ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่?

.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เชิญผู้บริหารธนาคารพาณิชย์มาร่วมพูดคุยในประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ประเด็นหนึ่งที่มีการหยิบยกขึ้นมา คือ ปัญหาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีการโต้แย้งกันมาก่อนหน้านี้แล้ว ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง

ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝากจำเป็นต้องมี เพื่อให้ธนาคารมีกำไรและสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่คำถามที่น่าสนใจ คือ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยในปัจจุบัน อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้วหรือไม่?

ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ พยายามยืนยันว่า ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว แต่หากเราพิจารณาผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ มีความเป็นไปได้ว่า ช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากนั้นยังจะสามารถลดลงได้อีก ทั้งนี้เพราะข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ไทยในปี
2551 มีกำไรสุทธิสูงถึง 9.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2.4 หมื่นล้านในปี 2550 ในขณะที่ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 นั้นยังคงมีกำไรสูงถึง 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1.8 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2551

ถึงแม้ว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส
1 ปี 2552 นั้นได้ลดลงเหลือร้อยละ 2.8 จากร้อยละ 3.1 ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2551 แล้วก็ตาม แต่กำไรส่วนใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นกำไรที่ธนาคารได้รับจากดอกเบี้ย โดยสัดส่วนกำไรจากดอกเบี้ยต่อกำไรทั้งหมดที่ธนาคารได้รับอยู่ในระดับที่สูงมาก บางธนาคารมีสัดส่วนรายได้จากดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 70 การที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาได้ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าธนาคารพาณิชย์ยังมีกำไรส่วนเกิน และสามารถลดช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก

นอกจากนี้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยยังสูงกว่าในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ โดยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของบางประเทศอยู่ที่ร้อยละ
1.5 เนื่องจากประเทศเหล่านั้นมีเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่เพียงเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์เท่านั้น อีกทั้งยังมีการแข่งขันในระบบสูง ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่สามารถคิดดอกเบี้ยสูงเกินไปได้ ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยยังอยู่ในระดับสูง เป็นผลมาจากระบบสถาบันการเงินของไทยมีการแข่งขันกันน้อย ธนาคารพาณิชย์จึงสามารถผลักภาระให้แก่ประชาชนได้

ผมเห็นว่า การที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่การทำให้ช่องว่างอัตราดอกเบี้ยลดลงในระยะยาวนั้น ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินมากขึ้น เช่น การพัฒนาระบบธนาคารชุมชนหรือธนาคารเพื่อรายย่อยให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้นแล้ว ยังจะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นในระบบสถาบันการเงินด้วย รวมทั้งการสนับสนุนให้สถาบันการเงินคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อที่จะหารายได้จากทางอื่นชดเชยกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง เป็นต้น
admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์โกลบอลบิซิเนส
เมื่อ: 
2009-06-12