พัฒนาเด็กให้รู้จัก ?น้ำใจ?: บทเรียนจากสังคมญี่ปุ่น

. ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ภายหลังที่ประเทศไทยได้พัฒนาประเทศสู่ความทันสมัย การทำเกษตรเปลี่ยนไปเป็นอุตสาหกรรมเพราะต้องเปิดประเทศทำการค้าการลงทุน ผู้คนหันหน้าเข้าหางานทำในภาคอุตสาหกรรมและในเมืองใหญ่ เพื่อให้ได้มาซึ่งความร่ำรวย ส่งผลให้ค่านิยมดั้งเดิมของคนไทยได้เปลี่ยนแปลงไป จากที่คนในสังคมยินดีช่วยเหลือเมื่อเห็นผู้อื่นเดือดร้อนแม้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน กลับกลายเป็นว่า ความมีน้ำใจลดลงน้อยลงไป ต่างคนต่างอยู่ ผู้คนต่างแข่งขันเพื่อความอยู่รอด และยอมเอาเปรียบผู้อื่นเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
เหมือนเป็นการตอกย้ำการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของคนในสังคมเข้าไปอีก เมื่อสถาบันการศึกษาและสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันที่มีบทบาทนำในการปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้คนในสังคม ได้มุ่งเน้นการพัฒนาเด็กและเยาวชนไปในด้านวิชาการและวิชาชีพ เพื่อตอบสนองต่อตลาดแรงงานเป็นหลัก แต่ละเลยการพัฒนาด้านจิตใจ โดยเฉพาะความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเห็นแก่ผู้อื่น และจิตสาธารณะ จึงส่งผลสืบเนื่องมาถึงเด็กและเยาวชนรุ่นปัจจุบัน ที่กลายเป็นคนที่ไม่สนใจปัญหาบ้านเมือง และมีชีวิตอยู่เพื่อตนเอง
ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีการเปลี่ยนแปลงของสังคมในลักษณะดังกล่าว อย่างกรณีของประเทศญี่ปุ่น มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่คล้ายคลึงกับไทยมาก ญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ผู้คนมีน้ำใจให้กันและกัน แต่ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ของคนในสังคมเริ่มอ่อนแอลงไปมาก ซึ่งเกิดจากการพัฒนาสู่ความทันสมัยเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยลักษณะสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบันมีดังนี้

คนญี่ปุ่นเข้าไปเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและเริ่มหันหลังให้กับชีวิตแบบดั้งเดิม
ศาสตราจารย์ มาโกโตะ คุโรซุมิ (Makoto Kurozumi) มหาวิทยาลัยโตเกียว ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น กล่าวว่า ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นคุณลักษณะของคนญี่ปุ่น ซึ่งเกิดจากรากฐานความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ ที่สอนให้คนญี่ปุ่นตระหนักว่าทุกสรรพสิ่งทั้งมนุษย์ พืช และสัตว์มีวิญญาณสถิตอยู่ จึงเป็นที่มาของลักษณะชีวิตของคนญี่ปุ่นที่มักเอาใจใส่ต่อความเป็นอยู่ของผู้อื่น และทะนุถนอมต้นไม้ พืช และสัตว์ แต่เมื่อสังคมญี่ปุ่นพัฒนาสู่ยุคสมัยใหม่ในสมัยเมจิ (Meiji: 1869-1912) การดำเนินชีวิตของคนญี่ปุ่นได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และเริ่มหันหลังให้กับลักษณะชีวิตแบบดั้งเดิม
ความมีน้ำใจและความเอื้อเฟื้อของคนญี่ปุ่นลดลง หัวหน้านักวิจัยสถาบันเพื่อการสื่อสารเดนท์สุ (Dentsu Communication Institute) เซโกะ ยามาซากิ (Seiko Yamazaki) ได้เปิดเผยผลการสำรวจค่านิยม ldquo;การให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้อื่นrdquo; ระหว่างปี 2005-2007 พบว่า คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้อื่นต่ำสุดอันดับที่ 2 จากทั้งหมด 18 ประเทศ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ชาวญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ผู้คนมีมีน้ำใจ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของศาสตราจารย์เกษียณ โยชิมาสะ นากาซาระ (Yoshimasa Nakazato) มหาวิทยาลัยโตเกียว ขณะนั้น ได้ทดสอบค่านิยมความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของเด็ก โดยให้กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้เรียนประถมศึกษาเล่นเกม เพื่อศึกษาว่าผู้เรียนที่เป็นฝ่ายชนะจะทำอย่างไรกับสิ่งของที่ได้รับจากฝ่ายตรงข้าม ท่านให้ความเห็นว่า หากย้อนกลับไปดูผลการทดสอบนี้ในศตวรรษที่ 1980s ผู้เรียนที่เป็นฝ่ายชนะกว่าร้อยละ 80 มักหยิบยื่นรางวัลที่ตนได้รับคืนแก่เพื่อนที่เป็นฝ่ายแพ้ แต่ค่านิยมนี้ได้ลดลงกว่าร้อยละ 40 ภายหลังศตวรรษที่ 1980s

บริโภคนิยมสูงขึ้น
ศาสตราจารย์ ทาซูรุ อุชิดะ (Tatsuru Uchida) วิทยาลัยโกเบะ (Kobe College) อ้างถึงหนังสือที่เขียน เรื่อง Karyu Shiko ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Downwardly Mobile Youth ระบุว่าเยาวชนญี่ปุ่นได้รับการเลี้ยงดูมาแบบวัตถุนิยม เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริโภคตั้งแต่เด็ก เพราะในช่วงศตวรรษ 1970s ประเทศญี่ปุ่นมีการผลิตสินค้าทีละมาก ๆ เพื่อบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้คนญี่ปุ่นกลายเป็นนักบริโภคนิยมตั้งแต่นั้นมา เน้นตอบสนองการบริโภคของตนเป็นหลัก ดังนั้น เด็กที่เกิดมาในช่วงศตวรรษที่ 1970s-1980s หรือช่วงเบบี้บูม จึงแทบไม่มีค่านิยมแบบคนญี่ปุ่นดั้งเดิม ในเรื่องนี้ ก็ได้มีเสียงสะท้อนจากครอบครัวอุปถัมภ์ในอังกฤษ ซึ่งนักศึกษาญี่ปุ่นเข้าไปอาศัยอยู่ด้วยระหว่างเรียน พบว่า ทุกวันนักศึกษาญี่ปุ่นมักจะกินข้าวคนเดียว ไม่เคยกล่าวทักทายผู้อื่นในตอนเช้า และไม่สนใจผู้ที่พักอาศัยอยู่ด้วย นักศึกษาญี่ปุ่นบางคนให้เหตุผลว่า เพราะเขาเป็นคนจ่ายเงินเองทั้งหมด จึงไม่จำเป็นต้องทำในสิ่งที่คนอื่นคาดหวัง
การเริ่มต้นรื้อฟื้นค่านิยมดั้งเดิมในประเทศญี่ปุ่น
จากความห่วงใยในสภาพสังคมญี่ปุ่นที่เปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการการศึกษาจังหวัดโทะยะมะ (Toyama Prefecture Board Education) จึงมีโครงการสนับสนุนให้ทุกโรงเรียนในจังหวัดส่งผู้เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ลงสู่ชุมชนใกล้โรงเรียน โดยให้เข้าไปทำงานในบริษัท ร้านขายของ และในไร่ เพื่อให้ผู้เรียนรู้การเคารพบรรทัดฐานของสังคม ได้ฝึกทักษะทางสังคม ได้ฝึกการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ซึ่งผลที่ได้รับคือ ผู้เรียนเริ่มตระหนักว่าสังคมไม่ใช่สถานที่ส่วนตัว พวกเขาไม่สามารถทำอะไรได้ตามใจชอบ และเริ่มหันหน้าเข้าหาชุมชนมากขึ้น
อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปะและวัฒนธรรมชิซึโอะกะ (Shizuoka University of Art and Culture) ศาสตราจารย์ เฮตะ คาวาคาซุ (Heita Kawakatsu) สมาชิกสภาปฏิรูปการศึกษา (Education Rebuilding Council) มีความคิดเห็นสนับสนุนโครงการดังกล่าวว่า เป็นโครงการที่ทำให้ผู้เรียนมีความภาคภูมิใจในชุมชนของตน และศาสตราจารย์ ฮิโรชิ ทาเคยูชิ (Hiroshi Takeuchi) มหาวิทยาลัยคันไซ (Kansai University) กล่าวว่า การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและโรงเรียน เป็นความหวังใหม่ของการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมญี่ปุ่น (Toko.ldquo;Itrsquo;s all about ME. Have Todayrsquo;s Japanese Lost Their Empathy?,rdquo; Asianews, June 22-23, 2007)
โครงการในจังหวัดโทะยะมะ เป็นตัวอย่างแนวทางการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่อ่อนแอลงของคนญี่ปุ่น โดยนำเยาวชนเข้าสู่ชุมชนและสังคม เพื่อเรียนชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ และได้ดำเนินชีวิตภายใต้การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นการดึงเด็กและเยาวชนญี่ปุ่นรุ่นปัจจุบันเข้าสู่ค่านิยมดั้งเดิม

ประเทศไทยควรหันมาใส่ใจถึงสถานการณ์ของเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน ที่มีสภาพต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจปัญหาสังคม และไม่ทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมมากนัก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงฯ โรงเรียน ชุมชน และบุคคล ควรร่วมมือกันหาแนวทางป้องกันและแก้ไข โดยสามารถประยุกต์ตัวอย่างของจังหวัดโทะยะมะมาใช้ได้ เช่น ผู้บริหารโรงเรียนอาจจัดโครงการให้ผู้เรียนทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์แก่ชุมชน หรือแนะนำให้ผู้เรียนเข้าทำกิจกรรมร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานเพื่อสังคม เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้สภาพสังคมในมุมที่หลากหลาย โดยอาจนำมาเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนจิตพิสัย ซึ่งผมขออนุญาตแนะนำ ldquo;กองทุนเวลาเวลาเพื่อสังคมrdquo; ก่อตั้งขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์ที่ต้องให้คนในสังคมสละเวลาเพียงคนละไม่กี่ชั่วโมง เพื่อทำประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน เช่น กิจกรรมในสถานสงเคราะห์ กิจกรรมฝึกอาชีพให้แก่กลุ่มคนไร้ที่พึ่ง กิจกรรมสอนศิลปะให้เด็กในชุมชน การอ่านหนังสือบันทักเสียงให้คนตาบอด สอนหนังสือและสอนภาษาอังกฤษให้เด็กในชุมชนและโรงเรียน ฯลฯ หากโรงเรียนหรือพ่อแม่ผู้ปกครองท่านใดสนใจให้เด็กและเยาวชนเข้าร่วมทำกิจกรรม สามารถติดต่อไปได้ที่ 02-8095019 กด 7 หรือดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ www.timebanksociety.com

ผมคิดว่ากองทุนเวลาเพื่อสังคมสามารถเป็นกลไกหนึ่ง ที่ช่วยรื้อฟื้นค่านิยมดั้งเดิมของสังคมไทย ที่เป็นสังคมแห่งความเอื้อเฟื้อ มีน้ำใจไมตรีต่อกัน เพราะผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้สัมผัสความเป็นอยู่ของคนในสังคมที่ด้อยโอกาส และเข้าไปช่วยเหลือคนในสังคมโดยตรง
การรักษาสังคมไทยให้หายจากอาการเจ็บป่วย อันเกิดจากความสัมพันธ์ของคนในสังคมที่อ่อนแอลงไป ผมเห็นว่าสามารถทำได้ โดยให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่เข้าไปทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือชุมชนและสังคมในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นการปลูกฝังค่านิยมการมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และจิตสาธารณะ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่พวกเขาจะมีจิตสำนึกของการมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น และเป็นการรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนในสังคมไทยให้กลับมาดังเดิม
admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
การศึกษาวันนี้
เมื่อ: 
2007-09-24