได้น้อยอย่างเจาะจง มีการเตรียมมาตรการรองรับคนว่างงานที่จะเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งควรมีการปรับปรุงระบบและแนวทางการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐศาสตร์มากกว่า และส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจน้อยกว่า