บริหารจัดการห้องสมุด? เพิ่มคุณค่าขุมทรัพย์ทางปัญญา

หากจะกล่าวถึงความยิ่งใหญ่และมั่งคั่งของมหาวิทยาลัยระดับโลกดังเช่นฮาร์วาร์ด หลายคนคงคิดถึงฐานเงินสะสมจำนวนมหาศาลกว่า 29.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ อาณาบริเวณของมหาวิทยาลัยบนพื้นที่ 380 เอเคอร์ ริมแม่น้ำชาลส์ และสิ่งที่ลืมไม่ได้คือ ความมั่งคั่งด้านขุมทรัพย์ทางปัญญานั่นคือ ห้องสมุดขนาดใหญ่ที่มีหนังสือมากกว่า 15 ล้านเล่ม นับเป็นห้องสมุดที่ใหญ่สุดอันดับหนึ่งในบรรดามหาวิทยาลัยทั่วโลก เป็นอันดับ 2 ของประเทศ และอันดับ 4 ของโลก

ปัจจุบันฮาร์วาร์ดมีห้องสมุดมากกว่า 80 แห่ง กระจายอยู่ตามคณะต่าง ๆ ห้องสมุดที่ได้รับความนิยมมากในหมู่นักศึกษาปริญญาตรีได้แก่ ห้องสมุด Cabot Science ห้องสมุด Lamont และห้องสมุด Widener เพราะตั้งอยู่ใจกลางของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะห้องสมุด Widener ที่มีหนังสือมากกว่า 3.5 ล้านเล่ม จัดเรียงไว้ทั้งภายในตัวอาคารสูงใหญ่ และชั้นใต้ดินที่มีอาณาบริเวณสนามกว้างใหญ่ของ Hardvard Yard นับเป็นสถานที่หนึ่งที่จะพบเห็นผู้คนที่สนใจในเรื่องที่หลากหลายมารวมตัวกันที่นี่

เสน่ห์ของขุมทรัพย์ทางปัญญานี้ ไม่เพียงเกิดจากหนังสือจำนวนมหาศาลติดอันดับโลกเท่านั้น หากแต่มาจากการจัดการองค์ความรู้ภายในห้องสมุด ทำให้สามารถรวบรวมความรู้ในศาสตร์ สาขาวิชาต่าง ๆ จากทั่วโลกได้อย่างเป็นระบบ และสะดวกต่อการเข้าถึง อาทิ

แหล่งเรียนรู้เฉพาะทาง สร้างความเชี่ยวชาญเชิงลึก
ห้องสมุดเฉพาะทางที่รวบรวมความรู้ในศาสตร์ สาขาวิชาเฉพาะทำให้บุคคลที่สนใจเฉพาะด้านสามารถลงลึก ค้นหาความรู้จนสุดพรมแดนได้ เช่น Harvard-Yenching Library แหล่งรวบรวมความรู้เกี่ยวกับเอเชียตะวันออก Loeb Music Library แหล่งค้นคว้าเรื่องของดนตรีทั่วโลก เก็บรักษาผลงานหายากของศิลปินชื่อก้องโลกดังเช่น Mozart Tozzer Library แหล่งความรู้ด้านมานุษยวิทยาขนาดใหญ่ เป็นต้น

เชื่อมโยงฐานข้อมูล เข้าถึงงานวิจัยอย่างรวดเร็ว ระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างห้องสมุด และการให้บริการข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายรูปแบบ ทำให้สะดวกแก่การค้นหาและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับการเรียนและการวิจัยในแต่ละสาขา ไม่ว่าจะเป็น คู่มือค้นหางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวิชาเรียน บริการข้อมูลอ้างอิง งานวิจัยออนไลน์ และระบบบัญชีรายชื่อออนไลน์ ซึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูลวัสดุภัณฑ์ในห้องสมุดกว่า 10 ล้านข้อมูลเช่น หนังสือ วารสาร เอกสารราชการ แผนที่ ไมโครฟิล์ม หรือแม้แต่โน้ตดนตรี เป็นต้น

ระบบe-library ไม่ว่าอยู่ที่ใดก็ไม่ตกหล่นข้อมูลสำคัญ
การใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสารสนเทศ ก่อให้เกิดห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ที่มหาวิทยาลัยเชื่อมโยงข้อมูล งานวิจัยต่าง ๆ เอื้อประโยชน์อย่างมากต่อนักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่ทำวิจัยจากทุกมุมโลก สามารถใช้บริการห้องสมุดได้เช่นเดียวกับนักศึกษาที่อยู่ในประเทศ ทำให้ไม่ตกหล่นจากข้อมูลและงานวิจัยที่จำเป็นต่อการศึกษาค้นคว้า

ระดมทุนจากภายนอก ทางออกพัฒนาห้องสมุดอย่างยั่งยืน
การทำงานเชิงรุกที่ห้องสมุดเปิดโอกาสให้ศิษย์เก่าและผู้สนใจสามารถบริจาคเพื่อห้องสมุดโดยตรง โดยผู้บริจาคใช้เป็นส่วนลดหย่อนภาษี รวมถึงได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งทางห้องสมุดมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแผนการบริจาคที่จะได้รับส่วนลดทางภาษีให้คุ้มค่ากับเงินบริจาค เป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจหนึ่งที่ส่งผลให้ห้องสมุดมีรายได้และทรัพยากรในการพัฒนาต่อไป

หากกล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการบริจาคเริ่มจากจุดเล็ก ๆ โดยผู้สนับสนุนมหาวิทยาลัยคนหนึ่งคือ จอห์น ฮาร์วาร์ด บริจาคหนังสือ 400 เล่มให้กับมหาวิทยาลัยเมื่อปี ค.ศ. 1638 ซึ่งเป็นจุดก่อร่างให้ขุมทรัพย์ทางปัญญาค่อย ๆ เจริญงอกงามขึ้นมา โดยมีการบริจาคต่อเนื่องในรูปแบบต่าง ๆ มาจนถึงทุกวันนี้

สะท้อนสู่การสร้างขุมทรัพย์ทางปัญญาของสถาบันการศึกษาของไทย ผมเห็นว่าเราเองจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการจัดการองค์ความรู้ และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น โดยเฉพาะห้องสมุดในสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยของไทย ที่ต้องมีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการและการให้บริการ เพื่อตอบสนองความต้องการเสาะหาความรู้ได้อย่างทันสมัย สะดวกรวดเร็วและไปจนถึงสุดพรมแดนความรู้ในเรื่องนั้น
[1] เช่น

ห้องสมุดเฉพาะทาง
ที่รวบรวมความรู้เฉพาะทางที่มีคุณภาพระดับสูงเป็นแหล่งความรู้ที่ไปถึงพรมแดนความรู้ในเรื่องนั้น ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติการสร้างห้องสมุดเฉพาะทางนี้นับเป็นการทดแทนปัจจุบันที่ต้องไปห้องสมุดหลายแห่ง เพื่อหาข้อมูลที่มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ ตรงกับความต้องการ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนหรือประหยัดต้นทุนในการเข้าถึงข้อมูล

ห้องสมุดที่ระดมทุนจากภายนอก เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการบริหารจัดการและการปรับปรุงห้องสมุด ให้มีบริการที่สะดวกและทันสมัยมากขึ้น เช่น การที่ห้องสมุดจัดให้บริการพิเศษในรูปแบบใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับงานห้องสมุดที่มีการจัดเก็บค่าบริการได้ การทอดผ้าป่าหนังสือเข้าห้องสมุด การขอรับบริจาคจากบุคคล สถานประกอบการที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ

ในระดับนโยบายรัฐควรออกมาตรการที่ส่งเสริมให้คนหันมาบริจาคเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้น โดยการสร้างมาตรการทางภาษีที่จูงใจให้คนร่วมบริจาคเพื่อการศึกษาหรือห้องสมุดมากขึ้น

ห้องสมุด นับเป็นแหล่งสมบัติทางปัญญาที่เป็นมรดกทางความรู้ที่คนรุ่นก่อน ๆ มอบไว้ให้ มรดกนี้สามารถสืบต่อไปได้ ความทรงคุณค่าจึงไม่ได้มีอยู่เพียงจำนวนมหาศาลของข้อมูล หากแต่อยู่ที่การบริการจัดการให้เกิดการใช้ข้อมูลที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้คุณค่าเพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่การต่อยอดทางปัญญาให้สูงยิ่งขึ้น และใช้เพื่อการพัฒนาตนเอง สังคมและประเทศต่อไป


[1] ข้อเสนอนี้ได้เคยนำเสนอหลายครั้งในการบรรยายและบทความต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2547
admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2007-09-28