ทางออกปัญหาปลอมวุฒิการศึกษา



จากกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พบว่ามีสถานศึกษาที่ออกวุฒิการศึกษาปลอมทั้งหมด 202 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสถานศึกษาประเภทอาชีวศึกษา ประเภทพาณิชยการ สังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) วิทยาลัยเทคนิค สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสถานศึกษา สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)

ในระหว่างปี 2544-2549 มสธ. ได้เพิกถอนปริญญาบัตรกว่า 416 ราย และในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ได้เพิกถอนสถานภาพนักศึกษาประมาณ 1,100 ราย เนื่องจากใช้วุฒิการศึกษาปลอมมาสมัครเรียน

การปลอมวุฒิการศึกษาส่วนใหญ่ เป็นการปลอมวุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปวช. และ ปวส. แม้ว่า มสธ. จะมีการตรวจสอบวุฒิการศึกษาจากสถานศึกษาเดิม และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เมื่อนักศึกษาเข้ามาสมัครเรียน แต่ไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด โดยเฉพาะสถานศึกษาเอกชน ซึ่งสาเหตุการปลอมวุฒิการศึกษามาจาก 2 สาเหตุ

อำนาจการควบคุมของ สพท
. ไปไม่ถึงโรงเรียนสังกัด สช. การปลอมวุฒิการศึกษา ส่วนหนึ่งมาจาก สพท. ไม่มีอำนาจเข้าไปควบคุมการเปิดสถานศึกษาเอกชน เพราะใน พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 ระบุให้การเปิดปิดสถานศึกษาในต่างจังหวัด เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด เฉพาะสถานศึกษาเอกชนในกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.)

การบังคับโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี
2540 กลุ่มบุคคลที่มีการปลอมวุฒิการศึกษากันมาก คือ กลุ่มนักการเมือง เนื่องจากในช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ระบุว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศต้องมีวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป ทำให้การปลอมวุฒิแพร่หลาย โดยเฉพาะในกลุ่มนักการเมืองที่ต้องการวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อไปสมัครเรียนมหาวิทยาลัย แต่ปัญหานี้อาจลดลง เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ไม่ได้ระบุให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป

ผมขอเสนอแนวทางแก้ปัญหาและป้องกันการปลอมวุฒิการศึกษาในระบบการศึกษาไทย ดังนี้

เร่งผลักกฎหมายควบคุมคุณภาพสถาบันการศึกษาเอกชนที่เข้มงวด
ร่าง พ.ร.บ. โรงเรียนเอกชน พ.ศ. hellip;. ควรให้ความสำคัญในประเด็น ดังนี้ คือ ควบคุมคุณภาพสถานศึกษาเอกชน ให้เป็นไปตามกำหนด ตรวจสอบเป็นระยะและต่อเนื่อง การจะเปิดหลักสูตร ต้องได้คุณภาพมาตรฐาน ห้ามเปิดไปปรับปรุงไป แต่ต้องพร้อมก่อนจึงจะเปิดได้ เพื่อไม่ให้ผู้เรียนเป็นหนูทดลอง เข้มงวดการเปิดและปิดสถานศึกษา การจะเปิดสถาบันการศึกษาได้ ต้องผ่านกระบวนการที่เข้มงวดเพื่อให้ได้คุณภาพ และหากสถาบันการศึกษาใดถูกปิด ต้องควบคุมไม่ให้เปิดดำเนินการหากไม่พร้อม และไม่ควรให้มีการขอซื้อใบอนุญาตเปิดสถาบันการศึกษาจากสถาบันการศึกษาเดิมที่หยุดกิจการ เพราะอาจเป็นช่องทางเปิดการเรียนการสอนที่ไม่ได้คุณภาพ และอาจเป็นแหล่งปลอมวุฒิการศึกษาได้ กำหนดบทลงโทษรุนแรง ผู้เรียนที่ซื้อวุฒิการศึกษา และผู้ชักจูงหรือปลอมวุฒิการศึกษา กรณีที่สถาบันการศึกษาที่ออกวุฒิการศึกษาปลอม ต้องลงโทษทั้งจำทั้งปรับหรือปิดกิจการ อีกทั้งต้องจ่ายค่าปรับเพื่อชดเชยให้ผู้ได้รับกระทบ เช่น สถานประกอบการหรือสถาบันการศึกษา ที่รับผู้เรียนใช้วุฒิการศึกษาปลอมเข้าไป และถูกตรวจพบ

ปูพรมระดมตรวจสอบคุณภาพสถานศึกษาที่เข้าข่ายต้องสงสัย
กระทรวงศึกษาธิการควรเร่งตรวจสอบสถาบันการศึกษากลุ่มนี้ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่ถูกร้องเรียนหรือมีหลักฐาน เช่น สถาบันการศึกษา 202 แห่งตามข่าว อาจจัดคณะกรรมการหรือทีมตรวจสอบ โดยตรวจสอบเป็นระยะและต่อเนื่อง หากพบต้องดำเนินการทางกฎหมายโดยไม่อะลุ้มอล่วยดังเช่นที่ผ่านมา

จัดทำฐานข้อมูลกลางนักเรียน-นักศึกษาย้อนหลัง 10 ปี
ควรพัฒนาฐานข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศที่รวบรวมรายชื่อผู้เรียนที่จบจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ย้อนหลัง 10 ปี และรายชื่อผู้เรียนใหม่ทุกปี เพื่อให้สถาบันการศึกษา และสถานประกอบการต่าง ๆ สามารถเข้าไปตรวจสอบ โดยเข้าถึงได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว

เปิดช่องให้ประชาสังคมมีส่วนร่วมให้ข้อมูลและเฝ้าระวัง
โดยให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมให้ข้อมูลและเฝ้าระวัง โดยเปิดช่องทางส่งข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทำวุฒิการศึกษาปลอม รวมถึงเครือข่ายที่ชักชวนไปทำวุฒิการศึกษาปลอม
การปลอมวุฒิการศึกษาเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยหลายประการ ทำให้ภาพลักษณ์การจัดการศึกษาไทยเสียหาย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาเอกชน และก่อให้เกิดความสูญเสียงบประมาณของรัฐในการจัดการศึกษา อีกทั้ง ยังเป็นการปล่อยคนที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงาน ส่งผลให้สถานประกอบการขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพของผู้จบการศึกษา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาการปลอมวุฒิการศึกษาให้หมดไปจากการศึกษาไทย

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-10-08