ยุบสภา : ทางออกของปัญหาที่ ?เกาไม่ถูกที่คัน?
จากการที่มีพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 โดยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้ให้เหตุผลว่า มีบุคคลกลุ่มหนึ่งที่พยายามสร้างสถานการณ์ เพื่อล้มล้างรัฐบาล ซึ่งได้ก่อการชุมนุมและพยายามทำให้การชุมนุมขยายตัว และอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าและก่อความเสียหายแก่ประชาชน นอกจากนี้ยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางพรรค สมาชิกวุฒิสภาบางคน ไม่ยึดกติกาของรัฐสภาและแสดงตัวเข้าร่วมกับการชุมนุม ทำให้ต้องมีการยุบสภา เพื่อทำให้ความสับสนต่าง ๆ หมดไป และเป็นการคืนอำนาจการตัดสินใจแก่ประชาชนดังนั้นการยุบสภาจึงไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะตราบใดที่คุณทักษิณยังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แม้พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งครั้งใหม่ และคุณทักษิณกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง เราอาจจะยังพบว่า กลุ่มที่ไม่พอใจนายกฯ จะยังคงดำเนินการขับไล่ต่อไป และหากเกิดกระแสกดดันในสังคมดังเช่นที่เกิดขึ้นในวันนี้ รูปแบบการแก้ปัญหาจะวนกลับมาที่การยุบสภา เพื่อลดแรงกดดันอีกครั้ง และอาจดำเนินเป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป และมีความเป็นไปได้ว่า อาจนำไปสู่การสร้างแรงกดดันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือประชาชนอาจหาทางออกอื่นเพื่อผ่าทางตันแทนรัฐบาลก็เป็นได้
คำแถลงบางส่วนของนายกฯ ไม่ได้สะท้อนความรับผิดชอบที่นายกฯ พึงมีต่อประชาชน และมิใช่แนวทางแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด เนื่องจากกระแสความไม่พอใจ เกิดจากการที่นายกฯ ขาดความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่ง แต่คำแถลงของนายกฯ กลับทำให้ตีความได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากกลุ่มบุคคลอื่นที่พยายามสร้างกระแสกดดันที่ทำให้รัฐบาลต้องลำบากใจ และอาจนำไปสู่การสร้างความเสียหายแก่ประชาชน ทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และไม่กล้าลงทุน คำพูดดังกล่าวจึงเสมือนว่า นายกฯ เป็นผู้รับผลจากสิ่งที่ผู้อื่นเป็นผู้สร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้น
นอกจากนี้ยังเป็นการสะท้อนว่า นายกฯ ไม่ได้รักษาคำมั่นในการใช้อำนาจยุบสภา และความมั่นใจที่เคยให้ไว้กับประชาชนก่อนหน้า ดังเห็นได้จากเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2548 นายกฯ ได้กล่าวถึงหลักการเรื่อง การยุบสภาไว้ว่า ldquo;หลักของการยุบสภาก็คือ สภากับรัฐบาลไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ เพราะมีความขัดแย้งกันอย่างสมเกียรติ นี่คือหลักของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่รัฐบาลพร้อมจะใช้เฉพาะเกิดกรณีขัดแย้งจริงๆ แต่จะไม่ใช้ในกรณีที่รัฐบาลได้เปรียบrdquo; ซึ่งจะเห็นได้ว่า การยุบสภาในครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่นายกฯ กล่าว
รวมถึง เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 ที่ได้กล่าวกับผู้ชุมนุมที่มาให้กำลังใจที่ทำเนียบรัฐบาลว่า "ตราบใดที่พี่น้องส่วนใหญ่ตามระบอบประชาธิปไตยเดินข้างผม จะไม่มีลาออก จะไม่มียุบสภา คนที่จะมาไล่ผมออกต้องมีคุณค่ามากกว่านี้ คนพวกนี้ไม่มีคุณค่าเลย เราหวังว่าผู้ที่คัดค้านแบบไม่มีเหตุผล คงจะฟังเสียงประชาชน อย่าเห็นแก่ตัวมาก ต้องฟังประชาชนเสียงส่วนใหญ่ วันนี้ผมไม่มีอะไรที่วิตกกังวลในชีวิตอีกแล้ว เป็นเรื่องของบ้านเมืองและประชาชนเท่านั้น คำว่าลาออกไม่มี คำว่ายุบสภาปีสองปีไม่มี...rdquo; แต่เมื่อผ่านไปเพียง 15 วัน นายกฯ ประกาศยบุสภา
อย่างไรก็ตามผมเห็นว่า การยุบสภาไม่ใช่ทางออกที่แท้จริงของปัญหา เป็นปรากฏการณ์ที่อาจเรียกได้ว่า ldquo;เกาไม่ถูกที่คันrdquo; เนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่า ปัญหาอยู่ที่นายกฯ ทักษิณ ที่ขาดความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใช่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างสภาผู้แทนฯ กับรัฐบาล ดังที่นายกฯ เคยกล่าวอ้างว่าเป็นเหตุผลที่จะนำไปสู่การยุบสภา