ความไร้เสถียรภาพของนโยบาย สู่ความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ตลอดปี 2548 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญภาวะไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยประสบภาวะเงินเฟ้อที่สูงมาก โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่อัตราเงินเฟ้อเร่งขึ้นแตะระดับร้อยละ 6 ซึ่งเป็นครั้งแรกนับแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และสำหรับเสถียรภาพภายนอก สามไตรมาสแรกของปีนี้ มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึงร้อยละ 3.8 ของจีดีพี แม้สาเหตุสำคัญของความไร้เสถียรภาพจะมาจากปัจจัยภายนอก แต่ผมเชื่อว่าสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งของความไร้เสถียรภาพ คือนโยบายของรัฐบาลที่ไม่แน่นอนและปรับเปลี่ยนไปตามกระแสเป็นนโยบายรายวัน

สถานการณ์ของรัฐบาลในปัจจุบัน ทำให้ผมนึกถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ชื่อ ldquo;Rule Rather Than Discretion: the Inconsistency of Optimal Plansrdquo; ซึ่งเป็นผลงานที่ทำให้ ศ. Finn Kydland และ ศ. Edward Prescott ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2547 งานวิจัยชิ้นนี้สรุปว่า การที่รัฐบาลประกาศนโยบายเป็นกฎ (Rules) อย่างชัดเจน แล้วกระทำตามนั้น ทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพในระยะยาว ดีกว่าการปรับนโยบายยืดหยุ่นตามสภาพการณ์ (Discretion) เนื่องจากการปรับเปลี่ยนนโยบายไปตามสถานการณ์ ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือในนโยบายรัฐบาล

ตลอดปี 2548 นี้ นโยบายของรัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนตามกระแส (Discretion) มากกว่ายึดถือกฎเกณฑ์ (Rules) เช่น โครงการเมกะโปรเจกต์ที่รัฐบาลไม่มีความแน่นอน แต่ปรับเปลี่ยนนโยบายไปมาจนทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น หรือ โครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่หรือนครสุวรรณภูมิ ที่ประกาศออกมาอย่างแข็งขันแต่กลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ ส่งผลทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งหลงเชื่อ และได้รับความเสียหายจากการปรับตัวไปตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจไทยด้วย

ดังนั้น เพื่อให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพในระยะยาว รัฐบาลควรตั้งกฎเกณฑ์ในนโยบายให้ชัดเจน และดำเนินตามกฎนั้นอย่างเคร่งครัดไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่ปรับนโยบายรายวันตามใจชอบหรือตามกระแส

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2005-12-22