อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์: นักปฏิวัติแห่งยุคสมัย

ขณะเดินย้อนกลับไปในอดีต ผ่านหน้าประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมไทยหลายช่วงทศวรรษ เพื่อค้นหาบุคคลผู้นำการเปลี่ยนแปลงภายใต้นิยามของคำว่า ปฏิวัติ ผมไม่ได้พบกับบรรดาทหาร ผู้นำกองทัพที่นำการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศแต่อย่างใด แต่ได้สะดุดกับชีวิตของปูชนียบุคคลท่านหนึ่ง ซึ่งผมขออนุญาตเรียกว่าเป็น นักปฏิวัติแห่งยุคสมัย ...ท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ บุคคลที่เราสมควรยกย่องเป็นรัฐบุรุษ และเป็นแบบอย่างที่ปัญญาชนรุ่นหลังควรดำเนินตาม
 
จากการศึกษาประวัติชีวิต ประวัติการทำงาน คำพูด และข้อเขียนของท่าน รวมทั้งคำกล่าวสดุดีของลูกศิษย์ ผู้ร่วมงาน และบุคคลในแวดวงอาชีพต่าง ๆ พบว่า สิ่งที่ท่านคิดและทำนั้น หากผู้นำประเทศ นักการเมือง ข้าราชการ ปัญญาชน และประชาชนในขณะนั้นดำเนินตาม ย่อมเชื่อมั่นได้ว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ ได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะความคิด คำพูด และการกระทำของท่านนั้น สอดคล้องและชัดเจน

ดำเนินชีวิตด้วยอุดมการณ์
: ความจริง ความงาม และความดี
 
อาจารย์ป๋วย เป็นผู้มีอุดมคติในการดำเนินชีวิต มิใช่มุ่งแสวงประโยชน์และความมั่งคั่งแห่งตน แต่ท่านได้กล่าวถึงอุดมคติประจำใจว่า ldquo;คนเราจะเป็นคนที่สมบูรณ์ได้ต้องระลึกเสมอถึงคุณธรรม 3 ข้อ คือ ความจริง ความงาม และความดี กล่าวโดยย่อ ความจริงหมายถึงสัจธรรมและหลักวิชา ความงาม หมายถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้มนุษย์มีวัฒนธรรม และความเพลิดเพลินเป็นการอดิเรกรวมทั้งการกีฬาประเภทต่าง ๆ ความดีนั้นหมายถึง การไม่เบียดเบียนประทุษร้าย่อกัน ความสัตย์สุจริตและการบำเพ็ญประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันrdquo;[1] ความจริงในเรื่องนี้ที่ปรากฏจากชีวิตของท่าน เป็นเรื่องที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ ท่านได้ยึดความจริง ความงาม และความดีในการดำเนินชีวิตจวบจนวาระสุดท้าย

แนวคิดชัด ปฏิบัติได้จริง

ท่านเป็น "นักคิด" พร้อม ๆ กับเป็น "นักปฏิบัติ" เป็นแกนนำทางความคิดและแบบอย่างการกระทำให้แก่คนในสังคม ท่านได้รับใช้ประเทศชาติในฐานะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ อาทิ ในปี 2502 ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นาน 12 ปี ได้วางนโยบายการทำงานอย่างมีระเบียบแบบแผน เป็นผู้วางรากฐานระบบการเงินและธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย สร้างความมั่นคงให้เกิดแก่ระบบธนาคารพาณิชย์ จนได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ ท่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดัน พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ 2505

ท่านมีแนวคิดว่า ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ควรมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ควรพัฒนาชนบท ช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศก่อน ท่านได้เสนอให้มีการปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจัง จัดรูปที่ดิน สนับสนุนราษฎรให้ปลูกพืชหลายฤดู จัดทำอุตสาหกรรมที่คาบเกี่ยวกับการเกษตร และเสนอให้ทำงานสังคมสงเคราะห์ในชนบทด้านต่าง ๆ มากขึ้น รวมทั้งฝึกและอบรมคนให้ทำงานประเภทต่าง ๆ เพื่อช่วยให้คนพ้นความยากจน

ไม่เพียงการทำงานในวิชาชีพที่เชี่ยวชาญ อาจารย์ป๋วยยังได้นำเสนอแนวคิดเพื่ออนาคตของประเทศ อาทิ ท่านได้นำเสนอแนวคิดสังคมที่พึงปรารถนา ต้องประกอบด้วยคุณธรรม 4 ประการ คือ มีสมรรถภาพ มีเสรีภาพ มีความชอบธรรม และมีความเมตตากรุณา และได้แสดงทัศนคติเรื่องคุณภาพแห่งชีวิต ldquo;ปฏิทินแห่งความหวัง: จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนrdquo; เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาคนในประเทศ ซึ่งเราทั้งหลายรู้จักดี
 
ยืนหยัดในหลักการ ไม่กลัวอำนาจอธรรม

อาจารย์ป๋วยเป็นแบบอย่างของผู้ที่มีอุดมการณ์ในการดำเนินชีวิต เป็นผู้ที่ความคิด คำพูด และการกระทำ สอดคล้องและเป็นไปในทางเดียวกัน ท่านทำงานอย่างซื่อสัตย์สุจริตตรงไปตรงมา เป็นอิสระจากการแทรกแซงของอำนาจการเมือง ท่านกล้าที่จะขัดแย้งกับผู้มีอำนาจขณะนั้น ก่อให้เกิดปรปักษ์จำนวนไม่น้อย ทำให้ขณะดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2496 ถูกปลดออกเมื่อทำงานได้เพียง 7 เดือน เนื่องจากไปขัดขวางผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจทางการเมืองในสมัยนั้น

นอกจากนี้ ท่านเป็นนักประชาธิปไตยที่แสดงความคิดเห็นต่อต้านเผด็จการ เช่น เมื่อจอมพลถนอมปฏิวัติตัวเองในปี 2514 ดร.ป๋วย ได้เขียนจดหมายคัดค้านการกระทำดังกล่าว (จดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงนายทำนุ เกียรติก้อง) และได้วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำกองทัพอย่างเปิดเผยในช่วงเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ในปี 2516 และ 2519 เป็นต้น

ชีวิตของท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สะท้อนให้เห็นความเป็นผู้นำทางสังคมที่มีหลักการ ยึดมั่นในประโยชน์ของส่วนรวม ท่านเป็นเป็นที่เคารพของคนทั่วไป ยกเว้นมิใช่สำหรับผู้มีอำนาจในประเทศขณะนั้น ท่านถูกกล่าวหาท่านเป็นคอมมิวนิสต์ จนท่านต้องไปพำนักที่ประเทศอังกฤษหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จวบจนวาระสุดท้าย

ในพิธีไว้อาลัย อาจารย์ ป๋วย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พระศรีปริยัติโมลี รองอธิการบดี มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ได้กล่าวอนุสติธรรมว่า ldquo;คนไทยมีคนเก่ง คนดี คนกล้า คนเก่งไม่จริงก็มีมาก ทำเศรษฐกิจพังแล้วก็มี คนดีในประเทศไทยมีมาก ส่วนคนกล้าก็มีเช่นกัน แต่นายป๋วยมีทั้ง 3 อย่าง คือ ทั้งดี เก่ง และกล้า นายป๋วยไม่เคยกลัวอะไรเลย ไม่เคยก้มหัวให้สิ่งไม่ดี ถึงขนาดต้องออกจากประเทศก็ยอม..rdquo;

สังคมไทยทุกวันนี้ยังขาดแคลนบุคคลผู้มีปัญญาระดับนำทิศทางประเทศ ผู้เป็นทั้งคนเก่ง คนดี คนกล้าเช่นอาจารย์ป๋วย ผู้กล้ายืนหยัดในหลักการอย่างไม่เกรงกลัวอำนาจ กล้าชี้ทิศทางบ้านเมืองด้วยใจยุติธรรม หากปัญญาชนในสังคมไทยรวมพลังกันยึดแบบอย่างอาจารย์ป๋วย ร่วมกันปฏิวัติตนเองเพื่อทำสิ่งดีแก่สังคม ย่อมมีพลังในการเปลี่ยนแปลงอนาคตของประเทศให้ดีกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน
 
 
ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
Hi-Class V.260 2007
--------------------------------------------------------------------------------

[1] จากบทความเรื่อง เหลียวหลังแลหน้า พิมพ์ครั้งแรกในปี 2519 ใน ชปท.ปริทรรศน์ 6 (เมษายน 2519) วารสาร ธกส. 5 (มีนาคม 2519).
admin
Catagories: 
เผยแพร่: 
Hi-Class
เมื่อ: 
2007-09-01