ศึกษารัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4)

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ได้เชิญอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมาพบปะพูดคุยร่วมกันศึกษาวิจัยแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายกฯ ได้ขอให้อธิการบดีทุกคนกลับไปคิด วิจัย วิเคราะห์ โดยให้เห็นผลภายในสิ้นเดือนเมษายน ซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ครั้งที่ 1/2549 มีมติว่าให้แต่ละมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมและสนใจรับเรื่องนี้ไปดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อให้เสร็จทันในระยะเวลาที่กำหนด

แม้ว่าวัตถุประสงค์ของการเชิญอธิการบดีมาประชุมนั้น จะเป็นการลดกระแสกดดันต่อนายกฯ มากกว่าจะมีความต้องการแก้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง แต่ทางมหาวิทยาลัยควรใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ในการศึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างดีที่สุด ซึ่งผมคิดว่าประเด็นที่น่าสนใจ คือ ประเด็นการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนวันรับสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากผมคิดว่ามีความขัดแย้งระหว่างจุดประสงค์ของรัฐธรรมนูญกับการนำไปใช้จริง รวมทั้งเป็นประเด็นที่สังคมต้องการความชัดเจน และหาข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้

เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.. 2540 มาตรา 107 (4) ระบุว่า ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียว นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน ซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าวมีขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพให้กับรัฐบาล โดยป้องกันการที่ ส..ย้ายพรรคง่ายเกินไป

แต่ผลที่เกิดขึ้นจากการกำหนดกติกาดังกล่าว คือ ผู้นำของพรรคการเมืองจะใช้เงื่อนไขนี้เป็นอำนาจต่อรองกับ ส..ภายในพรรคให้ทำตามมติและความเห็นของพรรคทุกอย่าง โดยไม่ให้ ส..คนใดออกนอกแถว แต่หาก ส..คนใดออกนอกแถว ไม่เชื่อฟังหรือทำตามมติของพรรค การเลือกตั้งครั้งต่อไปอาจไม่ได้รับการเสนอชื่อให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง อำนาจการต่อรองจึงอยู่กับผู้นำของพรรคการเมือง แต่หาก ส..จะย้ายพรรคก่อนมีการเลือกตั้ง ส..จะต้องรับความเสี่ยงจากการที่รัฐบาลอาจยุบสภา ทำให้ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้เช่นกัน เพราะไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองที่ย้ายไปถึง 90 วัน

แม้มาตราดังกล่าวเป็นเจตนารมณ์ที่ดีของรัฐธรรมนูญ แต่วิธีการกลับมีปัญหา หากผู้ใช้นำรัฐธรรมนูญไปใช้ไม่ตรงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ ไม่ต้องคอยกังวลถึงปัญหาการย้ายพรรคของ ส.. หรือต้องเสียเวลาแก้ปัญหาทางการเมือง แต่นำเวลามาแก้ปัญหาของประเทศได้เต็มที่ แต่ผู้ใช้รัฐธรรมนูญกลับนำไปใช้เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้กับพรรคการเมือง ทำให้ ส.. ขาดเสรีภาพในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ต้องอยู่ภายใต้การนำของพรรค และรักษาผลประโยชน์ของพรรค เพราะผู้กำหนดอนาคตทางการเมืองของ ส..เปลี่ยนจากประชาชนเป็นพรรคการเมือง

นอกจากนี้ ผมเกิดคำถามว่าเสถียรภาพทางการเมืองปัจจุบันที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ ม.107 (4) จะเรียกว่ารัฐบาลมีเสถียรภาพได้หรือไม่ แม้ ส..จะไม่ลาออกหรือย้ายพรรค รัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในความเป็นจริงกลุ่มหรือมุ้งต่าง ๆ ภายในพรรครัฐบาลต่างพยายามออกมาขย่มเสถียรภาพของรัฐบาลรายวัน และรอโอกาสที่จะล้มกระดาน เปรียบเหมือนมีศึกอยู่ในบ้านตลอดเวลา

ดังนั้น ประเด็นที่มหาวิทยาลัยน่าจะนำไปศึกษา คือ หากการกำหนดให้ผู้สมัครส..ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วัน เพื่อทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพทางการเมือง และต้องแลกมาด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันของ ส.. ทำให้เกิดคำถามต่อว่ามีวิธีการอื่นหรือไม่ ที่จะสร้างเสถียรภาพทางการเมือง โดยไม่ต้องสูญเสียเสรีภาพของ ส.. และสามารถสร้างเสถียรภาพทางการเมืองได้อย่างแท้จริง

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-02-20