ทำงานอย่างไรให้เข้าขากับ ?เจ้านาย?
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com
ปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจการคือ การทำงานร่วมกันระหว่างผู้ใต้บังคับบัญชากับหัวหน้างานที่มีลักษณะเป็นทีมงานเดียวกัน ความร่วมมือในลักษณะทีมงานจะก่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จที่วางไว้
อย่างไรก็ตาม ในโลกการทำงานจริง เราอาจหลีกไม่พ้นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างพนักงานและหัวหน้างาน ซึ่งอาจเนื่องด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น มีทัศนคติความคิดเห็นไม่ตรงกัน การไม่ยอมรับนับถือหัวหน้างาน การไม่ขอคำปรึกษาในการทำงาน รู้สึกเสียหน้าเมื่อถูกหัวหน้างานตักเตือน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ย่อมกระทบในความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับหัวหน้างาน จนอาจกลายเป็นคลื่นใต้น้ำในองค์กรที่อาจทำลายขวัญ กำลังใจ ความสามัคคี การทำงานเป็นทีม และการทุ่มเททำงานเพื่อองค์กร
ปัญหาการทำงานระหว่างพนักงานกับหัวหน้างานที่เกิดขึ้นนี้ เป็นสิ่งที่สามารถจะแก้ไขหรือป้องกันได้ ในส่วนของพนักงาน ผมขอเสนอแนวทางง่าย ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน เพื่อให้เราทำงานกับหัวหน้างานได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ ดังนี้
มีความถ่อมตนในการเรียนรู้
พนักงานบางคนอาจจะมีความรู้สึกหยิ่งทะนง ไม่เคารพนับถือหัวหน้าของตน เพราะคิดว่าตนเองนั้นรู้มากกว่า มีความสามารถมากกว่าหัวหน้างาน ตัวอย่างเช่น อาจเปรียบเทียบว่าตนนั้นจบการการศึกษาระดับปริญญาโทจากต่างประเทศ ขณะที่หัวหน้างานของตนจบเพียงปริญญาตรีในเมืองไทย เมื่อยึดถือว่าตนเองเหนือกว่าก็จะไม่ยอมรับหัวหน้างาน เมื่อไม่เข้าใจในงานที่ได้รับมอบหมาย ก็จะนิ่งเฉย ไม่เอ่ยปากถาม เพราะรู้สึกเสียหน้าหากต้องเข้าไปพบหัวหน้าเพื่อขอคำปรึกษาและคำแนะนำ ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ พนักงานคนดังกล่าวทำงานผิดพลาด ไม่สำเร็จตามกำหนดเวลา จนทำให้องค์กรได้รับความเสียหาย
ดังนั้น หากเราไม่เข้าใจในคำสั่งหรือรู้ตัวว่ามีความเข้าใจไม่เพียงที่จะทำงานชิ้นให้สำเร็จ เราไม่ควรที่จะนิ่งเฉย แต่ควรมีท่าทีถ่อมตนในการเรียนรู้จากหัวหน้า โดยเข้าไปหาหัวหน้าเพื่อขอคำแนะนำ ซึ่งจะทำให้ได้แง่คิดและแนวทางในการทำงาน ในทำนองเดียวกัน กรณีที่เราไม่เห็นด้วยกับความคิดของหัวหน้างาน เราไม่ควรแสดงความก้าวร้าว ตอบโต้ด้วยอารมณ์หรือคำพูดรุนแรง แต่ควรมีท่าทีถ่อมตนในการแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ กล่าวอธิบายด้วยเหตุด้วยผล เปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยตระหนักว่ามุมมองและประสบการณ์ของหัวหน้างานอาจช่วยชี้ให้เราเห็นแง่มุมที่เรามองข้ามไป การถ่อมตนในการเรียนรู้จะทำให้เราเปิดรับความรู้ แนวคิด ประสบการณ์ ซึ่งจะเอื้อต่อประโยชน์ต่อการพัฒนาตัวเราเอง
มีความกระตือรือร้นอยู่เสมอ
การทำงานด้วยความกระตือรือร้น ขยันขันแข็ง ไม่เห็นงานเป็นภาระ ไม่เกี่ยงงาน แต่รับผิดชอบในหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด รู้สึกสนุกกับการทำงานอยู่เสมอ หากได้รับการร้องขอจากหัวหน้างานให้ช่วยเหลืองานในกรณีพิเศษ แม้จะไม่ใช่งานในความรับผิดชอบ ก็ยินดีรับคำสั่งโดยไม่ปัดงานและช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ
การมีความกระตือรือร้นในการทำงานเช่นที่กล่าวมากนี้ จะทำให้เราทำงานด้วยความสนุก ท้าทายตนเองที่จะทำงานให้ดียิ่งขึ้น ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายต่องาน แม้จะมีงานกองโตอยู่บนโต๊ะ ไม่เพียงเท่านั้น ผลดีทางอ้อมก็คือ การกระทำดังกล่าวยังพลอยทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกกระตือรือร้นในการทำงานด้วย ก่อให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการทำงาน นอกจากนี้ ผลสำเร็จของงานที่ตามมาย่อมทำให้ทั้งหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานยอมรับการทำงานของเราได้
อุตสาหะบากบั่น พากเพียร ทำให้สำเร็จ
โดยปกติเรามักได้รับมอบหมายทั้งงานที่ง่ายและยากปะปนกันไป หากเราเป็นพนักงานที่มีความพยายามตั้งใจทำงาน ด้วยความอุตสาหะบากบั่น พากเพียร แม้งานที่ได้รับจะมีความยาก เราก็จะไม่รู้สึกย่อท้อ แต่กลับจะมีความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะอุปสรรคดังกล่าว พร้อมกับตั้งใจเรียนรู้ที่จะพัฒนาการทำงานของตนอยู่เสมอ
ผลอันเนื่องจากการทำงานด้วยความอุตสาหะ พากเพียร รับผิดชอบงานอย่างดีจนงานสำเร็จ จะทำให้ไม่มีใครกล่าวหาได้ว่าเรายังไม่ได้พยายามทำงานอย่างเต็มที่ ยิ่งกว่านั้น การทำงานอย่างมุ่งมั่นจนงานสำเร็จยังเป็นการพิสูจน์ตัวเองในแง่ของความรับผิดชอบ ไม่ช้าก็เร็ว หัวหน้างานที่ฉลาดเฉลียวย่อมมองเห็นคุณสมบัติข้อนี้ของเรา เขาย่อมกล้าที่จะมอบหมายงานที่สำคัญมากขึ้น เพราะยอมรับและไว้ใจในความรับผิดชอบ โอกาสที่เราจะก้าวไปสู่ตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบงานมากขึ้นก็จะตามมา
มีความคิดแง่บวก
ความคิดแง่บวกเป็นการมองถึงความเป็นไปได้มากกว่าปัญหาอุปสรรค มองถึงแง่มุมที่ดีของสิ่งต่าง ๆ มากกว่าแง่ลบ มีสายตาจดจ่ออยู่กับเป้าหมายและแสวงหาหนทางที่จะทำให้เกิดขึ้น แทนที่จะจดจ่อกับข้อจำกัดและอุปสรรคจนหมดความหวังที่จะทำให้เป้าหมายสำเร็จ ความคิดแง่บวกต่อทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะช่วยให้สามารถทำงานที่แม้ดูเหมือนยากให้สำเร็จได้ ความคิดแง่บวกทำให้เรารู้จักที่จะมองจุดดีของหัวหน้างานในยามที่เกิดความขัดแย้งหรือความไม่เข้าใจกัน ความคิดแง่บวกจะช่วยให้เราแสวงหาหนทางใหม่ ๆ ในการทำงาน ไม่ถูกถ่วงรั้งด้วยข้อจำกัดที่มีอยู่
ตัวอย่างเช่น หากเราทำหน้าที่ฝ่ายขาย เมื่อได้รับมอบหมายงานจากหัวหน้าแผนกให้เพิ่มยอดขายจากเดิมอีก 100 % ซึ่งหากมองจากสภาพตลาดที่อยู่ในช่วงเศรษฐกิจขาลง โอกาสที่จะทำยอดขายให้เพิ่มขึ้นอีก 100 % เป็นเรื่องที่ยากมาก แต่หากเราเป็นคนที่มีความคิดแง่บวก เราจะไม่เริ่มต้นด้วยการบ่นโดยมองไม่เห็นทางเป็นไปได้ หรือมองว่าหัวหน้างานกลั่นแกล้งให้เราทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ตรงกันข้าม เราจะมองว่าหัวหน้าให้ความไว้วางใจและเชื่อมั่นในความสามารถของเรา อีกทั้งยังเป็นการท้าทายตนเอง ที่จะต้องทุ่มเทแรงกาย แรงใจ สติปัญญาความคิดเพื่อทำให้เป้าหมายดังกล่าวสำเร็จ เริ่มแสวงหาหนทางใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้เราทำงานในข้อจำกัดที่มีอยู่ได้ ความคิดลักษณะดังกล่าวจะสร้างแรงผลักดันให้เราก้าวไปข้างหน้าและพยายามทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ
ทำงานอย่างเป็นตัวของตัวเอง
การทำงานกับหัวหน้างานอย่างมีความสุขนั้น ในส่วนของเราก็ต้องทำงานอย่างเป็นตัวของตัวเอง ทำงานตามบุคลิกจริงของเราแต่พร้อมจะปรับเปลี่ยนหากสิ่งนั้นเป็นอุปสรรคกับการทำงาน เราไม่จำเป็นต้องเสแสร้งแกล้งทำในสิ่งที่เราไม่เป็น เพราะในที่สุดความจริงก็จะเผยออกมา
หากเราเป็นคนขี้เกียจแต่แสร้งทำเป็นคนขยันเฉพาะต่อหน้าหัวหน้างาน แต่กลับคนรอบข้างเรากลับพยายามอู้งาน ไม่ช้าก็เร็ว สิ่งที่เราเป็นก็จะไปถึงหูหัวหน้างาน และก็มักลงเอยในลักษณะที่เราไม่เป็นที่ไว้ใจอีก
หากเราเป็นคนกล้าคิด กล้าทำ ก็ต้องแสดงความเป็นตัวของเราเอง กล้าแสดงออก เช่น หากเรารับฟังคำสั่งไม่เข้าใจ เราต้องกล้าที่จะเข้าไปสอบถามจากหัวหน้า เพื่อให้เกิดความชัดเจน และทำงานด้วยความถูกต้องโดยไม่แปรคำสั่งผิด หรือถ้ารู้สึกไม่เห็นด้วยในแนวทางการทำงาน ก็มีความกล้าที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างในมุมมองของเรา เพื่อให้การทำงานนั้นออกมาได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดต่อองค์กร
เราควรค้นหนแนวทางการทำงานในแบบที่เป็นตัวของเราเอง โดยที่ยังทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น เรามีลักษณะเป็นคนที่รอบคอบ ให้ความสำคัญกับรายละเอียดของแต่ละชิ้นงานเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลาในการทำงานนานเป็นพิเศษ ดังนั้น เราจำเป็นต้องทำงานหนักมากขึ้นหรือทำงานล่วงเวลาจากเวลาปกติ เพื่อให้งานในความรับผิดชอบสำเร็จ
เราสามารถทำงานและเรียนรู้แง่มุมต่าง ๆ จากหัวหน้างาน เป็นตัวของตัวเองในการทำงาน โดยเฉพาะการทุ่มเท พากเพียร กระตือรือร้น ไม่ท้อถอย มีความคิดแง่บวกอยู่เสมอแม้จะเผชิญอุปสรรคมากมาย ด้วยการทำงานเช่นนี้ ย่อมเอื้อในการพัฒนาตนเองและก้าวหน้าเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงานในอนาคตอย่างแน่นอน