ครู-นักประชาธิปไตย จุดเริ่มต้นสร้างสังคมประชาธิปไตย
การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำลังเป็นที่สนใจของประชาชน และแม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็นอยู่บ้าง แต่เนื้อหาในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ได้สะท้อนให้เห็นความปรารถนาของสังคมที่ต้องการเป็นสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง เช่น การเพิ่มสิทธิและเสรีภาพมากขึ้นและมีมาตรการคุ้มครองที่ชัดเจน การเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้เสนอชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารงานท้องถิ่น การกระจายอำนาจ การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องร้องรัฐที่ใช้อำนาจไม่เป็นธรรมได้ เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน การสร้างสังคมประชาธิปไตยในภาคปฏิบัติอาจไม่ง่ายดายนัก เนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งยังขาดความเข้าใจรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้คนไทยมีแนวคิดและวิถีปฏิบัติในกรอบของประชาธิปไตย เพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเริ่มจากการปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก
ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนค่อนข้างมากต่อการสร้างและหล่อหลอมเด็กไทยให้มีแนวคิดและพฤติกรรมแบบประชาธิปไตย คือ ครูผู้สอน จำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้เป็น "นักประชาธิปไตย" เสียก่อน เพื่อให้ผู้เรียนเห็นแบบอย่างที่ดี อันจะช่วยให้การปลูกฝังแนวคิดและวิธีปฏิบัติแบบประชาธิปไตยมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การพัฒนาครูให้เป็น "ครู-นักประชาธิปไตย" ในที่นี้มิได้มุ่งให้ความหมายเฉพาะครูที่มีพฤติกรรมตามกรอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ให้ขอบข่ายถึงการเป็นผู้มีแนวคิด ทัศนคติและค่านิยมเป็นนักประชาธิปไตยด้วย
คำนิยามของ "ครู-นักประชาธิปไตย"หมายถึง ครูที่มีค่านิยม แนวคิดและพฤติกรรมการเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ เคารพในสิทธิส่วนบุคคล และมีส่วนร่วมและการตัดสินใจในนามกลุ่ม ใช้สิทธิของตนและกลุ่มตามระบอบประชาธิปไตยในทางที่ถูกต้อง เกิดประโยชน์สูงสุดในภาพรวม และมีความปรารถนาที่จะเป็นแบบอย่างในการถ่ายทอดแนวคิดประชาธิปไตยสู่ผู้เรียนและคนในสังคม
"ลักษณะของครู-นักประชาธิปไตย"
เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ พื้นฐานของแนวคิดประชาธิปไตย คือ การเห็นคุณค่าของมนุษย์ ครูนักประชาธิปไตย จะเข้าใจและเห็นคุณค่าในเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล ที่แม้มีความแตกต่างกันตามฐานะเกียรติยศ รูปร่างหน้า หรือเชื้อชาติ ฯลฯ และปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม โดยเคารพในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และรู้จักใช้สิทธิเสรีภาพของตนในขอบเขตที่เหมาะสม
เคารพในสิทธิส่วนบุคคล ครู-นักประชาธิปไตยย่อมรู้จักที่จะใช้สิทธิเสรีภาพของตนในขอบเขตที่เหมาะสม โดยไม่ล่วงละเมิดหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่นที่พึงมี จนทำให้ผู้อื่นเดือนร้อนหรือไม่ได้ใช้สิทธิเสรีภาพของตนเองอย่างที่ควรจะเป็น หรือกีดกันไม่ให้เกิดการแสดงความคิดเห็นและการกระทำที่แตกต่างจากตนหรือกลุ่มของตน
ใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและเคารพต่อการตัดสินใจของกลุ่ม ครูนักประชาธิปไตยควรใช้สิทธิในการเข้าไปมีส่วนแสดงความคิดเห็นในกลุ่ม แต่ในขณะเดียวกันควรเคารพในมติของกลุ่ม ซึ่งต้องอยู่ภายใต้ความถูกต้อง และไม่ลดสิทธิของกลุ่มคนที่มีเสียงข้างน้อย นั่นหมายความถึง ครูต้องมีลักษณะของผู้ที่มีความยุติธรรม ไม่ลำเอียง และรักษาความถูกต้องร่วมด้วย
แนวทางพัฒนาสู่การเป็นครู-นักประชาธิปไตย
ทำความเข้าใจในหลักการและแนวคิดประชาธิปไตย ครูควรเริ่มศึกษาหลักการและแนวคิดประชาธิปไตยที่ถูกต้อง โดยสามารถศึกษาจากหนังสือ หรือเอกสารที่อธิบายถึงแนวคิดของประชาธิปไตย และวิธีการปฏิบัติตนในฐานะที่อยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ครูควรเป็นผู้ที่กล้าเสนอความคิดเห็น และมีส่วนร่วมตัดสินใจในสิ่งต่าง ๆ อย่างถูกต้องชอบธรรม และเกิดประโยชน์ต่อตนผู้อื่นในสังคมโดยก้าวข้ามอุปสรรคความกลัวต่าง ๆ เช่น กลัวจะไม่ได้รับการยอมรับ กลัวที่จะแปลกแยกจากผู้อื่น กลัวไม่มีเกียรติ กลัวการดูถูกเหยียดหยาม เป็นต้น เพราะความกลัวเป็นอุปสรรคของการพัฒนาความเป็นนักประชาธิปไตย
เปิดกว้างทางความคิด ครูไม่ถือเอาความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่ แต่ควรเปิดกว้างที่จะให้ผู้อื่นแสดงความเห็นได้หลากหลาย และเป็นผู้ฟังที่ดี เช่น รับฟังความคิดเห็นของนักเรียน หรือกลุ่มครูด้วยกันเอง เป็นต้น แม้ความคิดเห็นต่าง ๆ จะไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ครูได้คิดไว้ ซึ่งสามารถที่จะถกเถียงกันในตอนท้ายได้
เห็นคุณค่าความแตกต่าง ครูควรพัฒนามุมมองในเรื่องการเห็นคุณค่าของแต่ละบุคคล ที่มีความคิด วัฒนธรรม เชื้อชาติ ที่แตกต่างกัน โดยไม่ละทิ้งหรือมองข้ามคุณค่าของกลุ่มคนต่าง ๆ แต่นำส่วนทีดีมาประสานกันเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และความสงบสุข
ร่วมวิพากษ์และเสนอในกิจกรรมต่าง ๆ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเท่านั้น แต่หมายถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ครูสามารถเข้ามีส่วนร่วมได้ตามบทบาทหน้าที่ เช่น การแสดงความคิดเห็นในการพัฒนาโรงเรียน การพัฒนาชุมชน การวิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนวทางออกให้กับสังคม เป็นต้น เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในสังคม
ประกาศจุดยืนความชอบธรรม แม้ประชาธิปไตยจะเน้นเสียงส่วนใหญ่ แต่ครูไม่ควรที่ตามเสียงส่วนใหญ่ที่ขัดต่อคุณธรรมจริยธรรม หรือละเมิดสิทธิชนของคนบางกลุ่มในสังคม นั่นหมายถึง ครูต้องเป็นผู้ที่ชี้นำทิศที่ถูกต้องเหมาะสมให้แก่กลุ่ม และไม่ยินยอมในการตัดสินใจของกลุ่ม หากเป็นการไม่ยุติธรรมต่อคนบางกลุ่ม
การพัฒนาคนไทยให้มีแนวคิดและวิถีแบบประชาธิปไตย จึงเป็นวิธีหนึ่งในลดสภาพการเป็น ldquo;คุณพ่อรู้ดีrdquo; ของกลุ่มชนชั้นหรือนักปกครอง และลดปัญหาการเป็น "จำเลยชน" ของคนบางกลุ่มในสังคมที่ต้องปฏิบัติตามแม้ถูกลิดรอนสิทธิ ครูซึ่งเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างคน จึงควรตระหนักและพัฒนาตนเองให้เป็น "ครู-นักประชาธิปไตย" เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้เรียนและสังคม
Catagories:
เผยแพร่:
หนังสือพิมพ์พิษณุโลกทูเดย์
เมื่อ:
2007-10-01
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 127 ครั้ง
การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง
Total views: อ่าน 93 ครั้ง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 215 ครั้ง
เกียรติระบบ : Honour System สังคมให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรติ
Total views: อ่าน 175 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 158 ครั้ง