เปลี่ยนคน "อวดเก่ง" เป็น "ทีมแกร่ง"
เมื่อคนเก่งมารวมตัวกัน อาจเป็น ?ทีมที่แย่ที่สุด?!!!
ข้อสรุปหนึ่งที่ผมได้รับจากประสบการณ์ทำงานเป็นทีม ในคณะทำงานที่ประกอบไปด้วย คนเก่ง คนมีความรู้ความสามารถ ผู้เชี่ยวชาญชำนาญการ ผู้มีตำแหน่งสูง ๆ มักจะขับเคลื่อนงานด้วยความยากลำบาก เพราะแต่ละท่านมักมีวาระของตน พยายามนำเสนอความคิดเห็นของตนเองให้ทุกคนยอมรับ แต่กลับไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ทำให้ไม่สามารถได้ข้อสรุปที่เป็นข้อตกลงของทุกคนในทีมได้
ปัญหาที่เกิดจากทีมงานที่มี ?อีโก้สูง? มีอยู่ทั่วไป เดวิด บรู๊กซ์ (David Brooks) คอลัมนิสต์นิวยอร์กไทมส์ กล่าวไว้ในรายการ Charlie Rose ว่า บางครั้งมีคนฉลาดมากเกินไป ก็กลายเป็นปัญหา เขาชี้ให้เห็นว่าความยากลำบากในการบริหารงานของรัฐบาลโอบามา สาเหตุเกิดจากทีมนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศที่ล้วนแต่มีคนเก่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาไม่ได้อยู่ที่สติปัญญาที่เฉลียวฉลาด แต่อยู่ที่คนเหล่านี้มักยึดติดในความคิดตนเอง พวกเขาปักใจเชื่อมั่นว่าความคิดของตนเองนั้น ?ดีกว่า? มีเหตุผลหนักแน่นกว่า ความคิดของเพื่อนร่วมงาน
เป็นความจริงที่ว่า ?ไม่มีใครสามารถเป็นผู้ชนะได้ บนความพ่ายแพ้ของทีม?
ดังนั้น หากต้องการเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการทำงาน ผู้นำทีมต้องมีศิลปะในการสลายอีโก้เป็น ?พลังทีม? ต้องไม่ใช้วิธีที่รุนแรง หรือจัดการแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ด้วยความเข้าใจในเบื้องต้นว่า คนที่ขับเคลื่อนด้วยอีโก้นั้น มักจะมีปัญหาความไม่มั่นคงในใจ เกิดความรู้สึกกลัวล้มเหลว กลัวไม่ได้รับการยอมรับ ชอบเป็นผู้ชนะ ชอบอยู่เหนือคนอื่น ฯลฯ ซึ่งบดบังศักยภาพหรือความเก่งกาจสามารถที่ดีในตัวเองลงไป
ในการดึงพลังเหล่านี้ออกมาใช้ประโยชน์ในการสร้างทีมให้แข็งแกร่ง ผู้นำทีมจำเป็นต้องจัดการโน้มน้าวความคิด โน้มน้าวใจ ที่ทำให้เขายินยอมพร้อมใจที่จะลดอีโก้ของตัวเองลง และประสานพลังในทีม อาทิ
แสดงการยอมรับและเห็นคุณค่าทุกคนในทีม ผู้นำทีมมีหน้าที่ในทำให้ทุกคนในทีมปลดปล่อยพลังในตนเองออกมา ประสานกันเพื่อสร้างพลังทวีคูณไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน ผู้นำทีมจึงต้องมองเห็นและเชื่อมั่นในส่วนดีของทุกคนในทีม แม้คน ๆ นั้นมีอีโก้สูง แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ย่อมต้องมีความเก่งกาจสามารถบางด้าน ดังนั้น จึงไม่ควรพุ่งเป้าไปที่การกำจัดจุดอ่อน แต่พุ่งเป้าไปที่การหาวิธีดึงจุดแข็งมาใช้ประโยชน์ต่อทีมให้ได้มากที่สุด การแสดงออกจึงต้องเป็นการยอมรับและเห็นคุณค่าของทุกคนในทีม ให้เกียรติทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม
สื่อสาร ?จูงใจ? ให้ ?เต็มใจ? ทำเพื่อทีม จำไว้ว่า อีโก้นั้นบอบบาง เจ็บปวดง่าย และพร้อมที่จะต่อสู้และเป็นศัตรูกับทุกคนที่คิดว่าจะเข้ามาทำร้ายตน ดังนั้น จึงต้องระวังตั้งแต่เริ่มต้น อย่าสร้างศัตรูโดยไม่จำเป็น ไมเคิล รูนนี่ (Michael Rooni) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารที่ดึงดูดใจให้คำแนะนำว่า ในการสื่อสารกับคนที่มีอีโก้สูงจะต้องใช้คำพูดสื่อสารที่ดึงดูดให้พวกเขา ?อยากฟัง? และ ?ทำตาม? ยกตัวอย่างเช่น
ใช้การขอร้องแทนการใช้คำสั่ง แสดงการให้เกียรติ ด้วยการใช้คำที่ฟังแล้วอยากให้ความร่วมมือ แทนการสั่งการด้วยอำนาจ เช่น ?ผมหวังว่า พวกเราทุกคนจะแสดงฝีมือในงานนี้ร่วมกันอย่างเต็มที่? ?งานนี้สำคัญอย่างยิ่ง ผมขอร้องให้พวกเราทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันทำให้สำเร็จ? แทนการสั่งว่า ?พวกคุณต้องทำให้เสร็จ ไม่งั้นคุณเสร็จแน่!!? หรือ ?ผมคิดว่า คงไม่มีใครดีแต่พูด แต่ไม่ทำจริงเหมือนที่ผ่าน ๆ มาหรอกนะ? คำพูดเช่นนี้ เท่ากับจุดไฟอีโก้ในตัวทีมงานให้ลุกโชนขึ้น จนอาจทำให้ทั้งงานนี้และงานต่อ ๆ ไปล้มเหลวไม่เป็นท่าเพราะนอกจากไม่ได้รับความร่วมมือแล้ว เรายังถูกบั่นทอนอำนาจด้วยวิธีต่าง ๆ ได้
สื่อสารในประเด็นที่ต้องการ ไม่โจมตีตัวบุคคล การที่เราไปต่อว่าพฤติกรรมที่ไม่ดีของเขาตรง ๆ อาจนำไปสู่การต่อต้าน ทำให้เกิดการวางตัวเป็นศัตรูอย่างเต็มรูปแบบ ต่อไปไม่ว่าเราจะทำอะไร เขาจะต่อต้าน ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่เห็นด้วย โดยไม่สนใจว่าสิ่งที่หัวหน้าคิดหรือทำนั้นดีหรือมีประโยชน์ต่อองค์กรเพียงใด ดังนั้น จึงต้องระมัดระวัง อย่าบอกว่าพวกเขาคิดผิด คิดไม่เป็น คิดตื้นเขิน อย่าแสดงอาการดูถูกเหยียดหยาม ทำเป็นไม่สนใจ หรือกดดันให้ทีมงานยอมรับในความคิดที่ผิด ๆ ของพวกเขา เพราะหากเราทำเช่นนั้นจะทำให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรง จากการ ?เสียหน้า? ได้ ในทางที่ดีกว่า แทนที่จะโต้แย้งว่าใครคิดผิด อย่างไร ให้สื่อสารด้วยการนำเสนอเหตุผล ข้อเท็จจริง และมุมมองใหม่ ๆ เพื่อดึงให้ทุกคนออกจากที่เดิม และหันมามองความเป็นไปได้ร่วมกัน ทำให้อีโก้ของทุกคนไม่ถูกทำให้ขุ่นเคือง ซึ่งจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ยอมรับร่วมกันได้
คำพูดที่สุภาพอ่อนน้อม ให้เกียรติ ยอมรับ เห็นคุณค่าและส่วนดีของทุกคน จะช่วยให้คนที่มี ?อีโก้สูง? ยอมรับในตัวเรา และเรียนรู้ที่จะยอมรับคนอื่น ๆ ในทีม ยินดีให้ความร่วมมือไปสู่เป้าหมายร่วมกันต่อไป
ที่มา: งานวันนี้
ปีที่ 17 ฉบับที่ 730 วันที่ 24-31 มีนาคม 2558
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
แหล่งที่มาของภาพ : http://philmckinney.com/wp/wp-content/uploads/2012/05/iStock_000008002627Large.jpg
Catagories:
Tags:
Post date:
Tuesday, 24 March, 2015 - 11:38
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
แนะอธิษฐาน/สวดมนต์ได้ประโยชน์สัมพันธ์ 4 ระบอบชีวิต
Total views: อ่าน 66 ครั้ง
'ความเคยชิน' ที่ต้องจัดการ
Total views: อ่าน 3,942 ครั้ง
'อดีต' ไม่รับประกัน 'อนาคต'
Total views: อ่าน 3,008 ครั้ง
กล้า "รับ" คุ้มกว่า กล้า "หลบ"
Total views: อ่าน 7,246 ครั้ง
ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน
Total views: อ่าน 1,498 ครั้ง