ความน่าเชื่อถือของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล
เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
สมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการศึกษาทัศนคติของคนกรุงเทพฯเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรก ซึ่งพบว่าปัญหาทางการเมืองได้ส่งผลต่อความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ในสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 67 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด จากเดิมที่เคยมีความไม่มั่นใจอยู่ที่ ร้อยละ 62 ในการสำรวจเมื่อปลายปี 2548
ผมคิดว่าความไม่เชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจนอกจากปัญหาทางการเมืองแล้วน่าจะมาจากที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในลักษณะยืดหยุ่นตามสภาพการณ์ (Discretion) มากเกินไป
ลักษณะของนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณเป็นนโยบายที่มีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากคาดการณ์ได้ยากว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร
ตัวอย่างความไม่แน่นอน เช่น โครงการเมกะโปรเจกต์ที่มีการปรับเปลี่ยนหลายครั้ง พรรคไทยรักไทยได้ชูนโยบายหาเสียงจะสร้างรถไฟฟ้า 7 สาย แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลนโยบายนี้กลับมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดทั้งจำนวนเส้นทางและรูปแบบของไฟฟ้าไม่มีความชัดเจนแต่ประการใด ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อนักลงทุนที่หลงเชื่อได้ลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้าไปแล้วแต่แรก สุดท้ายกลับไม่รู้ว่าจะได้สร้างรถไฟฟ้าได้จริงหรือไม่
ผลกระทบประการต่อมาคือทำให้ไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รัฐบาลมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายตามสภาพการณ์มากกว่าจะยึดถือกฎเกณฑ์ที่ประกาศไว้ ตัวอย่างเช่นนโยบายการแก้ไขหนี้ภาคประชาชนแม้รัฐบาลได้ประกาศว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่พฤติกรรมที่ผ่านมารัฐบาลออกนโยบายปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง
การที่รัฐบาลไม่ดำเนินนโยบายแก้ปัญหาหนี้ตามที่ได้ประกาศอย่างเคร่งครัด ทำให้ประชาชนเกิดพฤติกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คือประชาชนจะไม่กลัวการเป็นหนี้และตั้งใจทำให้เกิดหนี้เสียและเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาลดหนี้ให้อีก สุดท้ายสถาบันการเงินของรัฐต้องรับความเสี่ยงสูงจากการรับลูกหนี้ที่มีพฤติกรรมไม่ดีมาเป็นลูกหนี้ของตน
ผมเสนอว่าถ้ารัฐบาลอยากให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพในระยะยาวและประชาชนเกิดความเชื่อมั่นรัฐบาลควรประกาศนโยบายเป็นกฎอย่างชัดเจนแล้วกระทำตามนั้น (Rules) โดยไม่ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์(Discretion) จนทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือและไม่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลมากไปกว่านี้