ความสัตย์จริงทางออกการเมืองไทย
ในวันนี้ เมื่อมองอนาคตประชาธิปไตยไทย ผมคิดว่า แม้เราจะสามารถแก้ไขระบบให้ดี แก้รัฐธรรมนูญที่มั่นใจได้ว่าเป็นของประชาชนมากที่สุด แต่หากบุคคลที่สำคัญที่สุด 2 กลุ่ม อันได้แก่ ประชาชน และนักการเมือง ขาดความสำนึกในคุณค่าของอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่สนใจที่จะดำเนินชีวิตตามวิถีประชาธิปไตยแล้ว อนาคตประชาธิปไตยคงเป็นเหมือนต้นไม้ที่ไร้รากแก้ว ย่อมไม่สามารถต้านทานลมพายุที่พัดผ่านมาได้
ในขณะที่อยู่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่ดีมากเล่มหนึ่งชื่อว่า Integrity เขียนโดย สตีเฟ่น คาร์เตอร์ (Stephen L. Carter) เขียนไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมได้คำตอบว่า เมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยจะมีโอกาสหยั่งรากลึก และเติบโตอย่างมั่นคง ผลิดอกออกผลงอกงามในอนาคตได้ หากเราพาคนทั้งชาติเข้าไปสู่ ldquo;หัวใจrdquo; ของวิถีประชาธิปไตย หัวใจที่ว่านี้ คือ ความสัตย์จริง (Integrity)
ผมได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ตีพิมพ์ฉบับวันศุกร์ที่ 16 ndash; วันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ 2550 ชี้ให้เห็นแนวคิดที่น่าสนใจของคาร์เตอร์ ซึ่งย้ำให้เห็นว่า ความสัตย์จริงนั้น นับเป็นคุณธรรมอันดับแรกที่สะท้อนว่า เราเป็นคนดีหรือไม่ เป็นคุณสมบัติที่เหนือกว่าคุณสมบัติอื่น ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณธรรมในใจเรา
ความสัตย์จริง น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดแห่งการสร้างและการดำรงอยู่ของอุดมคติแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยจะเข้มแข็ง ถ้าการเมืองเป็นการเมืองที่สัตย์จริง ประชาชนสัตย์จริง นักการเมืองสัตย์จริง ผู้นำประเทศที่สัตย์จริง และระบบต่าง ๆ ที่สัตย์จริง
คำว่า ความสัตย์จริง (integrity) มาจากรากศัพท์ภาษาลาติน integer ให้ความหมายว่า รวมทั้งหมด (wholeness) แปลความได้ว่า คนที่มีความสัตย์จริงคือผู้ที่แสดงตัวตนของตนทั้งหมดได้อย่างสอดคล้องกัน ทั้งความคิด คำพูด และการกระทำสอดคล้องกับความถูกต้องที่เขายึดถือ
คาร์เตอร์ได้ให้ความหมายของ คนที่มีความสัตย์จริง (integrity) ไว้ว่า ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ขั้นตอน อันได้แก่
ขั้นที่หนึ่ง ตระหนักรู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด ให้เวลาในการใคร่ครวญแยกแยะว่าสิ่งใดถูกหรือผิดอย่างไร ให้เหตุผลได้อย่างชัดเจนว่าตนเชื่อว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิดเพราะเหตุใด
ขั้นที่สอง กระทำสอดคล้องกับสิ่งที่ตระหนักนั้น มั่นคงในความเป็นคนสัตย์จริง เมื่อเราเชื่อว่าสิ่งใดถูก ต้องมีการแสดงออกที่สะท้อนความเชื่อนั้นด้วย ldquo;ทำในสิ่งที่คิด คิดในสิ่งที่ทำrdquo; แม้ต้องจ่ายราคาหรือสูญเสียบางอย่างก็ตาม และต้องต่อสู้อย่างเปิดเผย หากเราเชื่อว่าสิ่งใดไม่ถูกต้อง
ขั้นที่สาม สื่อสารอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับสิ่งที่ตนทำ สิ่งที่ทำนั้นสอดคล้องกับสิ่งที่เขาคิดว่าถูกต้อง และไม่อายในการทำสิ่งที่ถูกต้อง โดยกล้าบอกว่า ได้กระทำสิ่งใด เหตุใดจึงทำเช่นนั้น สามารถสื่อสารต่อสาธารณชนได้ว่า เราคิดว่าสิ่งที่เราทำนั้นถูกต้อง ชอบธรรม แม้มีบางคนที่ไม่เห็นด้วย
พลเมืองที่ดีควรเป็นพลเมืองที่มีความสัตย์จริงในชีวิตรอบด้าน ไม่ว่าเราจะประกอบอาชีพใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง แม่บ้าน หัวหน้างาน ผู้สื่อข่าว ทนายความ โดยจำเป็นต้องมีครบทั้งสามขั้นตอน คนที่เที่ยงธรรมจะเป็นคนที่ไว้วางใจได้ เพราะเขาจะกระทำสิ่งที่เขาเชื่อมั่นว่าถูกต้อง เขาจะเล่นตามกติกา จะรักษาสัญญาที่ให้ไว้ ตรงข้ามคนที่ขาดความสัตย์จริงคือ คนที่คำพูดของเขาปราศจากความน่าเชื่อถือ เราไม่เชื่อถือแรงจูงใจเบื้องหลังคำพูดและการกระทำของเขา
ถึงกระนั้นความจริงที่น่าเศร้า คาร์เตอร์กล่าวว่า คนจำนวนมากล้มเหลวตั้งแต่อยู่ในขั้นที่หนึ่ง เนื่องจากเราไม่ได้ให้เวลาในการใคร่ครวญพิจารณาอย่างเพียงพอว่าเรื่องนั้นถูกหรือผิด แยกแยะความถูกผิดของสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและพลังงานเป็นอันมาก คนส่วนใหญ่มักรู้เพียงเนื้อหาสาระว่า เราเชื่ออะไร เรามีค่านิยมอะไร แต่ไม่ได้คิดลึกไปกว่านั้นว่า ทำไมเราจึงคิดและเชื่อหรือมีจุดยืนเช่นนั้น ไม่ได้หาเหตุผลตอบตนเอง แต่มักจะใช้หลักว่าป็นการง่ายกว่าที่เราจะคล้อยตามเสียงส่วนใหญ่
ส่วนนักการเมือง กลับมุ่งทำทุกอย่างเพื่อให้ได้คะแนนเสียง โดยมองประชาชนเป็นเพียง ldquo;เครื่องมือrdquo; หรือหนทาง ในการก้าวไปสู่อำนาจของตน มากกว่าที่จะเห็นประชาชนเป็น ldquo;เป้าหมายสูงสุดrdquo; ในการดำรงอยู่ของอำนาจ คาร์เตอร์มองว่าประชาชนกำลังกลายเป็นเหมือน ldquo;เหยื่อrdquo; ที่กำลังถูกนักการเมืองทั้งสองฝ่ายพยายามควบคุมบงการ เพื่อประโยชน์ของพวกเขาเองมากกว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยใช้หยิบยื่นสิ่งที่เป็น ldquo;ความต้องการrdquo; ของประชาชนมาเป็นตัวล่อให้หลงและให้เลือก
คาร์เตอร์ชี้ให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสร้างอาวุธทางการเมืองให้กับประชาชน นั่นคือ ประชาชนและนักการเมือง จำเป็นต้องรื้อฟื้น ldquo;ความสัตย์จริงrdquo; ให้เป็นลักษณะชีวิตพื้นฐาน และได้พยายามที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยได้นำเสนอหลักการ 8 ประการ ในการค้นหาแก่นแท้ของประชาธิปไตย
หลัก 8 ประการในการนำไปสู่ความสัตย์จริงนี้ ผมจะมาพูดคุยให้เพื่อน ๆ ฟังในครั้งต่อไปครับ
Catagories:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2007-03-31
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 159 ครั้ง
คนไทยเรียนรู้อะไร จากบทเพลงสุดท้ายของพี่ศรี
Total views: อ่าน 75 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร
Total views: อ่าน 240 ครั้ง
บทบาทของไทยและอาเซียนต่อการรวมเกาหลีให้เป็นหนึ่งเดียว
Total views: อ่าน 1,999 ครั้ง
การสร้างคุณภาพชีวิตเมืองเพื่อการสร้างชาติ ด้วยโมเดลเมืองน่าอยู่ 12 มิติ: Dr.Dan Can Do’s Livable City Model
Total views: อ่าน 2,639 ครั้ง