'ความเคยชิน' ที่ต้องจัดการ
แหล่งที่มาของภาพ : http://mpics.manager.co.th/pics/Images/557000004088701.JPEG
งานวันนี้
‘โอกาส’ เป็นของคนที่มีความพร้อมสำหรับอนาคต...
คำกล่าวนี้เป็นจริงสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนทำงาน การเปิดประชาคมอาเซียนที่จะเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2558 สามารถเป็นทั้งโอกาสและวิกฤตของคนทำงานได้ เราจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อฉวยโอกาสที่จะได้รับประโยชน์และลดความเสี่ยงให้มากที่สุด
ความพร้อมในการทำงานกับคนต่างชาติ เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เราต้อง ‘พร้อม’ ตั้งแต่วันนี้
เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้รับเชิญจากเพื่อนนักธุรกิจชาวต่างชาติ ให้มาพูดคุยเกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงานของคนไทยว่าเป็นอย่างไร เพื่อเขาจะได้เตรียมพร้อมปรับตัวทำงานร่วมกับคนไทย เนื่องจากมีแผนการว่าจะมาเปิดสาขาธุรกิจในประเทศไทยในเร็ว ๆ นี้
ผมได้วิเคราะห์ลักษณะนิสัยคนไทยที่มีผลกระทบต่อการทำงาน ทั้งด้านดีและด้านลบ และพบว่า มีความเคยชินหลายประการที่สังคมของเราอาจคิดว่า ไม่เป็นไร แต่จริง ๆ แล้วเป็นนิสัยที่ต้องเปลี่ยน เพราะไม่ใช่สิ่งที่ดีงาม เหมาะสม และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ความเคยชินที่เราต้องเปลี่ยน ได้แก่
ช้านิด...สายหน่อย ไม่เป็นไร ความเคยชินที่เรายอมรับทั่วไป คือ มาสาย 10-15 นาที หรือแม้กระทั่งครึ่งชั่วโมง ก็ไม่เป็นไร ในการประชุมมักเริ่มไม่ตรงเวลา และเมื่อมีคนเข้ามาช้า ก็ไม่รู้สึกผิด ไม่ต้องขอโทษ ความเคยชินในการไม่ตรงเวลา / ไม่รักษาเวลา แม้เราจะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้อภัยได้ แต่สำหรับชาวต่างชาติส่วนใหญ่ จะให้ความสำคัญต่อการตรงเวลา/รักษาเวลามาก ๆ
เพื่อนต่างชาติเคยบอกผมว่า คนไทยเป็นคนที่ ‘เชื่อถือไม่ได้’ เพราะไม่เคยรักษาเวลาตามที่นัดหมายไว้เลย มาประชุมก็สาย ทำงานไม่เคยตรง deadline ที่สำคัญ มักไม่ค่อยรู้สึกผิด เมื่อตัวเองทำแบบนั้น ...การที่เขาบ่นแบบนี้ น่าคิดนะครับ
เราคงต้องยอมรับว่า คนไทยส่วนใหญ่มีจุดอ่อนในเรื่องการตรงต่อเวลา และการบริหารเวลา ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราคงต้องมาสำรวจตัวเองดู และเปลี่ยนแปลงใหม่ โดยการวางแผนเวลา วางแผนการเดินทาง วางแผนการทำงานให้เหมาะสม และตั้งใจว่าจะต้องมาตรงเวลา ทำงานเสร็จตรงเวลา มีวินัยในการควบคุมตนเอง ไม่ปล่อยเวลาไปเรื่อย ๆ ตามสบาย ๆ อีกต่อไป
เพื่อนมาก่อน...องค์กรมาทีหลัง ความเคยชินอีกประการหนึ่ง คือ สังคมของเราให้คุณค่าความสัมพันธ์มาก มีลักษณะเป็น พวกพ้องนิยม คณานิยม – พรรคพวกเพื่อนพ้องมาก่อนเสมอ มีข้อกล่าวหาจากเพื่อนต่างชาติว่า มักจะนำเพื่อนฝูงมาเกี่ยวข้องกับธุรกิจเสมอ เช่น ในการจัดซื้อจัดจ้าง แทนที่จะเปิดโอกาสอย่างเป็นธรรม กลับแนะนำเพื่อนฝูงของตัวเองมาก่อน โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ที่องค์กรควรได้รับ และมักจะไม่เห็นแก่องค์กร เมื่อพวกเดียวกันทำผิด ก็จะปกป้องทั้งที่รู้ว่า ทำไม่ถูกต้อง องค์กรเสียหาย แต่จะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เพราะกลัวเสียความสัมพันธ์มากกว่ากลัวองค์กรเสียหาย เข้าทำนอง “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน”
ความเคยชินลักษณะนี้ไม่ได้รับการยอมรับในสากล เพราะคงไม่มีองค์กรใดพึงพอใจที่พนักงานไม่ปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างเหมาะสม แต่เห็นแก่ประโยชน์พวกพ้อง และการรักษาหน้าของตนเอง ดังนั้น หากเราต้องการทำงานในระดับสากล ความเคยชินแบบนี้คงต้องเปลี่ยน เราควรเห็นแก่ความถูกต้อง เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และให้ความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม
พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง คนไทยมีนิสัยค่อยข้างขี้อาย ไม่ค่อยกล้าแสดงออก ไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็น เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้บริหารชาวต่างชาติ ต่างก็ประสบเหมือนกัน เวลาประชุม มักเงียบ ฟัง ไม่ค่อยมีการแสดงความคิด ไม่ค่อยกล้าโต้แย้ง ไม่ถามเมื่อมีข้อสงสัย และเมื่อมีความคิดดี ๆ ก็เก็บเอาไว้ ไม่บอกกล่าวให้ชัดเจน นอกจากนี้ ในเวลาสั่งงาน พนักงานคนไทยชอบพยักหน้าแสดงว่าตนเองเข้าใจ และมักไม่ค่อยถาม จนทำให้การทำงานผิดไปจากคำสั่งที่ได้รับ อาจเป็นเพราะอายไม่กล้าพูดต่อหน้าสาธารณะ กลัวเสียหน้า กลัวว่าหากพูดอะไรผิด ๆ ไปคนอื่นจะหัวเราะเยาะ หรือเกรงว่า หากพูดไม่เห็นด้วยกับหัวหน้า (ผู้มีอำนาจ/ผู้อาวุโส) กลัวว่าคนเหล่านี้จะไม่พอใจ อาจทำให้ตัวเองหมดอนาคตได้ จึงคิดว่าอยู่เฉย ๆ ดีกว่า โดยยึดสุภาษิตที่ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง”
นอกจากนี้ เพื่อน ๆ ผู้บริหาร ทั้งคนไทยและต่างชาติ มักเห็นด้วยว่า คนไทยมีการแจ้งข่าวที่แปลกมาก คือ จะไม่กล้าบอกผู้บังคับบัญชา เมื่อเกิดปัญหาขึ้น พยายามแก้ไขกันเอง จนกระทั่งบานปลายไปเกินแก้ไขได้ จึงค่อยเข้ามาปรึกษา จะเลือกบอกแต่สิ่งที่คิดว่าเจ้านายจะชอบ เช่น บอกแต่ข่าวดี ๆ แทนที่จะเล่าไปตามความจริง ในองค์กรของผม เรื่องอะไรที่แย่ ๆ ผมจะรู้หลังสุดเสมอ!! อาจเป็นเพราะกลัวว่า หากพูดไปจะทำให้ผู้รับรู้สึกไม่ดี หรือ ไม่ก็เพราะกลัวตัวเองถูกตำหนิ
ใครที่เคยชินนิสัยแบบนี้ จำเป็นต้องเปลี่ยน เราต้องกล้าคิด กล้าพูด กล้าถาม กล้าพูดความจริง กล้ารับผิดรับชอบ เพราะองค์กรในอนาคตต้องการคนที่กล้าคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าแสดงทัศนะในฐานะปัจเจกที่มีอิสระทางความคิด ซึ่งจะช่วยแสดงศักยภาพของเราออกมาให้เป็นที่ประจักษ์มากกว่า
หากเราแก้ไขนิสัยความเคยชินเหล่านี้ และผสานกับแสดงเอกลักษณ์ประจำชาติในมุมบวก ไม่ว่าจะเป็น ความมีน้ำใจ ความยินดีช่วยเหลือผู้อื่น และความมีมนุษยสัมพันธ์ ยิ้มแย้มแจ่มใส ย่อมช่วยส่งเสริมให้คนทำงานไทย เป็นที่พึงพอใจไม่แพ้ชาติใด ๆ ในอาเซียนได้อย่างแน่นอน..
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
Tags:
Post date:
Friday, 19 December, 2014 - 11:51
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ค่าแรงขั้นต่ำ: ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการบริหารจัดการ
Total views: อ่าน 90 ครั้ง
การหมิ่นประมาท คือ ฆาตกรรมชื่อเสียง
Total views: อ่าน 60 ครั้ง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 185 ครั้ง
เกียรติระบบ : Honour System สังคมให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรติ
Total views: อ่าน 159 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 122 ครั้ง